สารส่องใจ Enlightenment

อาหาเรปฏิกูลสัญญา (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
แสดงธรรม ณ วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
วันที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๓




วันนี้จะเทศนาเรื่อง อาหาเรปฏิกูลสัญญา ให้ฟัง จงตั้งใจฟังให้ดี
อาหารเป็นสิ่งที่มนุษย์และสัตว์ทั่วไปทั้งหมดจะต้องกิน
ถ้าไม่กินก็อยู่ไม่ได้ จะต้องตาย
ฉะนั้นอาหารจึงเป็นปัจจัยเครื่องยังชีวิตให้เป็นอยู่อย่างหนึ่งในปัจจัย ๔
คือ ผ้านุ่งห่ม ๑ อาหาร ๑ ที่อยู่อาศัย ๑ ยาแก้โรคภัยไข้เจ็บ ๑
ปัจจัยสี่แต่ละอย่างนั้น ท่านสอนให้พิจารณาโดยนัยเดียวกัน
คือ ก่อนจะรับ เวลารับอยู่ และรับแล้ว แต่แยกกันออกไปโดยตามประเภทดังนี้


เช่น จีวร ก่อนจะรับมาบริโภคใช้สอย ให้พิจารณาโดยแยบคายด้วยอุบายอันชอบ
แล้วแต่ว่าใครจะมีอุบายเห็นสมควรแก่จริตนิสัยของตน
ขอให้พิจารณาเพื่อมิให้มัวเมาประมาทในกิเลส ให้เกิดสลดสังเวชเป็นพอ
จีวรนี้สักแต่ว่า ธาตุ หาใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขาไม่
ไม่มีชีวิตจิตใจอะไร เป็นของว่างเปล่า
เมื่อธาตุภายนอกคือจีวร เอามาห่อหุ้มธาตุภายในคือร่างกายอันนี้แล้ว
ก็เป็นของปฏิกูล เก่า คร่ำคร่า น่าเกลียด ต้องชำระซักฟอกอยู่เสมอ
พิจารณาก่อนจะรับ เรียกว่าธาตุปัจจเวกขณ์
เมื่อรับอยู่ก็ให้พิจารณา เราบริโภคใช้สอยจีวรนี้
ก็เพื่อป้องกันความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง
และสัตว์เสือกคลานต่างๆ มีริ้น เหลือบ ยุง เป็นต้น
แล้วก็ปกปิดร่างกายเพื่อป้องกันความอับอาย
พิจารณาเมื่อกำลังรับอยู่ เรียกว่า ตังขณิกปัจจเวกขณ์
เมื่อรับแล้วขอให้พิจารณาอย่างเมื่อกำลังรับนั้น
การพิจารณาภายหลังเมื่อรับแล้ว เรียกว่า อตีตปัจจเวกขณ์



ปัจจัยเครื่องอาศัยทั้งสี่นี้ ต้องอาศัยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
เมื่ออาศัยแล้วทำให้เกิดกิเลส คือยินดี พอใจ ชอบใจ รักใคร่
หรือไม่พึงพอใจ ไม่ปรารถนา เกลียดแหนงหน่าย
สิ่งที่ไม่พอใจก็เป็นกิเลส เป็นวิสัยของปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส
เหตุนั้นสาธุชนผู้ปรารถนาจะพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย
โดยเฉพาะพระภิกษุในพระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์
เมื่อบวชมาเพื่อสละเพศฆราวาส
ปรารถนาที่จะทำตนให้พ้นจากโลกิยวิสัยที่เรียกว่าเนกขัมมะ
ฉะนั้นเมื่อมาบริโภคใช้สอยปัจจัยสี่ อันทายกเขานำมาถวายเพื่ออุทิศแก่พระศาสนา
เราเป็นผู้รับแทน จงได้พิจารณาดังที่ได้อธิบายมาแล้วนั้น
จึงจะพ้นจากโทษอันเป็นหนี้ในวัตถุทานของเขา



บริโภค ท่านอธิบายไว้มี ๓ อย่าง คือ เถยยบริโภค ๑ อิณบริโภค ๑ สามีบริโภค ๑
ภิกษุในพระศาสนานี้ บวชมาแล้ว เป็นอยู่ด้วยอาศัยเครื่องภายนอก
อาศัยด้วยคนอื่น คือทายกทายิกาเห็นครองผ้าเหลืองๆ คิดว่าเป็นผู้มีสีลาจารวัตร
เกิดศรัทธาเลื่อมใสมีใจยินดีทำบุญด้วย
แต่พระบางองค์โลภมากอยากได้ไม่พอจึงพูดค่อนแคะกับผู้มีศรัทธา
เพื่อหวังผลอยากได้ในสิ่งที่ตนต้องการ
ดังพระองค์หนึ่งพูดกับผู้เขียนว่า เขาไม่เคยไปกรุงเทพฯ เลยในชีวิต
ครั้งแรกที่เขาไปคงจะเป็นแถวเมืองนนทบุรีนั่นเอง
เห็นผู้หญิงวัยกลางคนคนหนึ่ง หิ้วทุเรียนผ่านไป กลิ่นทุเรียนเหม็นฉุ่ย
พระองค์นั้นก็ถามขึ้นว่า
“กลิ่นอะไรโยม ?” โยมบอกว่า “กลิ่นทุเรียนเจ้าค่ะ”
พระองค์นั้นจึงเอ่ยขึ้นว่า “ฉันไม่รู้จัก รสชาติของมันเป็นอย่างไร หวานหรือเปรี้ยว ลูกละเท่าไร”
(ที่จริงพระองค์นั้นเคยฉันและรู้จักรสชาติมาแล้ว
ตลอดถึงราคาเมื่อก่อน ๒ บาท หรือสิบสลึงเท่านั้น)
โยมจึงบอกว่า “ฉันได้รสชาติก็อร่อยดี ราคาก็ไม่เท่าไร สองบาท หรือสิบสลึงเท่านั้นแหละ”
พระจึงบอกเรื่องของตัวว่า “อาตมาอยู่บ้านนอก
ไม่เคยเข้ามาในกรุง เห็นของแปลกๆ ก็อยากฉันดูบ้าง”
โยมบ้ายอคนนั้นก็ฉีกทุเรียนถวายพระขี้โกหกหมดทั้งลูกเลย


นี่แหละเรียกว่า กุหนา (อ่านว่า กุหะนา) หลอกลวงโกหกเขากิน
หรือ เถยยบริโภค ลักขโมยของเขากินด้วยการเห็นแก่ปากแก่ท้อง
แล้วพูดโกหกหลอกลวงเขาด้วยอาการต่างๆ นานาให้เขาหลงเชื่อ
ไม่พิจารณาให้สมแก่สมณะ
โยมก็ศรัทธาเหลือควร เห็นเขายอเข้าก็ได้ใจใหญ่เพื่อจะเพิ่มพูนกิเลสของพระ
เมื่อพระท่านฉันของไม่ว่าหวานหรือคาวสิ่งใดมากๆ ก็ตักมาเพิ่มเติมให้
ถ้าพระมีสติรู้ตัวละอายหน่อยก็หยุดฉันทันที ถ้าพระหายางอายไม่ได้ก็จะฉันเรื่อยไป
พูดเท่านี้ก็พอแล้ว



อิณบริโภค (อ่านว่า อิ นะ บริโภค) เมื่อภิกษุได้ปัจจัย ๔ มาแล้ว
บริโภคปัจจัยนั้นด้วยความมัวเมา
หาพิจารณา ตังขณิกปัจจเวกขณ์ ธาตุปัจจเวกขณ์ หรืออตีตปัจจเวกขณ์ ไม่
ตามที่อธิบายมาแล้วแต่ข้างต้น
ภิกษุบวชมาในพระพุทธศาสนานี้
เพื่อรักษาไว้ซึ่งพรหมจรรย์ มาปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
หากเห็นแก่ลาภ ยศ สรรเสริญ ลืมตัว ไม่พิจารณาปัจจัย ๔ ดังอธิบายมาแล้ว
ทรงเทศนาเฉพาะก้อนข้าวอย่างเดียวว่า
ภิกษุเช่นนั้นบริโภคก้อนเหล็กร้อนแดงยังดีกว่า
เพราะก้อนเหล็กแดงเมื่อบริโภคเข้าไปแล้ว
จะต้องไหม้ลำไส้ทะลุลงไปถึงทวารหนัก แล้วก็ตาย
ตายแล้วไม่ได้รับบาปกรรม ตกนรกทนทุกข์ทรมานนาน
ส่วนก้อนข้าวที่ชาวเมืองเขาทำบุญหวังผลอานิสงส์นี้ เป็นบาปมาก
เพราะเจตนาของเขาบริสุทธิ์ แต่พระผู้รับเป็นผู้ทุศีล
ไม่พิจารณาปัจจเวกขณ์ให้สมแก่สมณสารูป จึงเป็นบาปมาก



สามีบริโภค คือภิกษุก่อนจะรับปัจจัย ๔ มีจีวร เป็นต้น
ถ้าพิจารณาให้เป็นของจำเป็นที่เราจะต้องนุ่งห่ม เพื่อป้องกันความเย็นร้อน
และริ้น เหลือบ ยุง ทั้งหลาย เพื่อป้องกันกำบังความละอาย
เมื่อบริโภคอยู่ ให้พิจารณาเป็นแต่สักแต่ว่าธาตุทั้ง ๔
ไม่ใช่สัตว์ ตัวตนบุคคล เราเขา เป็นของว่างเปล่า
เมื่อเข้ามาถึงอัตภาพของเราแล้ว ก็เป็นของปฏิกูลเปื่อยเน่า
เมื่อบริโภคแล้ว ก็พิจารณาเหมือนก่อนได้รับนั้น จะไม่ให้เกิดความมัวเมาหลงระเริง
ดังตัวอย่างพระบางรูป เมื่อได้ปัจจัย ๔ มา เช่นอาหาร เป็นต้น
บริโภคโดยระเริงคุยกันอย่างสนุกสนาน หยอกล้อหัวเราะคิกๆ คักๆ
ผิดวิสัยสมณสารูปที่ดีงาม ไม่สำรวมทั้งกาย วาจา และใจ
ทำตัวอย่างให้กุลบุตรผู้ได้เห็นแล้วถือเป็นแบบอย่างได้
ชื่อว่าทำลายพระพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัว



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจากพระธรรมเทศนา “อาหาเรปฏิกูลสัญญา”
ใน
“พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี”
โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๑๐ โดย ปฐมและภัทรา นิคมานนท์ ฉบับพิมพ์เมื่อสิงหาคม ๒๕๕๒.



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP