สารส่องใจ Enlightenment

อาหาเรปฏิกูลสัญญา (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
แสดงธรรม ณ วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
วันที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๓




อาหาเรปฏิกูลสัญญา (ตอนที่ ๑)(คลิก)



ปัจจัยทั้งสี่นี้ เครื่องนุ่งห่มและอาหารสำคัญที่สุด จะเว้นเสียมิได้
อาหารก็ยังพออดได้ ๑๐ วัน ๒๐ หรือ ๓๐ วัน ก็ยังไม่ตาย
ส่วนจีวรนี่ซีไม่นุ่งห่มไม่ตายจริงแล
แต่ไม่นุ่งห่มแล้ว ใครเล่าจะกล้าออกมาเดินโทกเทกๆ ให้เขาดูได้
เหตุนั้นจีวรจึงเป็นของจำเป็นอย่างยิ่ง
ส่วนอาหารมีการหิวโหย เมื่อรับประทานแล้วมีอาการระงับไป
แล้วก็หิวโหยอีก ไม่รู้แล้วรู้รองสักที วันหนึ่งๆ ตั้งหลายครั้งหลายหน



ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบย่อมละเว้นข้อเหล่านั้นเสีย
บริโภคเพื่อยังชีวิตให้อยู่ได้ จะได้ประพฤติพรหมจรรย์ให้มั่นคงถาวรต่อไป
ถ้าไม่บริโภคก็หิวโหยทุกขเวทนามาก จะประพฤติพรหมจรรย์ลำบาก
เพราะพระพุทธศาสนานี้จะตั้งอยู่มั่นคงถาวรได้ ก็เพราะอาศัยพระสงฆ์
พระสงฆ์จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา
ทายก ทายิกา ทำบุญก็เพื่อยังพระศาสนาให้มั่นคงเจริญถาวรต่อไป
ฉะนั้นภิกษุที่ท่านพิจารณาอาหารโดยเห็นเป็นธาตุชัดเจนแล้ว
เมื่อจะบริโภคก็ไม่มัวเมา บริโภคเพื่อยังชีวิตให้เป็นไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น
หรือที่เรียกว่าเพื่อเป็นยาปนมัต
(อ่านว่า ยาปะนะมัด) เท่านั้นเอง



คนเป็นไข้ป่วยมาลาเรียไม่รับประทานยาควินินขมขื่นก็จะไม่หาย ฉันใดก็ฉันนั้น
ท่านอุปมาไว้ว่าเหมือนหญิงลูกอ่อนเดินข้ามทะเลทรายอันกันดาร ไปหลายวันหลายคืน
เสบียงที่เตรียมติดตัวไปก็หมดลง จึงมาคิดว่าทางอันกันดารก็ยังไกลอยู่ อาหารเราก็หมดแล้ว
อีก ๒ - ๓ วันเราพร้อมด้วยลูกก็จะตายลงเพราะไม่มีอาหารรับประทาน
อย่ากระนั้นเลย เรามาฆ่าลูกน้อยของเราอันแสนรักสุดชีวิต
กินเพื่อยังประทังชีวิตให้เป็นอยู่ แล้วหญิงแม่ลูกอ่อนคนนั้นก็ฆ่าลูกตายเสีย
อันการรับประทาน (เนื้อของ) ลูกรักแสนสุดใจกับการรักชีวิต พ้นวิสัยจะพรรณนา
อาหาร (เนื้อ) ที่รับประทานนั้นจะเป็นอย่างไร ขอให้ผู้อ่านพิจารณาเอาเอง



ภิกษุผู้มีสติควบคุมจิตของตนได้แล้ว
ย่อมพิจารณา ตังขณิกปัจจเวกขณ์ ธาตุปัจจเวกขณ์ อตีตปัจจเวกขณ์
ในปัจจัยทั้งสี่ ให้เห็นเป็นสักแต่ว่าธาตุเท่านั้น
ย่อมไม่มัวเมา หลงระเริงลืมตัว แล้วบริโภคปัจจัย ๔ นั้น
เรียกว่าสามีบริโภค บริโภคโดยความเป็นใหญ่ โดยเป็นเจ้าของแห้งวัตถุทานนั้น



อธิบายว่าทานวัตถุอันใดที่ทายกทายิกานำมาถวายพระนั้น มีจีวรบิณฑบาต เป็นต้น
ไม่ว่าทานวัตถุนั้นจะเป็นของหยาบและของละเอียดก็ตาม
เป็นของมีคุณค่าเสมอเหมือนกัน
ด้วยเจตนาหวังบุญอันแน่วแน่แด่พระภิกษุ
ผู้ที่ตนเห็นว่าเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์และมีจริยาวัตรอันดีงาม
แล้วหวังเพื่อบุญกุศลอันยิ่งใหญ่อันหาค่ามิได้
แต่พระภิกษุกลับทำตัวแกล้งเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยศีลและจริยาวัตร
หลอกลวงเขากิน ฉ้อโกงเขาด้วยกระเท่ห์เล่ห์กลต่างๆ
ถึงไม่ผิดกฎหมายบ้านเมือง แต่ผิดในธรรมวินัย ด้วยเจตนาอันไม่บริสุทธิ์
เหตุนั้นจึงเรียกว่า เถยยบริโภคและอิณบริโภค
ขโมยของเขามากิน เป็นหนี้เป็นสินเขามากิน



การบริโภคทั้ง ๓ นี้ ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะทรงเทศน์ให้พระภิกษุบริษัทฟังก็จริงแล
แต่ฆราวาสก็ควรนำมาพิจารณาได้เหมือนกัน
อย่างน้อยก็เพื่อลดหย่อนความฟุ่มเฟือยลงไปได้
ดีกว่าจะไม่พิจารณาเสียเลย มีแต่ความหลงมัวเมา
เอาแต่ความชอบใจของตนอย่างเดียว ไม่รู้จักผิดถูกชั่วดี



ดังเรื่องนายโคฆาต ท่านแสดงไว้ในพระธรรมบท
นายโคฆาตคนนี้ติดเนื้อวัว เอาแต่รับประทานเนื้อวัวเสียจนไม่ต้องรับประทานข้าวก็อิ่ม
ฆ่าวัวขายเป็นประจำตั้งหลายสิบปี
วันหนึ่งแกออกจากบ้านไปทำงาน ภรรยาแกอยู่เฝ้าบ้าน
ตอนกลางวันมีเพื่อนสามีมาเยี่ยมถึงบ้าน
เมื่อถามหาสามี ก็บอกว่าไม่อยู่ ไปทำงานนอกบ้าน
ภรรยาของเพื่อนจึงถามว่ารับประทานอาหารเที่ยงหรือยัง
เขาบอกว่าไม่เป็นไรหรอก ยังไม่หิว รับประทานไปตะกี้นี้เอง
ภรรยาของเพื่อนก็ได้ต้อนรับด้วยน้ำใสใจดี
ให้รอสักประเดี๋ยว จะจัดอาหารอย่างดีมาให้รับประทาน
แล้วก็ไปหยิบเอาเนื้อวัวที่เหลือไว้ให้สามีรับประทานนั้นมาปรุงเป็นอาหาร
แต่ลืมไปหาได้คิดว่าสามีกลับจากทำงานมาแล้ว มาถึงบ้านจะรับประทานอะไร
ถ้าขาดเนื้อวัวแล้วก็รับประทานไม่ได้เด็ดขาด
เพื่อนของสามีเมื่อรับประทานอาหารแล้วก็ขอบพระคุณลาไป
ก่อนจะลาไปสั่งภรรยาของเพื่อนให้บอกสามีว่าฉันมาเยี่ยมแต่ไม่พบ


พอตอนบ่ายหน่อยนายโคฆาตก็กลับมาถึงบ้าน ถามหาเนื้อวัวที่เก็บไว้
ภรรยาก็บอกว่าได้เอาไปทำอาหารให้เพื่อนของแกรับประทานเสียแล้ว
นายโคฆาตกำลังหิวจัดจึงจับมีดอันคมจัดลงไปใต้ถุนบ้าน
ล้วงจับเอาลิ้นของโคที่ผูกไว้ เชือดเอามาปิ้งกิน โคนั้นก็ชักดิ้นตายอยู่กับที่
นายโคฆาตก็รับประทานลิ้นวัวด้วยความเอร็ดอร่อย เพลินไปในรสอาหาร
เลยกัดลิ้นของตนเองขาดตายคาที่นั่นเอง
ก่อนจะตายก็ร้องเหมือนเสียงโค แล้วก็กลิ้งไปกลิ้งมาจนสิ้นใจตาย
นี่แลผลกรรมที่ตัดลิ้นวัวมาเป็นอาหาร ไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ตัวก็ตายเสียแล้ว
และความหลงรสชาติในอาหารด้วยการไม่พิจารณาก่อน
ใครๆ ก็บอกว่าไม่มีโทษ เพราะไม่ได้ลักขโมยเขากิน ย่อมเป็นอย่างนี้แหละ
วันนี้อธิบายเพียงเท่านี้ เอวํฯ








(นั่งสมาธิ)
หลวงปู่อบรมนำก่อน



นั่งภาวนาต่อไป ปัจจัย ๔ มีอาหาร เป็นต้น
ก็เป็นกรรมฐานด้วยหรือ ทำไมจึงต้องพิจารณากรรมฐานด้วย
แน่นอน ถ้าพิจารณาให้เป็นกรรมฐานไม่ว่าแต่เป็นปัจจัย ๔ เท่านั้น
สิ่งทั้งปวงหมดที่มีอยู่ในโลกนี้ ถ้าพิจารณาให้เป็นกรรมฐานก็เป็นด้วยกันทั้งนั้น
เพราะท่านให้พิจารณาสิ่งที่มีอยู่แล้ว
ให้เห็นตามเป็นจริงของมันทุกประการ เรียกว่ากรรมฐาน



ที่ท่านยกเอาปัจจัย ๔ มาให้พิจารณา
ก็ด้วยปัจจัย ๔ เป็นของจำเป็นแก่ชีวิตทุกคน และต้องอาศัยอยู่เป็นนิตย์ด้วย
สิ่งที่เราอาศัยอยู่เป็นนิตย์นี้ มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราหลงและเกิดกิเลสได้
เมื่อเกิดกิเลสขึ้นบ่อยๆ ก็หุ้มห่อจิตใจให้หนาแน่นขึ้นทุกวันๆ
เหตุนี้ท่านจึงให้พิจารณา ก่อนจะรับให้เห็นเป็นธาตุ
รับอยู่
ก็ให้พิจารณาด้วยแยบคาย เพื่อมิให้หลงตามของเหล่านั้น
เมื่อรับแล้วเอามาพิจารณาอีกซ้ำๆ ซากๆ อยู่อย่างนั้น
ตราบใดยังมีชีวิตอาศัยของ ๔ อย่างนี้อยู่ ก็จะต้องพิจารณาอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป
เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนั้นแล้ว
สติจะแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว คือ ปัจจเวกขณ์ นั่นแล



แล้วจะเอากรรมฐานที่ไหนอีก เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนั้นจนชำนาญแล้ว
ปัญญาความฉลาดในการพิจารณานั้นก็ดี
หรือปัญญาอันเกิดจากแยบคายที่พิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ดี หากจะเกิดขึ้นด้วยตนเอง
เอาละ



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจากพระธรรมเทศนา อาหาเรปฏิกูลสัญญา
ใน
พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๑๐ โดย ปฐมและภัทรา นิคมานนท์ ฉบับพิมพ์เมื่อสิงหาคม ๒๕๕๒.



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP