สารส่องใจ Enlightenment

ส่งเสริมบุญญาบารมี (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒




ส่งเสริมบุญญาบารมี (ตอนที่ ๑) (คลิก)



การบำเพ็ญจิต นี่เป็นสิ่งที่ยากกว่าการบำเพ็ญสิ่งทั้งหลายอยู่เป็นธรรมดา
การให้ทานก็เป็นบุญเป็นกุศลเครื่องสนับสนุนจิตใจของเราให้หลุดพ้นจากทุกข์
การรักษาศีลก็เป็นคุณงามความดีเป็นบุญเป็นกุศล
ที่สนับสนุนจิตใจของเราให้หลุดพ้นจากทุกข์
แต่ทั้งสองประเภทนี้ คำว่าทาน เป็นความกว้างขวางมาก
ทานมาก ทานน้อย ทานอะไรก็ตาม ทานมากี่กัปกี่กัลป์
รักษาศีลมากี่กัปกี่กัลป์ก็ตามจนเราเองก็นับไม่ได้
บุญทั้งหลายนั้นก็มารวมลงที่จิตตภาวนา
ซึ่งเหมือนกับทำนบใหญ่เป็นที่ไหลรวมแห่งแม่น้ำ
ทำนบนั้นเป็นที่บรรจุไว้ซึ่งน้ำทั้งหลาย
จิตตภาวนาก็ย่อมเป็นที่ไหลรวมแห่งคุณงามความดีทั้งหลาย
ทานบารมี ศีลบารมี ตลอดกุศลที่สร้างบำเพ็ญด้วยอาการอื่นๆ
ย่อมรวมลงมาที่จิตตภาวนาแห่งเดียว ให้เจ้าของผู้บำเพ็ญได้ชมประจักษ์ใจ



จิตเป็นผู้ทำการให้ทาน รักษาศีลภาวนา
มากน้อยมาแต่กัปใดกัลป์ใดไม่สูญหายไปไหน
ติดแนบอยู่ที่จิตไม่ลบเลือนจืดจาง
เป็นแต่เพียงจิตจำไม่ได้ในการกระทำของตนเท่านั้น
ส่วนเหตุดีที่ได้ทำแล้วอย่างใด
และผลแห่งการทำดีได้ทำไว้มากน้อยเพียงไร ย่อมรวมอยู่ที่จิต
เพราะจิตเป็นตัวเหตุคือผู้ทำ จิตเป็นที่รวมเหตุรวมผลทั้งมวล
และนำจิตไปเกิดในสถานที่ดี คติที่เป็น สุคโต
มีความสุขความเจริญเพราะอำนาจแห่งบุญ
นักปราชญ์ทั้งหลายจึงชมเชยสรรเสริญท่านผู้ใจบุญสุนทาน
วาระสุดท้ายก็รวมลงที่จิตตภาวนา ซึ่งเป็นที่รวมแห่งบุญแห่งกุศลทั้งหลาย
พอจิตเจริญไปโดยลำดับแล้ว จะได้เห็นคุณงามความดีทั้งหลายที่สร้างไว้
มารวมตัวอยู่ในที่จิตตภาวนา ซึ่งเป็นทำนบแห่งบุญทั้งหลาย



แต่การภาวนารู้สึกจะลำบากบ้าง
อย่างไรก็ตามเราให้ถือพระพุทธเจ้าเป็น ทิฏฐานุคติ
สมกับที่เราเปล่งวาจาและจิตใจถึงท่านว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะพึ่งเป็นพึ่งตาย
ตลอดวิธีการดำเนินของท่าน เราก็นำมาเป็นแบบฉบับดำเนินตาม
แม้จะไม่ได้ตรงตามท่านทุกกระเบียด
แต่ก็อยู่ในเกณฑ์แห่งความเป็นศิษย์ที่มีครู
พระองค์มีความลำบากยากเย็นเพียงไร
แม้จะทรงมีวาสนาบารมีเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว ก็ยังต้องลำบากถึงขั้นสลบไสล
คิดดูแม้ท่านได้รับความลำบากลำบน
ท่านยังฝ่าฝืนและต่อสู้จนสำเร็จลุล่วงไปได้ดังพระทัยหมาย
แล้วมาเป็นศาสดาของพวกเรา



ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ล้วนเอากายเอาใจรองรับทุกข์จากความเพียร เพื่อความดีมาแล้ว
สาวกทั้งหลายที่เป็น สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ของพวกเรา
ถ้าพิจารณาตามตำรับตำรา ประวัติของท่านแต่ละองค์ๆ นั้นไม่ย่อยเลย
บางองค์ฝ่าเท้าแตกเพราะประกอบความเพียรมาก
บางองค์จักษุแตกเพราะความเพียรมากไม่ยอมหลับนอน
เช่น พระจักขุบาลเป็นต้น นี่ยกมาเป็นตัวอย่างเพียงย่อๆ
บางองค์ก็พอปลงผมลงไปมีดโกนจรดลงบนศีรษะเท่านั้น
พิจารณา อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แล้วบรรลุธรรมในขณะนั้นเลยก็มี
นี่เรียกว่า สุขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ทั้งปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว
การปฏิบัติคือการพิจารณาของท่านในขณะที่กำลังปลงผม
นั้นเรียกว่าการปฏิบัติ คือพิจารณาแล้วได้บรรลุธรรมในขณะนั้น
นี้เรียกว่า สุขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว
ส่วนมากไม่ค่อยมีอย่างนี้
มักมีแต่ความลำบากลำบนทนทุกข์ทรมานมากก่อนจะได้บรรลุธรรม



แม้ท่านผู้ได้บรรลุธรรมอย่างง่ายดายและรวดเร็ว
ก็พึงทราบว่าท่านเคยบุกดงหนาป่าทึบแห่งกิเลสมาแล้วในชาติปางก่อน
มาชาติปัจจุบันท่านจึงผ่านไปได้ง่าย
พวกเรายังไม่ได้ผ่านดงหนาและทุกข์มากมาก่อน
ก็ย่อมจะเจอความทุกข์ลำบากกันบ้าง ควรทนเอา
เพราะกิเลสไม่เคยไว้หน้าผู้ใด ไม่เคยให้ผู้ใดมีความสุข เนื่องจากกิเลสเป็นข้าศึกต่อธรรม
ความใคร่ธรรมมีมากเพียงไร จึงเท่ากับการต่อสู้กับกิเลสที่ขัดแย้งต่อธรรมมากเพียงนั้น
ดังนั้นผู้ปฏิบัติทั้งหลาย จึงต้องได้รับความลำบากลำบนในการบำเพ็ญความดีเป็นธรรมดา
แต่ผลเป็นที่พอใจและเป็นเลิศ เนื่องจากเหตุเราทุ่มเทลงเต็มความสามารถ



เมื่อสักครู่นี้เราได้พูดกันถึงเรื่องการนั่งภาวนา ทำอย่างไรถึงจะนั่งได้นาน
อันนี้มีอยู่หลายแง่ที่ควรจะแยกออกพูดเป็นตอนๆ ไป
ผู้เริ่มฝึกหัดใหม่ก็พยายามฝึกหัดไปเรื่อยๆ
เมื่อความเคยชินค่อยมีขึ้นเกิดขึ้นแล้ว
การนั่งนานก็จะเริ่มเป็นไปและนั่งได้นานเข้าเป็นลำดับ



ประการที่สอง จิตใจเวลาฝึกหัดภาวนามีความสงบเย็น
จนถึงกับรวมอย่างสนิทและจิตมีความสุขเพลิดเพลินในเวลาสงบ
นั้นก็นั่งได้เป็นเวลานาน จิตไม่ถอนออกมาจากความสงบเมื่อไร
กาลสถานที่เวล่ำเวลาความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าก็ไม่เข้ารบกวนจิตใจ
เพราะใจไม่ออกมารับสิ่งเหล่านี้ซึ่งมีอยู่ภายในร่างกาย



ประการที่สาม การต่อสู้ในขณะที่ควรต่อสู้
เช่น ทุกขเวทนากล้าสาหัสขณะที่นั่งนานนี้ ต้องเป็นผู้มีใจเด็ดขาดสำคัญ
จะเป็นเพียงรายๆ เท่านั้นไม่ทั่วไป เรียกว่าเป็นกรณีพิเศษนี่ผมได้เคยปฏิบัติมาแล้ว
ไม่สงสัยในวิธีการแขนงที่สามนี้ คือนั่งต่อสู้กับทุกขเวทนา พิจารณาด้วยสติปัญญา
เพราะทุกข์นี้เป็นสัจธรรม ท่านกล่าวไว้ในตำราว่า
ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ทุกข์เป็นของจริงประเภทหนึ่ง
สมุทัย อริยสจฺจํ สมุทัยคือกิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่างๆ เป็นความจริงประเภทหนึ่ง
มคฺค อริยสจฺจํ
ข้อปฏิบัติมีสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรเป็นต้น
ซึ่งเป็นเครื่องแก้กิเลสหรือปราบปรามกิเลสก็เป็นความจริงอันหนึ่ง
นิโรธ ความดับทุกข์ทั้งมวลภายในจิตใจก็เป็นสัจธรรมของจริงอันหนึ่ง



เมื่อทุกข์เกิดขึ้นภายในร่างกายเรามากๆ เพราะการนั่งนาน
เจ็บนั้นปวดนี้แล้วเจ็บปวดขึ้นโดยลำดับ
หนักเข้าก็เหมือนร่างกายนี้จะแตกกระจายออกจากกันในขณะนั้น
นั่นแหละเป็นขณะที่จะต้องต่อสู้กันให้เต็มที่เต็มฐาน
ถึงขั้นเอาเป็นเอาตายเข้าแลกกัน
สติปัญญามีเท่าไรทุ่มเทกันลงที่นั่น ไม่นึกไม่อยากให้ทุกข์หาย
ความนึกความอยากให้ทุกข์หายเป็นการส่งเสริมกิเลสสมุทัยให้ทุกข์รุนแรงมากขึ้น
หายหรือไม่หายก็ตาม แต่พิจารณาทุกขเวทนานี้
ให้เห็นเป็นความจริงดังพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้
จะพิจารณาสมุทัยอันเป็นกิเลสตัณหานี้
ให้เห็นตามความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ด้วยมรรค คือสติปัญญา เป็นต้น
แล้วขุดค้นกันลงที่ร่างกายและจิตใจ
ไม่ยอมให้สติปัญญาพรากจากร่างกายและทุกขเวทนานั้นไปที่ไหนเป็นอันขาด



ขุดค้นเทียบเคียงกันทุกสัดทุกส่วนแห่งร่างกายส่วนต่างๆ
เช่น ร่างกายเราทุกส่วนเป็นตัวทุกข์จริงๆ แล้ว
เวลาคนตายแล้วร่างกายนี้ยังมีอยู่ เอาไปเผาไฟก็ดี ฝังดินก็ดี
เขาบ่นว่าอะไร เขาบ่นว่าเขาเป็นสุขเป็นทุกข์ไหม เขาไม่ได้บ่น
เวลายังมีชีวิตอยู่นี้ทำไมจึงต้องว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์
ถ้าว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์และทุกข์เป็นสิ่งเหล่านี้จริง
เวลาทุกข์ดับไปทำไมสิ่งเหล่านี้จึงไม่ดับไปด้วย
คือร่างกายส่วนต่างๆ ทำไมไม่ดับไปด้วย ถ้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจริงๆ
แยกแยะค้นตลบทบทวนไม่รู้กี่ครั้งกี่หน



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา https://bit.ly/368fw9m


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP