ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta
ปฐมมหาปัญหาสูตร ว่าด้วยปัญหา อุเทศ ไวยากรณ์อย่างละ ๑ ถึง ๑๐
กลุ่มไตรปิฎกสิกขา
[๒๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี.
ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า ภิกษุเป็นอันมากนุ่งสบงแล้ว ถือบาตรและจีวร
เข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า
การจะเที่ยวไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ก็ยังเช้านัก
ผิฉะนั้น พวกเราพึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด ดังนี้
ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก
ได้ปราศรัยกับอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมย่อมทรงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย มาเถิด เธอทั้งหลายจงรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่ง ๆ ธรรมทั้งปวงแล้ว จงอยู่เถิด’ ดังนี้
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แม้เราทั้งหลายก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายเหล่านี้ว่า
‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย มาเถิด ท่านทั้งหลายจงรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง
ครั้นรู้ยิ่ง ๆ ธรรมทั้งปวงแล้ว จงอยู่เถิด’ ดังนี้
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ในธรรมเทศนาหรืออนุสาสนีนี้ จะผิดแผกแตกต่างกันอย่างไรเล่า
คือธรรมเทศนากับธรรมเทศนา หรืออนุสาสนีกับอนุสาสนีของพระสมณโคดม หรือของพวกเรา.”
ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไปด้วยคิดว่า
เราทั้งหลายจักรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นเที่ยวบิณฑบาตในนครสาวัตถีแล้ว
เวลาปัจฉาภัตกลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ที่ประทับ
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช้านี้
ข้าพระองค์ทั้งหลายนุ่งสบงแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตในนครสาวัตถี
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ได้มีความคิดดังนี้ว่า
การจะเที่ยวไปบิณฑบาตในนครสาวัตถี ก็ยังเช้านัก
ผิฉะนั้น พวกเราพึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด
ดังนี้ พวกข้าพระองค์ได้เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก
ได้ปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันแล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นได้กล่าวกะข้าพระองค์ทั้งหลายว่า
‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมย่อมทรงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย มาเถิด เธอทั้งหลายจงรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่ง ๆ ธรรมทั้งปวงแล้ว จงอยู่เถิด
ดังนี้ ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แม้เราทั้งหลายก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย มาเถิด ท่านทั้งหลายจงรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง
ครั้นรู้ยิ่ง ๆ ธรรมทั้งปวงแล้ว จงอยู่เถิด ดังนี้
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ในธรรมเทศนาหรือนุสาสนีนี้ จะผิดแผกแตกต่างกันอย่างไรเล่า
คือ ธรรมเทศนากับธรรมเทศนา หรืออนุสาสนีกับอนุสาสนี ของพระโคดม หรือของพวกเรา’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ได้ยินดี
ไม่คัดค้านภาษิตของอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ด้วยคิดว่า
เราทั้งหลายจักรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้.”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกมีวาทะอย่างนี้
เธอทั้งหลายพึงถามอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ปัญหา ๑ อุเทศ ๑ ไวยากรณ์ ๑
ปัญหา ๒ อุเทศ ๒ ไวยากรณ์ ๒ ปัญหา ๓ อุเทศ ๓ ไวยากรณ์ ๓
ปัญหา ๔ อุเทศ ๔ ไวยากรณ์ ๔ ปัญหา ๕ อุเทศ ๕ ไวยากรณ์ ๕
ปัญหา ๖ อุเทศ ๔ ไวยากรณ์ ๖ ปัญหา ๗ อุเทศ ๗ ไวยากรณ์ ๗
ปัญหา ๘ อุเทศ ๘ ไวยากรณ์ ๘ ปัญหา ๙ อุเทศ ๙ ไวยากรณ์ ๙
ปัญหา ๑๐ อุเทศ ๑๐ ไวยากรณ์ ๑๐ เป็นอย่างไร ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกถูกถามอย่างนี้แล้ว
จักไม่ยังพยากรณ์ให้ถึงพร้อมได้ จักถึงความลำบากแม้อย่างยิ่ง
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกนั้น ถูกถามในปัญหาอันมิใช่วิสัย
ภิกษุทั้งหลาย ในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทพและมนุษย์
เราย่อมไม่เห็นบุคคลที่จะยังจิตให้ยินดีได้ด้วยการพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้
เว้นจากตถาคตหรือสาวกตถาคต หรือผู้ที่ฟังจากสาวกของตถาคตนี้.
ก็คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๑ อุเทศ ๑ ไวยากรณ์ ๑ ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรมอย่างหนึ่ง
ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน ในธรรมอย่างหนึ่งเป็นไฉน คือ
สัตว์ทั้งปวงเป็นผู้มีอาหารเป็นที่ตั้ง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรมอย่างหนึ่งนี้แล
ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน
คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๑ อุเทศ ๑ ไวยากรณ์ ๑ ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.
ก็คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๒ อุเทศ ๒ ไวยากรณ์ ๒ ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรม ๒ อย่าง
ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน
ในธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ ในนาม ๑ ในรูป ๑
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรม ๒ อย่างนี้แล
ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน
คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๒ อุเทศ ๒ ไวยากรณ์ ๒ ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.
ก็คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๓ อุเทศ ๓ ไวยากรณ์ ๓ ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรม ๓ อย่าง
ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน
ในธรรม ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ในเวทนา ๓
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรม ๓ อย่างนี้แล
ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน
คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๓ อุเทศ ๓ ไวยากรณ์ ๓ ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.
ก็คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๔ อุเทศ ๔ ไวยากรณ์ ๔ ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรม ๔ อย่าง
ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน
ในธรรม ๔ อย่างเป็นไฉน คือ ในอาหาร ๔
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรม ๔ อย่างนี้แล
ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน
คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๔ อุเทศ ๔ ไวยากรณ์ ๔ ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.
ก็คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๕ อุเทศ ๕ ไวยากรณ์ ๕ ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรม ๕ อย่าง
ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน
ในธรรม ๕ อย่างเป็นไฉน คือ ในอุปทานขันธ์ ๕
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรม ๕ อย่างนี้แล
ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน
คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๕ อุเทศ ๕ ไวยากรณ์ ๕ ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.
ก็คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๖ อุเทศ ๖ ไวยากรณ์ ๖ ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบในธรรม ๖ อย่าง
ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน
ในธรรม ๖ อย่างเป็นไฉน คือ ในอายตนะภายใน ๖
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรม ๖ อย่างนี้แล
ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน
คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๖ อุเทศ ๖ ไวยากรณ์ ๖ ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.
ก็คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๗ อุเทศ ๗ ไวยากรณ์ ๗ ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรม ๗ อย่าง
ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน
ในธรรม ๗ อย่างเป็นไฉน คือ ในวิญญาณฐิติ ๗
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรม ๗ อย่างนี้แล
ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน
คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๗ อุเทศ ๗ ไวยากรณ์ ๗ ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.
ก็คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๘ อุเทศ ๘ ไวยากรณ์ ๘ ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรม ๘ อย่าง
ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน
ในธรรม ๘ อย่างเป็นไฉน คือ ในโลกธรรม ๘
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรม ๘ อย่างนี้แล
ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน
คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๘ อุเทศ ๘ ไวยากรณ์ ๘ ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.
ก็คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๙ อุเทศ ๙ ไวยากรณ์ ๙ ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรม ๙ อย่าง
ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน
ในธรรม ๙ อย่างเป็นไฉน คือ ในสัตตาวาส ๙
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรม ๙ อย่างนี้แล
ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน
คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๙ อุเทศ ๙ ไวยากรณ์ ๙ ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.
ก็คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๑๐ อุเทศ ๑๐ ไวยากรณ์ ๑๐ ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรม ๑๐ อย่าง
ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน
ในธรรม ๑๐ อย่างเป็นไฉน คือ ในกุศลกรรมบถ ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรม ๑๐ อย่างนี้แล
ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน
คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๑๐ อุเทศ ๑๐ ไวยากรณ์ ๑๐ ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.
ปฐมมหาปัญญาสูตร จบ
(ปฐมมหาปัญญาสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๘)
< Prev | Next > |
---|