จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๓๒๗ คนดีอาจเป็นฝ่ายตรงข้ามก็ได้



327 talk



เริ่มต้นขึ้นมา

ทุกคนแยกแยะดีเลว
ด้วยระดับความเห็นแก่ตัว
และความมีน้ำใจเห็นแก่คนอื่น
แต่ทว่าชีวิตซับซ้อนกว่านั้น
ความไม่เข้าพวกกันทางวิธีคิด
อาจถูกมองเป็นความโง่เขลา
เห็นแก่ตัว เห็นผิดคิดร้าย
ไม่เห็นแก่คนอื่นไปได้


เมื่อมีสิ่งที่กระตุ้นให้มองฝ่ายตรงข้ามเป็นปีศาจ
โดยไม่เห็นเหตุผลแบบมนุษย์ของเขาเลย
ก็อาจปิดวิธีคิดอย่างมีเหตุผลของตัวเองด้วย
เหลือแต่อารมณ์ร้าย
ให้มองแต่ด้านร้ายของกันและกันท่าเดียว


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


จุดสังเกตว่า คนดี
เริ่มรับความร้ายเข้ามาสู่ตน
อยู่ตรงที่มองไม่เห็น
หรือไม่มีสักแวบ
ที่คิดถึงข้อดีของฝ่ายตรงข้าม


พอแปะป้ายว่าฝ่ายตรงข้ามคือปีศาจ
ก็ต้องมีแต่ความเลวสถานเดียว
การมองแต่แง่ร้าย
มีความโน้มเอียงไปสู่การอยากว่าร้าย
หรือกระทั่งใส่ร้ายโดยไม่ต้องมีหลักฐาน


เมื่อมองคนอื่นออกว่า
ความเป็นคนดี และคนเลว
เป็นเพียงภาพลวงตา
ที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเงื่อนไขซับซ้อน
เราจะตัดสินคนอื่นน้อยลง
แล้วหันมาสนใจ ‘กุศลจิต’
และ ‘อกุศลจิต’ ของตนเองมากขึ้น


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


มาตรฐานความดีในตนเอง
มีหลักฐานที่กุศลจิต
เป็นสิ่งที่รู้เฉพาะตน
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีใครด่าใครชม
ไม่ได้อยู่กับหลักฐานภายนอก
ที่ตนเองโฆษณาให้คนอื่นฟัง
หรือแกล้งทำให้คนอื่นเห็น


เมื่อรู้แก่ใจว่า
ตนเองไม่คิดเบียดเบียน ไม่คิดให้ร้าย
ไม่คิดปั้นน้ำให้เป็นตัว
หวังให้เกิดผลดีในวงแคบไปถึงวงกว้าง
ก็เชื่อมั่นได้ว่าจิตของเราเป็นกุศล
แม้จะต้องอยู่คนละข้าง
กับคนมี ‘จิตเป็นกุศลที่คิดต่างกัน’
ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นคนดีเหมือนกัน
ส่วนจะได้รับผล
อันเป็นที่สุดไม่เหมือนกันอย่างไร
ก็ขึ้นอยู่กับรายละเอียดการทำความดีว่า
มีอกุศลธรรมเจือปนอยู่แค่ไหน


ดังตฤณ
กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕






review


คอลัมน์"ธรรมะจากพระสูตร"ในฉบับนี้
เป็นเรื่องราวในครั้งที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่ชาณุสโสณีพราหมณ์
เกี่ยวกับการทำทานให้กับญาติที่เสียชีวิตไปแล้ว ว่าผู้ที่จากไปจะได้รับผลทานนั้นอย่างไร
รายละเอียดติดตามได้ในตอน"ชาณุสโสณีสูตร ว่าด้วยการอุทิศทานให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว"


หากสุนัขที่รักเหมือนลูกล้มเจ็บจนเสียชีวิต
จะมีวิธีใดช่วยให้รับมือกับความอาลัยอาวรณ์ที่เกิดขึ้นได้
หาคำตอบได้ในคอลัมน์"ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน"จะปล่อยวางความเศร้าเพราะสูญเสียสัตว์เลี้ยงแสนรักได้อย่างไร"


ความแตกต่างระหว่างการยอมรับผิดและการสำนึกผิดคืออะไร
และควรปฏิบัติอย่างไรหากตนเองเป็นฝ่ายทำให้ผู้อื่นเสียใจ
ติดตามได้จากเรื่องราวที่คุณงดงามบอกเล่าไว้
ในคอลัมน์"จุดหมายปลายธรรม"ตอน"ยอมรับผิด VS สำนึกผิด"


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP