ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

จะบรรเทาบาปจากการพูดจาหยาบคายกับพ่อแม่ได้อย่างไร



ถาม – ดิฉันเคยพูดกับพ่อแม่ด้วยคำหยาบคาย ทำอย่างไรจะทำให้กรรมนี้เบาบางลงได้คะ


เป็นคำถามสำคัญมากนะ เพราะว่าหลายคนก็เคยมีประสบการณ์แย่ๆ แบบนี้มาก่อน
มันต้องหลุดบ้าง มันต้องอะไรบ้าง ลิ้นกับฟันนะครับกระทบกันเป็นธรรมดา
เดี๋ยวผมเอาคำถามข้อนี้ก่อนเลยนะ
ขอตอบคำถามข้อนี้ก่อนที่จะไปคำถามข้อต่อไปนะ
เอาเรื่องความรู้สึกก่อนใช่ไหม นี่คือคำถามข้อแรกใช่ไหม








ถาม – ใช่ค่ะ แล้วไม่ได้ทำแค่ครั้งเดียว ทำมาโดยตลอดค่ะ


แล้วมันมารู้สึกแย่กับตัวเองทีหลังนะว่าที่เราทำๆ ไป
สุดท้ายแล้วมันย้อนกลับมาทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง
อันนี้คือตัวคำถามนะว่าทำอย่างไรเราจะรู้สึกดีขึ้น








ถาม – ตอนนี้รู้สึกกลัวบาปมาก อยากทราบว่าเราจะขอขมาต่อพ่อแม่
หรือทำอย่างไรให้กรรมเบาบางลงได้คะ



ตอบคำถามข้อแรกก่อนนะ
พระพุทธเจ้าตรัสไว้เวลาที่เราไม่สบายใจกับการที่มาทบทวนดูแล้ว
ชีวิตเคยทำบาปไป พลาดพลั้งอะไรไปก็ตาม
ท่านตรัสว่าถ้ายังไม่ตายก็ยังไม่สาย มันมีโอกาสมันมีเวลาที่จะแก้ไข
และความรู้สึกไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกแย่กับตัวเอง
หรือว่าความรู้สึกกลัวบาปกลัวกรรมก็ตาม จะเป็นความรู้สึกด้านลบชนิดใดก็ตาม
ให้มองไว้ ตั้งเอาไว้เป็นตัวตั้งเลย มองเป็นภาพรวมไว้ก่อน เอาให้ได้นะ
อย่างนี้นะ มองให้ได้ตามนี้ว่าบาปหรือความรู้สึกไม่ดีที่เกิดขึ้นไปแล้ว
แล้วยังไม่ล่วงผ่านไป มันยังค้างคาอยู่ในใจเรา ให้มองเหมือนกับก้อนเกลือ
เป็นการอุปมาอุปไมยที่ชัดเจนมากนะ ก้อนเกลือนี่มันเค็ม
แล้วเราก็จะมีความรู้สึกว่าเวลาเราลิ้มรสความเค็มจัดๆ
มันจะรู้สึกว่า มันจี๊ด มันมีความรู้สึกว่าเหลือจะฝืน



ทีนี้ก้อนเกลือเค็มๆ นั้น ถ้าหากว่าเรามองว่าเราใส่ลงไปในถ้วย
แล้วเราเติมน้ำลงไปแค่นิดเดียวมันก็จะยังเค็มอยู่
กินเข้าไป ความเค็มเท่าเดิมเลยกับที่เรากัดก้อนเกลือเปล่าๆ
แต่ถ้าหากว่าเราเติมน้ำเข้าไปเป็นขวด คราวนี้รสเค็มมันก็จะเจือจางลง
และยิ่งถ้าหากว่าเราเติมน้ำลงไปมีปริมาณเท่าโอ่ง
ก้อนเกลือเท่าเดิมมันยังอยู่ ไม่ไปไหนนะ
แต่ว่าความเค็มเหมือนจะหายไปแล้ว เหมือนจะละลายไปแล้ว
ยิ่งถ้าหากว่าเราเติมน้ำเข้าไปเท่าสระใหญ่ ไม่ต้องพูดถึงรสเค็ม

ถึงแม้ว่าก้อนเกลือยังอยู่แต่รสเค็มมันไปไหนแล้วก็ไม่รู้ มันจะไม่เหลือเลย
อันนี้คือวิธีที่พระพุทธเจ้าให้มองแบบอุปมาอุปไมย
เปรียบเทียบได้กับสิ่งที่เราทำผิดไปแล้ว ต่อให้เรารู้สึกว่าทำผิดไปแค่ไหนก็ตาม
มันยังมีโอกาสในชีวิตที่เหลือที่เราจะทำในสิ่งที่เป็นตรงกันข้าม



อย่างทำกับพ่อแม่นี่ทำให้ท่านมีความทุกข์ประมาณไหน หรือว่าด่าท่านรุนแรงเพียงใด
มองเป็นเกลือก้อนหนึ่ง แล้วเราตั้งใจไว้ว่าในเวลาที่เหลือของชีวิต
เราจะพูดให้ดีขึ้น หรือว่าทำให้ท่านมีความสุข
เป็นตรงกันข้ามกับที่เคยทำให้ท่านเป็นทุกข์
แล้วมองไปเรื่อยๆ มองแบบเปรียบเทียบนะ
ทำไว้ในใจว่าบาปกรรมหรือว่าให้ความรู้สึกแย่ๆ ที่เราเคยก่อไว้
แล้วมันยังค้างคาอยู่ มันยังเป็นก้อนเกลือที่มีความเค็มอยู่แค่ไหน
ถ้ายังมีความเค็มอยู่ ความรู้สึกผิดมันจะยังไม่ไปไหน
แต่ถ้าหากว่าความรู้สึกในใจ มันค่อยๆแปรไปเป็นดีขึ้น
จากการตั้งจิตไว้ในทิศทางนี้ว่าเราจะเติมน้ำเข้าไปในใจของพ่อแม่
เราจะเติมน้ำเข้ามาชะล้างความรู้สึกที่มันสกปรก
ที่มันไม่ดี ที่มันแย่ของตัวเอง ให้ค่อยๆ ละลายหายไป
ถ้าหากว่าความดีที่เราทำอยู่ในทิศทางที่จะเป็นน้ำชำระความสกปรก
หรือว่าเป็นน้ำสะอาดชำระบาป
ความรู้สึกที่มันใส ความรู้สึกที่มันสะอาด ความรู้สึกที่มันดีขึ้นกับตัวเอง
จะส่งสัญญาณบอกในรูปของความสุข ในรูปของความรู้สึกดีกับตัวเอง
ในรูปของความรู้สึกว่าที่เราทำมามันถูกทางแล้ว



อย่างแต่ก่อนเราพูดคำไหนที่ทำให้มันตกค้างอยู่ในใจ
ว่าเป็นความรู้สึกแย่ๆ เป็นความรู้สึกที่มีความสกปรกมีมลทินติดใจอยู่
ให้พูดคำที่เป็นตรงกันข้าม จากเดิมถ้าหากว่าเราพูดคำหยาบคาย
เราลองพูดให้มีคำสุภาพ ไพเราะ

ไม่ต้องแกล้งนะ คือแบบไม่ต้องแบบลิเกแต่ว่าเอาธรรมดาๆ
ในแบบที่เรารู้สึกเลยว่าพูดนุ่มนวลแบบนี้ ใช้คำแบบนี้
ใช้สีหน้าสีตาแบบนี้ แล้วทำให้พ่อแม่รู้สึกมีความสุข

นี่คือคำถามข้อแรกนะครับ








ถาม – ดิฉันไม่ได้พูดหยาบคายกับท่านตลอดนะคะ แต่เป็นเฉพาะตอนที่โมโหและอดกลั้นไม่ได้
คือถ้าจะให้พูดดีๆ ในตอนที่โมโห ดิฉันยังทำไม่ได้ค่ะ



ตรงนี้คือเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่ามันต้องฝึก
คำว่าฝึกที่เราบอกว่าทำไม่ได้ มันยากเย็น มันเป็นไปไม่ได้นี่แหละ
คือสิ่งที่มันจะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ชัดเจนที่สุด
คืออะไรที่เราเคยตั้งไว้ในใจว่ามันเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้
เราไม่สามารถต่อสู้กับความโมโหโกรธาของตัวเองได้
ถ้าหากว่าเราตั้งไว้ในใจว่านี่แหละที่เราจะใช้แก้ไขสิ่งที่มันเคยเป็นก้อนเกลือ เป็นรสเค็ม
เราจะเติมน้ำตาลเข้าไป เติมความหวานเข้าไป
แล้วการเติมเข้าไป การเปลี่ยนนี่
แน่นอนว่าจะต้องถูกปฏิเสธจากตัวเดิม
มันจะต้องถูกต่อต้านจากอัตตามานะหรือว่าทิฐิแบบเก่าๆ ที่เราเคยชินมา



แต่ว่าถ้าเราตั้งไว้ในใจว่าอันนี้ที่เราจะทำให้ความรู้สึกของตัวเราดีขึ้น
เหมือนมองออก มองเป็นเกม เกมล้างความเค็มของเกลือ
ด้วยความหวาน ความสะอาด ความจืดของน้ำใหม่ที่มันจะเข้ามาแทนที่
ถ้าเรามองอย่างนี้มันจะมีกำลังใจ มันจะมีแก่ใจที่จะสู้
ถ้าเราอยู่กับความรู้สึกว่าเราสู้มันไม่ได้
เราก็จะอยู่กับความรู้สึกแย่อย่างที่เคยเป็นมาไปเรื่อยๆ
อันนี้คือประเด็น อันนี้คือพอยต์ (
point) ที่พระพุทธเจ้าท่านถึงได้ตรัสเปรียบเทียบ
ระหว่างความเค็มของเกลือกับความจืดของน้ำสะอาด
ถ้ามันไม่มีน้ำใหม่ ถ้ามันไม่มีใจใหม่ที่ตั้งต้นจะต่อสู้กับความเค็มแบบเดิม
ในที่สุดเราก็จะรู้สึกว่าแพ้อยู่ร่ำไป
แต่ถ้าเราตั้งเป้าไว้ว่าจะต่อสู้แล้วเอาชนะตัวเก่าด้วยตัวใหม่ให้ได้
ตรงนี้แหละที่อัตตามานะมันจะค่อยๆ ถูกกัดกร่อนหรือว่าถูกเจือจางลงไปนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP