จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

กัลยาณมิตร


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


330 destination




ในช่วงเดือนมีนาคม ๒๕๖๕ นี้ก็ยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19
โดยเมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ฟังเรื่องของญาติธรรมท่านหนึ่งที่ติดเชื้อไวรัส Covid-19
ซึ่งก่อนหน้านั้น ญาติธรรมท่านนี้ก็พยายามรักษาระยะห่างอยู่พอสมควร
แต่มีข้อเสียว่า ในเวลาทานอาหารเที่ยงในที่ทำงานนั้น
ตนเองและเพื่อน ๆ ที่ทำงานกลับไปนั่งรวมกลุ่มกัน และทานข้าวร่วมกัน
ซึ่งเป็นช่องทางที่จะแพร่เชื้อให้แก่กัน หรือทำให้เกิดคลัสเตอร์โดยง่าย
เมื่อญาติธรรมท่านนี้ทราบว่าตนเองติดเชื้อไวรัส Covid-19 แล้ว
ก็ได้แจ้งให้ที่ทำงาน และเพื่อน ๆ ที่ทำงานได้ทราบ
หลังจากนั้น ญาติธรรมท่านนี้ก็ถูกเพื่อนที่ทำงานบางคนคนทำร้ายจิตใจหนักมาก
เพื่อนบางคนทราบทางโทรศัพท์แล้ว ก็ด่าคำหยาบออกมาแล้วก็วางสายโทรศัพท์ทันที
เพื่อนบางคนก็เปลี่ยนพฤติกรรม โดยทำเป็นรังเกียจต่อญาติธรรมท่านนี้
ญาติธรรมท่านนี้ก็เสียใจมากว่าทำไมเพื่อน ๆ ถึงทำเช่นนี้กับตนเอง


ในเรื่องนี้ เราก็ย่อมจะเข้าใจเพื่อน ๆ ของญาติธรรมท่านนี้ได้นะครับว่า
พวกเขาย่อมจะวิตกจริตเช่นกันว่า พวกเขาจะติดเชื้อไวรัส Covid-19 หรือไม่
และถ้าเกิดติดเชื้อไวรัส Covid-19 แล้วจะกลายเป็นนำเชื้อไปติดคนที่บ้านด้วยหรือไม่
โดยหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะส่งผลกระทบทำให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายมาก
แต่หากเพื่อน ๆ ของญาติธรรมท่านนี้ จะรู้สึกวิตกกังวลเช่นนั้นแล้ว
สิ่งที่เพื่อน ๆ ของญาติธรรมท่านนี้ควรจะทำ ย่อมไม่ใช่การไปด่าว่าญาติธรรมท่านนี้
แต่ควรจะเป็นการระมัดระวังตนเอง และช่วยกันรักษาระยะห่างให้ดีตั้งแต่แรก
ซึ่งหากทุกคนแนะนำกัน ตักเตือนกัน และช่วยกันรักษาระยะห่างให้ดีตั้งแต่แรกแล้ว
แม้ว่าจะมีคนใดคนหนึ่งในที่ทำงานติดเชื้อไวรัส Covid-19 ก็ตาม
ก็ย่อมจะลดความเสี่ยงในการที่จะแพร่ระบาดไปยังคนอื่น ๆ ในที่ทำงานได้
สิ่งที่ไม่ควรทำคือ ไม่ช่วยกันรักษาระยะห่าง แต่กลับนั่งกินข้าวและคุยสนุกสนานร่วมกัน
หลังจากนั้นพอมีคนติดเชื้อแล้ว ก็มาด่าว่ากัน หรือโกรธกันเอง ซึ่งไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย


ในส่วนของญาติธรรมท่านนั้น ก็พึงมีความเข้าใจในคำว่า “เพื่อน” ครับ
โดยคำว่า “เพื่อน” นั้น ก็ย่อมมีทั้งเพื่อนดี และเพื่อนไม่ดี
ในพระธรรมคำสอนนั้น คำว่า เพื่อนดี เรียกว่า “กัลยาณมิตร”
ซึ่งใน “สขสูตรที่ ๑” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า เธอทั้งหลายพึงคบมิตรผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการ
๗ ประการเป็นไฉน คือ มิตรผู้ให้ของที่ให้ได้ยาก ๑ รับทำกิจที่ทำได้ยาก ๑
อดทนถ้อยคำที่อดใจได้ยาก ๑ บอกความลับของตนแก่เพื่อน ๑
ปิดความลับของเพื่อน ๑ ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ ๑ เมื่อเพื่อนสิ้นโภคสมบัติก็ไม่ดูหมิ่น ๑
https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=23&item=33&items=1&preline=0&pagebreak=0


ใน “สขสูตรที่ ๒” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการควรเสพ
ควรคบเป็นมิตร ควรเข้าไปนั่งใกล้ แม้ถูกขับไล่
ธรรม ๗ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุเป็นที่รักใคร่พอใจ ๑
เป็นที่เคารพ ๑ เป็นผู้ควรสรรเสริญ ๑ เป็นผู้ฉลาดพูด ๑ เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ ๑
พูดถ้อยคำลึกซึ้ง ๑ ไม่ชักนำในทางที่ไม่ดี ๑
https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=23&item=34&items=1&preline=0&pagebreak=0


ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบาย
คำว่า “กัลยาณมิตรธรรม ๗” หมายถึง องค์คุณของกัลยาณมิตร,
คุณสมบัติของมิตรดีหรือมิตรแท้ คือท่านที่คบหรือเข้าหาแล้ว
จะเป็นเหตุให้เกิดความดีงามและความเจริญ
(โดยในที่นี้มุ่งเอามิตรประเภทครูหรือพี่เลี้ยงเป็นสำคัญ) ได้แก่
๑. ปิโย คือ น่ารัก ในฐานเป็นที่สบายใจและสนิทสนม ชวนให้อยากเข้าไปปรึกษา ไต่ถาม
๒. ครุ คือ น่าเคารพ ในฐานประพฤติสมควรแก่ฐานะ ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ
เป็นที่พึ่งใจ และปลอดภัย
๓. ภาวนีโย คือ น่าเจริญใจ หรือน่ายกย่อง ในฐานทรงคุณคือความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง
ทั้งเป็นผู้ฝึกอบรมและปรับปรุงตนอยู่เสมอ ควรเอาอย่าง ทำให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ
๔. วตฺตา จ คือ รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร
คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี
๕. วจนกฺขโม คือ อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถามคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์
อดทน ฟังได้ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว
๖. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา คือ แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อน
ให้เข้าใจ และให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป
๗. โน จฏฺฐาเน นิโยชเย คือ ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล
หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย
https://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%A1%D1%C5%C2%D2%B3%C1%D4%B5%C3%B8%C3%C3%C1


ดังนี้ เราก็จะเห็นได้ว่าเพื่อนที่ละทิ้งเพื่อนในยามที่ประสบปัญหา
และชักนำไปในทางที่ไม่ดี (กล่าวคือนั่งรวมกลุ่มกินข้าวร่วมกัน โดยไม่รักษาระยะห่าง) แล้ว
ก็ไม่ควรถือว่าเป็นกัลยาณมิตร หรือเพื่อนที่ดี เราก็ไม่ควรต้องไปคาดหวังอะไรมาก
และก็ไม่ต้องไปเสียใจอันเป็นการทำร้ายจิตใจตนเอง โดยไม่มีประโยชน์ครับ


การที่ได้เพื่อนดีหรือได้กัลยาณมิตรนี้ ในเส้นทางของการปฏิบัติธรรมถือเป็นสิ่งจำเป็นมาก
ใน “กัลยาณมิตตสูตรที่ ๑” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สุริยเปยยาลที่ ๖)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้นสิ่งที่ขึ้นก่อน
สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง
สิ่งที่เป็นเบื้องต้นเป็นนิมิตมาก่อนเพื่อความบังเกิดแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ
คือ ความเป็นผู้มีมิตรดี ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มีมิตรดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า
จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘
https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=19&A=679&w=%A1%D1%C5%C2%D2%B3%C1%D4%B5%C3


ใน “กัลยาณมิตตสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เอกธัมมเปยยาลที่ ๗)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันหนึ่งมีอุปการะมาก
เพื่อความเกิดขึ้นแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ธรรมอันหนึ่งเป็นไฉน?
คือ ความเป็นผู้มีมิตรดี ภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มีมิตรดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า
จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘.
https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=19&A=795&w=%A1%D1%C5%C2%D2%B3%C1%D4%B5%C3


ใน “กัลยาณมิตตสูตรที่ ๑” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค นาหันตเอกธัมมเปยยาลที่ ๘)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า ภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่เล็งเห็นธรรมอันอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง
ซึ่งจะเป็นเหตุให้อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น
หรือที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เหมือนความเป็นผู้มีมิตรดีเลย
ภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มีมิตรดีพึงหวังข้อนี้ได้ว่า
จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘
https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=19&A=905&w=%A1%D1%C5%C2%D2%B3%C1%D4%B5%C3


ใน “อุปัฑฒสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) นั้น
ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นกึ่งหนึ่งแห่งพรหมจรรย์เทียวนะ พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น ก็ความเป็นผู้มีมิตรดี
มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว
อานนท์ อันภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า
จักเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=26&Z=51&pagebreak=0



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP