จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๓๓๐ โกหกสีขาว



330 talk



‘โกหกสีขาว’
ด้วยเจตนาให้สบายใจ
ไม่บาป เพราะไม่มีเจตนาเบียดเบียนใคร
แต่วิธีช่วยให้เขาสบายใจ
ถ้าไม่สะอาด บุญนั้นก็มีมลทิน


การเปลี่ยนความจริงให้เป็นอื่น
อย่างไรก็ต้องมีเจตนาบิดความเข้าใจของผู้ฟัง
ให้เห็นเป็นอื่นจากความจริง
เป็นเหตุให้จิตของเรา
ต้องงัดข้อกับความจริง
ผิดไปจากสภาพปกติ
เป็นบุญที่เจืออยู่ด้วยมุสาวาทธรรม


รู้สึกได้ด้วยใจตัวเองว่า
ไม่ผุดผ่องเต็มรอบ
แม้ปีติที่ได้ช่วย หรือช่วยได้
ก็เป็นปีติที่พร่อง
เพราะเจือความกังวลว่า
ภายหน้าเขาจะรู้ความจริงไหม
รู้แล้วจะยิ่งรู้สึกแย่หนัก
เหมือนเด็กถูกหลอกหรือเปล่า


อย่างเช่น กรณีของผู้ป่วยหนัก
หลายกรณี ผู้ป่วยยอมรับสภาพไม่ได้
ก็น่าจะชวนคุยเรื่องน่าสบายใจอื่นๆ
ที่หลีกจากความเจ็บป่วย
ถ้าปลอบใจว่าเดี๋ยวก็หาย
แต่เขารู้สึกอยู่ชัดๆว่าเดี๋ยวก็ตาย
บางทีเป็นการให้ความหวัง
แบบสดชื่นเดี๋ยวเดียว
แต่ห่อเหี่ยวนานๆได้เหมือนกัน
มีแง่ให้ต้องพิจารณาหลายๆชั้น


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


ความกลัว
หรือการไม่กล้าพูดความจริง
มักทำให้สมองไม่ทำงาน
ราวกับมีความมืดทึบมาล็อก มาเกาะกุมหัวไว้
สักแต่อยากผ่านๆพ้นไป
ด้วยคำอะไรก็ได้ที่คิดว่าคนฟังอยากฟัง
และเมื่อติดนิสัยพูดพอให้ผ่านๆ
หัวคิดก็จะติดล็อก
ยากที่จะคิดอะไรฉลาดๆ
เพื่อให้ความจริงปรากฏแบบไม่ต้องบิดเบือน


ความจริง
ชนิดที่ต้องอาศัยความกล้าพูดนั้น
ควรใจเย็น เห็นเป็นแบบฝึกหัด
และหวังผลล่วงหน้าว่า
ถ้าผ่านด่านหินได้หลายๆครั้ง
ก็จะเป็นผู้หนักแน่น
ได้ทำบารมีในการพูดแบบผู้ใหญ่
และรู้จักคิดสร้างเรื่องดีโดยไม่มีมลทินติดตัว


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


เช่นที่ถ้ารู้ว่าคนป่วยไม่ชอบคำว่า ‘ตาย’
เกลียดกลัวคำว่า ‘มะเร็ง’
เราก็ตัดคำเทือกนั้นทิ้ง


แล้วก็ดูใจตัวเอง ดูในหัวของตัวเองว่า
มันผุด ‘คำมักง่าย’ แบบไหนขึ้นมาบ้าง
เป็นต้นว่า "หมอบอกเดี๋ยวก็ดีขึ้น"
หรือ "ไม่เป็นไรน่า ไม่นานก็หาย"
คำลวงพรรค์นี้ก็คัดออกเหมือนกัน ไม่เอา


แม้แต่จะหลอกล่อ
ด้วยการพูดเรื่องการทำบุญ
พูดเรื่องการไปสวรรค์ ก็ไม่ต้อง
เพราะตอนคนป่วยกำลังจดจ่อรอฟังอาการ
เขาจะอ่อนไหวและรู้ทันไปหมดอยู่แล้ว
ไม่อยากฟังการชักแม่น้ำทั้งห้าอยู่แล้ว


ทางที่ดีคือ
เริ่มด้วยคำสำเร็จรูปที่ตรงไปตรงมา
เช่น "ผลตรวจออกมาแล้วนะ..."
นอกจากเตรียมคำ
ให้เตรียมใจไว้เย็นๆ
เตรียมน้ำเสียงไว้ดีๆ
เตรียมสีหน้าสีตาไว้เรียบๆด้วย
ทำให้ฟังเป็นเรื่องธรรมดา สบตากันได้ปกติ


แล้วหลังจากพูดความจริงเสร็จ
จะใส่ความเห็นอย่างไรก็ใส่ไป
เช่น โอกาสหายมีกี่เปอร์เซ็นต์
หรือที่นี่บอกว่าไม่หาย
ที่อื่นบอกว่ามีสิทธิ์ไหม
ความเห็น จะเห็นอย่างไรก็ได้
ไม่มีคำว่าโกหก


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


คุณจะพบว่า
การฉลาดพูดความจริง
ไม่ใช่เรื่องของการเลือกใช้คำอย่างเดียว
แต่เป็นการ ‘เลือกใจ’
เลือกน้ำเสียง เลือกสีหน้าสีตา
ในทางที่เป็นกุศล
แบบที่ทำให้คนฟังเกิดการรับรู้ในทางบวกด้วย
เมื่อทำได้กับกรณีหนึ่ง
ก็จะทำได้กับกรณีทั่วไปอื่นๆ
ไม่ต้องมานั่งวิตกแบบไม่มีคำตอบว่า
จะช่วยอย่างไรไม่ต้องติดบาปติดกรรมกัน!


ดังตฤณ
มีนาคม ๒๕๖๕






review

  

การได้เกิดเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนานับว่าเป็นผู้มีวาสนา
จึงควรสร้างเสริมบุญของตนให้ยิ่งขึ้นไป
ด้วยการปฏิบัติตามคำสอนแห่งองค์พระบรมศาสดา

ดังความตามพระธรรมเทศนา
โดยพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เรื่อง"ส่งเสริมบุญญาบารมี (ตอนที่ ๑)"ในคอลัมน์"สารส่องใจ"


ความเชื่อที่ว่ามีคาถาที่ช่วยเรื่องการเงิน
ถ้าสวดแล้วจะทำให้ได้โชคได้ลาภ เป็นเรื่องจริงไหม
หาคำตอบได้ในคอลัมน์"ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน"มีคาถาที่สวดแล้วรวยหรือไม่"


ผู้ที่อยากหนีจากความวุ่นวายของเมืองหลวง
จะทำอย่างไรให้ฝันนั้นเป็นจริง
ติดตามได้จากกรณีศึกษาในคอลัมน์"โหรา (ไม่) คาใจ"
ตอน"อยากย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด"



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP