จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๓๒๙ ความลับในใจ



329 talk



มีแต่คนฝึกพูดให้เก่ง
น้อยนักที่จะ ‘ฝึกไม่พูด’ ให้ชำนาญ


หลายเรื่องในโลก
รู้แล้วทำให้คันปาก
อยากบอกให้ใครต่อใครรู้


คำบางคำทำลายมิตรภาพได้
เพราะคำๆนั้นสร้างความรู้สึกแย่ใหม่ๆขึ้นมา
แรงพอจะทำลายความรู้สึกดีเก่าๆลงไป


ความลับในใจ
ถ้าอยู่ในใจแล้วทุกอย่างเป็นปกติ
ก็ควรจะให้เป็นความลับในใจต่อไป
เพราะคุณไม่มีทางรู้ว่าถ้าเผยออกมาแล้ว
อะไรๆจะยังคงเป็นปกติต่อไปหรือไม่


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


ถ้ามีเรื่องให้ฝึกที่จะไม่พูดถึง
ขอให้รู้ว่า
นั่นคือโอกาสก้าวหน้า
ทั้งทางโลก และทางสมาธิ


ทางโลก
คุณจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้น
ควบคุมสถานการณ์ได้เท่าที่เห็นควร


ทางสมาธิ
คุณจะมีความอึดอัดที่ชัดเจน
เอาไว้ฝึกขันติอย่างถูกวิธี
คือ เห็นความอึดอัดมาก
อยากพูดให้ได้ ในลมหายใจหนึ่ง
แล้วเห็นความอึดอัดน้อยลง
ไม่พูดก็ได้ ในลมหายใจต่อมา


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


หากคุยกับใคร
ถ้ารู้สึกเหมือนอยากพูดเรื่องคันปาก
แต่ขณะเดียวกัน
ก็นึกอยากห้ามใจไม่พูดคำนั้น
กลับไปกลับมา
ง่อนแง่นจะหลุดมิหลุดแหล่
ณ ขณะนั้น คุณกำลังเห็น
สภาพหวั่นไหวของจิตอย่างถนัดชัดเจน
อย่าปล่อยให้ผ่านไปเฉยๆ
ให้รับรู้ถึงสภาพความหวั่นไหวนั้นเอาไว้
จนกว่าจะแปรไป


หากคุยกับใคร
ถ้าอยากพูดเรื่องคันปาก
แล้วรู้สึกถึงสติที่มีความแน่นอน
รู้ชัดว่าเป็นตายอย่างไรก็จะไม่พูดเด็ดขาด
ณ ขณะนั้น คุณกำลังเห็น
สภาพความมั่นคงของจิตอยู่
อย่าปล่อยให้ผ่านไปเฉยๆเช่นกัน
ให้รับรู้ถึงสภาพความมั่นคงนั่นไว้
จนกว่าจะแปรไป


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


แต่ละวัน
เต็มไปด้วยประสบการณ์ทางจิต
คนเราจะรู้สึกว่ามีตัวตนชัดเต็ม
หรืออย่างน้อยเป็นตัวของตัวเองพอ
ก็เมื่อมีใจแน่วแน่ ไม่โลเล หวั่นไหว
ซึ่งอาจหมายถึง
การตัดสินใจพูด หรือ ตัดสินใจไม่พูด


ผู้มีสติเห็นเหตุของความมั่นคงทางใจ
แล้วให้การสนับสนุนเหตุแห่งความมั่นคงนั้น
ย่อมมีความไม่หวั่นไหวกับกระแสโลก
และมั่นคงพอจะเอาชนะคลื่นรบกวนในตนเอง


ดังตฤณ
มีนาคม ๒๕๖๕





review


การถอนรากถอนโคนกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ
จนไม่มีความยึดมั่นถือมั่นว่ากายใจเป็นเรา จะทำได้อย่างไร
ติดตามได้จากวิสัชนาธรรม โดย หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
เรื่อง "รู้ชัดด้วยปัญญา"ในคอลัมน์ "สารส่องใจ"


จิตที่เป็นสมาธิอันเกิดจากอานาปานสติอย่างถูกต้อง
จะส่งผลอย่างไรต่อความสามารถในการคิดพิจารณาเรื่องต่างๆ
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน"การฝึกอานาปานสติช่วยให้มีวิธีคิดที่ดีขึ้นได้อย่างไร"


หากรู้สึกว่างานที่ทำขาดความท้าทาย
แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ไม่อาจเปลี่ยนงาน
จะทำใจอย่างไรให้ยอมรับและไม่เป็นทุกข์
ติดตามได้จากกรณีศึกษา
ในคอลัมน์ "โหรา (ไม่) คาใจ" ตอน"พอดีอยู่ที่พอใจ"


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP