จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ยอมรับผิด VS สำนึกผิด


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



327 destination



เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา
ผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่งที่เล่าเรื่องให้ฟังว่า
ญาติธรรมท่านนี้เคยไปยุ่มย่ามกับเรื่องของเพื่อนคนหนึ่ง
และทำให้เพื่อนคนนั้นโกรธมาก ต่อมา ญาติธรรมท่านนี้ก็ยอมรับว่า
ตนเองไม่สมควรไปยุ่มย่ามเรื่องของเพื่อนนั้น
และก็ได้ยอมรับผิดและขอโทษเพื่อนคนนั้นแล้ว
แม้เวลาผ่านไปเป็นปี ๆ แล้ว แต่เพื่อนคนนั้นก็ยังไม่หายโกรธ
และก็ยังมีอาการเคืองในเรื่องอดีตเรื่องเดิมอยู่ตลอดมา
ญาติธรรมท่านนี้ก็เห็นว่า เมื่อยอมรับผิดและขอโทษแล้ว ก็ควรจะจบได้แล้ว
โดยญาติธรรมท่านนี้ก็ไม่รู้ว่าทำอย่างไรเพื่อนจึงจะหายโกรธ
แล้วก็โกรธเพื่อนว่านิสัยไม่ดีที่มัวแต่เก็บเรื่องในอดีตมาโกรธเขาไม่เลิกแบบนี้


ผมได้ถามญาติธรรมท่านนี้ว่า ญาติธรรมท่านนี้ได้รู้สึกสำนึกผิดหรือไม่
ญาติธรรมท่านนี้ตอบว่า เขารู้สึกสำนึกผิด และได้ขอโทษเพื่อนไปแล้ว
ผมตอบว่า ไม่ใช่ อันนั้นคือยอมรับผิด และขอโทษ
ซึ่งไม่เหมือนกับสำนึกผิด เพราะว่าเท่าที่ผมฟังญาติธรรมท่านนี้เล่าเรื่องให้ฟัง
ผมไม่ได้รู้สึกเลยว่า ญาติธรรมท่านนี้สำนึกผิด
ญาติธรรมท่านนี้จึงถามว่า สำนึกผิดเป็นอย่างไร แตกต่างจากยอมรับผิดอย่างไร


ผมจึงอธิบายว่า เวลาที่คนเราทำผิดนั้น บางคนอาจจะไม่ยอมรับผิดเลยก็ได้
บางคนอาจจะยอมรับผิด และกล่าวขอโทษด้วยวาจา แต่ว่าใจนั้นไม่เคยสำนึกผิดก็ได้
แต่บางคนนั้นรู้สึกสำนึกผิด เสียใจในสิ่งที่ตนเองได้กระทำลงไป
กล่าวขอโทษอย่างจริงใจ และตั้งใจอย่างยิ่งว่าจะไม่กระทำอีก
ซึ่งการที่จะสำนึกผิดได้นั้น เราควรมีความเข้าใจฝ่ายที่เสียหาย
กล่าวคือฝ่ายเพื่อนเราที่เราได้ไปยุ่มย่ามเรื่องของเขา และทำให้เขาเสียใจ
เราเคยรู้สึกไหมว่าเพื่อนเรารู้สึกอย่างไร เขาจะโกรธหรือเสียใจไหม
เวลาที่มีคนอื่นไปยุ่มย่ามเรื่องส่วนตัวของเขาโดยที่เขาไม่ต้องการ
แล้วที่คนอื่นไปทำให้เพื่อนเสียใจนี้ ก็กล่าวขอโทษแบบขอไปที
โดยที่ไม่ได้สำนึกเสียใจอะไรเลยในสิ่งที่ตนเองได้ทำ


หลังจากนั้น ผมก็ยกตัวอย่างกับญาติธรรมท่านนี้ว่า
สมมุติว่าเขาเองมีเพื่อนคนหนึ่งไปยุ่มย่ามกับเขาในเรื่องที่เขาไม่ต้องการให้ยุ่ง
ถามว่า เขาจะโกรธไหม
ญาติธรรมท่านนี้ตอบว่า โกรธ
ถามต่อไปว่า แล้วเพื่อนก็มาพูดยอมรับผิด และขอโทษแบบขอไปที
โดยไม่ได้มีอาการสำนึกผิดเลย ไม่ได้สลดเสียใจอะไรเลย
ญาติธรรมท่านนี้จะหายโกรธ และยกโทษให้เพื่อนทันทีหรือไม่
ญาติธรรมท่านนี้ตอบว่า ก็คงไม่หายโกรธ และไม่ยกโทษให้


ผมอธิบายว่า เรื่องที่ญาติธรรมท่านนี้ไปทำให้เพื่อนโกรธก็ทำนองเดียวกัน
ถ้าญาติธรรมท่านนี้ขอโทษแต่ไม่ได้สำนึกผิดอะไรเลย
ไม่ได้รู้สึกสลดเสียใจอะไร เพื่อนก็คงไม่ได้รู้สึกอยากจะยกโทษให้เช่นกัน
ในเรื่องนี้ ญาติธรรมท่านนี้ควรลองนำตัวเองไปเป็นเพื่อนบ้าง
ในเวลานั้น เพื่อนก็มีปัญหาชีวิตของเขาอยู่แล้ว
เขาไม่ได้ต้องการให้คนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องไปยุ่มย่ามเรื่องของเข้า
แล้วในเมื่อญาติธรรมท่านนี้ไปยุ่มย่ามเรื่องปัญหาชีวิตของเขา
โดยที่เขาไม่ต้องการเช่นนี้ ถามว่าถ้าเป็นเรา เราจะไม่พอใจหรือเปล่า
เราจะเสียใจบ้างไหม เราลองนึกว่าถ้าเป็นเราดู
ญาติธรรมท่านนี้ก็เริ่มรู้สึกสลดใจ และตอบว่า เขาน่าจะเสียใจเหมือนกัน
ผมถามต่อไปว่า แล้วในเมื่อเราทำให้เพื่อนเสียใจเช่นนั้น
ที่ผ่านมา เราเคยรู้สึกสลดใจ เสียใจในการกระทำของเราหรือเปล่า
หรือว่าเราแค่กล่าวยอมรับผิด และขอโทษให้เรื่องจบ ๆ ไป
ญาติธรรมท่านนี้ตอบว่า เขาเพิ่งรู้สึกว่า ที่ผ่านมานั้น เขาไม่ได้สลดและเสียใจเลย
เขาเพียงแต่คิดว่าเขายอมรับผิด และกล่าวขอโทษแล้ว
เพื่อนก็ควรจะยกโทษให้ได้แล้ว และเรื่องควรจะจบได้แล้ว


ผมจึงอธิบายว่า คนที่ควรจะบอกว่า ยกโทษให้แล้ว และจบแล้ว
ควรจะเป็นฝ่ายที่เสียหายเป็นคนบอก
ไม่ใช่ฝ่ายที่ไปทำให้เขาเสียหายเป็นคนบอก
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าคนหนึ่งเมาขับรถไปชนบุตรของคนอื่นตาย
หลังจากนั้นคนขับรถคนนั้นได้มาชดใช้ค่าเสียหายให้ ไปบวชอุทิศบุญกุศลให้
และโดนลงโทษจำคุกอีกด้วย แต่ว่าพ่อแม่คนตายก็ยังไม่ยกโทษให้
ถามว่า คนขับรถคนนั้นควรจะเป็นคนบอกได้หรือว่า
พ่อแม่คนตายนั้นควรยกโทษให้ได้แล้ว และเรื่องควรจบได้แล้ว
ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าคนขับรถคนนั้นไม่ควรจะเป็นคนบอกเช่นนั้นได้
เพราะว่าเขาไม่ใช่ฝ่ายเสียหาย เขาไม่รู้หรอกว่าฝ่ายเสียหายนั้นสูญเสียอะไรบ้าง
ต้องเสียใจแค่ไหนเพียงไร ต้องประสบอะไร และสูญเสียเพียงไร
ดังนั้นแล้ว เรื่องของการยกโทษให้นั้นเป็นเรื่องของฝ่ายที่เสียหาย
ฝ่ายที่ทำให้คนอื่นเสียหายนั้น ทำได้ดีที่สุดคือ สำนึกผิดอย่างแท้จริง
พยายามเยียวยาและชดเชยความเสียหายอย่างดีที่สุด
และตั้งใจอย่างยิ่งว่าจะไม่กระทำผิดเช่นนั้นอีก


หลังจากที่ได้สนทนากันแล้ว ญาติธรรมท่านนี้ก็รู้สึกมีความเข้าใจมากขึ้น
โดยเล่าให้ฟังว่าก่อนหน้านี้ ญาติธรรมท่านนี้ก็รู้สึกโกรธเพื่อนคนนี้ว่า
เพื่อนไม่ยอมยกโทษให้ญาติธรรมท่านนี้เสียที ทั้งที่ควรจะจบได้แล้ว
แต่มาบัดนี้ ญาติธรรมท่านนี้เข้าใจแล้วว่า ตนเองไม่เคยสำนึกผิดเลย
ไม่เคยรู้สึกถึงความรู้สึกเสียใจของเพื่อนเลย
และไม่เคยรู้สึกเสียใจในสิ่งที่ตนเองได้ทำผิดต่อเพื่อนเลย
ซึ่ง ณ เวลานี้ ญาติธรรมท่านนี้สำนึกได้แล้ว และไม่โกรธเพื่อนแล้วที่ไม่ยกโทษให้
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อคิดถึงเรื่องนี้ทีไร ญาติธรรมท่านนี้ก็จะรู้สึกแน่น ๆ เพราะมีโทสะ
แต่ในเวลานี้กลับรู้สึกใจเบาขึ้น เพราะไม่ได้โกรธเพื่อนแล้ว (ที่ไม่ได้ยกโทษให้ตนเอง)
โดยญาติธรรมท่านนี้ก็ตั้งใจว่า จะไปขอโทษและปรับความเข้าใจกับเพื่อนอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งหลังจากการสนทนานั้นผ่านไป ญาติธรรมท่านนี้ก็ได้กลับมาเล่าให้ฟังนะครับว่า
เขาได้ไปปรับความเข้าใจกับเพื่อนแล้ว และเพื่อนได้หายโกรธและยกโทษให้เขาแล้ว


กรณีเรื่องที่เล่ามาข้างต้นนี้ ก็เพื่ออธิบายให้เห็นความแตกต่างระหว่าง
ยอมรับผิดและสำนึกผิดครับ โดยการยอมรับผิดนั้น อาจไม่ได้แปลว่าสำนึกผิดก็ได้
ในส่วนของศัพท์ทางธรรมะนั้น ก็มีคำหนึ่งที่ผมเห็นว่าควรนำมาพิจารณาครับ คือ
คำว่า “สังเวช” ซึ่งในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
โดยพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายว่า
“สังเวช” หมายถึง “ความสลดใจ, ความกระตุ้นให้คิด, ความรู้สึกเตือนสำนึก
ในทางธรรม ความรู้สึกสลดใจที่ทำให้คิดได้ ทำให้จิตใจหันมานึกถึงสิ่งที่ดีงาม
เกิดความไม่ประมาท เพียรพยายามทำสิ่งที่เป็นกุศลต่อไป จึงจะเรียกว่า สังเวช
ความสลดใจ แล้วหงอยหรือหดหู่เสีย ไม่เรียกว่าเป็นความสังเวช”
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CA%D1%A7%E0%C7%AA_


โดยจะเห็นได้ว่าเมื่อเราได้ประสบพบเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ
เช่น เห็นคนเกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้ว
เราอาจจะรู้สึกสลดสังเวชและนำมาระลึกเพื่อปรับปรุงตนเองให้ดีก็ได้
หรือในกรณีที่เราเองได้กระทำสิ่งผิดหรือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
เราก็อาจจะรู้สึกสลดสังเวชและนำมาระลึกเพื่อปรับปรุงตนเองให้ดีได้เช่นกัน
แต่หากรู้สึกเศร้าเสียใจแล้ว แต่ก็ทำตัวไม่ดีและเหลวแหลกเช่นเดิม
ไม่ได้ปรับปรุงตนเองอย่างใด ๆ แบบนั้นย่อมไม่เรียกว่าสังเวชครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP