จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ขัดขวางการทำบุญ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


325 destination



สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๕ ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ
ในช่วงก่อนปีใหม่นี้ ผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่ง
ในเรื่องของการขัดขวางการทำบุญของคนอื่น
ซึ่งเห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และจะขอนำเสนอในคราวนี้ครับ


ใน “ชัปปสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต)
วัจฉปริพาชกได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า
พระสมณโคดมตรัสว่า พึงให้ทานแก่เราคนเดียว ไม่ควรให้แก่คนอื่น ๆ
พึงให้แก่สาวกของเรานี้แหละ ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของคนอื่น ๆ
ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่ให้แก่คนอื่นๆ หามีผลมากไม่
ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้น มีผลมาก
ทานที่ให้แก่สาวกของคนอื่น ๆ หามีผลมากไม่ คำเหล่านั้นเป็นจริงหรือไม่


พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบแก่วัจฉปริพาชกว่า
คำแล้วนั้นไม่เป็นจริง ไม่ได้พูดตามที่พระตถาคตพูด และเป็นการกล่าวตู่พระตถาคต
ดูกรวัจฉะ ผู้ใดห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทานอยู่
ผู้นั้นชื่อว่าย่อมกระทำอันตรายแก่วัตถุ ๓ อย่าง เป็นโจรดักปล้นวัตถุ ๓ อย่าง
วัตถุ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ย่อมทำอันตรายแก่บุญของทายก ๑
ย่อมทำอันตรายแก่ลาภของปฏิคาหก ๑
ตนของบุคคลนั้น ย่อมเป็นอันถูกกำจัดและถูกทำลายก่อนทีเดียว ๑
ดูกรวัจฉะ ผู้ใดห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทานอยู่
ผู้นั้นชื่อว่าย่อมทำอันตรายแก่วัตถุ ๓ อย่าง เป็นโจรดักปล้นวัตถุ ๓ อย่างนี้
ดูกรวัจฉะ ก็เราพูดเช่นนี้ว่าผู้ใดสาดน้ำล้างภาชนะ หรือน้ำล้างขันไป
แม้ที่สัตว์ซึ่งอาศัยอยู่ที่บ่อน้ำครำ หรือที่บ่อโสโครกข้างประตูบ้าน
ด้วยตั้งใจว่าสัตว์ที่อาศัยอยู่ในที่นั้นจงยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้นเถิด ดังนี้
ดูกรวัจฉะ เรากล่าวกรรมซึ่งมีการลาดน้ำล้างภาชนะนั้นเป็นเหตุว่า เป็นที่มาแห่งบุญ
จะป่วยกล่าวไปไยถึงในสัตว์มนุษย์เล่า
ดูกรวัจฉะ อีกประการหนึ่ง เราย่อมกล่าวว่า
ทานที่ให้แก่ท่านผู้มีศีลมีผลมาก ที่ให้ในคนทุศีล หาเหมือนเช่นนั้นไม่
ทั้งท่านผู้มีศีลนั้นเป็นผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว ประกอบด้วยองค์ ๕
ละองค์ ๕ เหล่าไหนได้ คือ ละกามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ ถีนมิทธะ ๑
อุทธัจจกุกกุจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑ ท่านผู้มีศีลละองค์ ๕ นี้ได้แล้ว
ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นไฉน คือ ประกอบด้วยศีลขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑


ประกอบด้วยสมาธิขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑
ประกอบด้วยปัญญาขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑
ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑
ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑
ท่านผู้มีศีลประกอบด้วยองค์ ๕ นี้
เรากล่าวว่า ทานที่ให้ในท่านที่ละองค์ ๕ ได้ ประกอบด้วยองค์ ๕ ดังกล่าวมีผลมาก
https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=4227&Z=4284&pagebreak=0
เช่นนี้แล้ว การขัดขวางการทำบุญของบุคคลอื่นนั้น
เท่ากับว่าเป็นการทำร้ายทั้ง ๓ ฝ่ายได้แก่
ฝ่ายผู้ให้ ฝ่ายผู้รับ และฝ่ายที่ไปขัดขวางนั้นเอง


อีกกรณีหนึ่ง ใน “อรรถกถาของลกุณฏกเถรคาถา”
(ขุททกนิกาย เถรคาถา สัตตกนิบาต) ซึ่งเล่าถึงบุพกรรมของพระภัททิยะ
โดยในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อมหาชนปรึกษาหารือกันว่าจะสร้างพระเจดีย์ว่าจะสร้างขนาดไหน
พระภัททิยะในอดีตชาตินั้นเป็นหัวหน้าช่าง
เมื่อใครกล่าวว่าควรจะสร้างขนาด ๗ โยชน์ ก็กล่าวว่าขนาดนั้นใหญ่เกินไป
เมื่อใครกล่าวว่าควรจะสร้างขนาด ๖ โยชน์ ก็กล่าวว่าแม้ขนาดนั้นก็ใหญ่เกินไป
จากนั้นคนอื่น ๆ ก็กล่าวลดขนาดลงมา ๕ โยชน์ ๔ โยชน์ ๓ โยชน์ ๒ โยชน์
เขาก็กล่าวว่าแม้ขนาดนั้นก็ใหญ่เกินไป ดังนี้
หลังจากนั้น พระภัททิยะในอดีตชาติที่เป็นหัวหน้าช่างนั้น
จึงได้เอาเชือกวงแล้วหยุดอยู่ในที่สุดคาวุตหนึ่ง
จึงกล่าวว่า ด้านหนึ่ง ๆ ได้คาวุตหนึ่ง ๆ จักเป็นเจดีย์กลมโยชน์หนึ่ง สูงโยชน์หนึ่ง
ชนเหล่านั้นก็เชื่อถือถ้อยคำของหัวหน้าช่างนั้น ๆ
ได้กระทำขนาดประมาณแห่งพระพุทธเจ้าผู้หาประมาณมิได้ด้วยประการดังนี้


ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เมื่อเขาได้ไปเกิดในที่อื่นก็เป็นผู้มีขนาดต่ำเตี้ยกว่าคนอื่น ๆ
แม้กระทั่งในชาติสุดท้ายในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าโคตม
พระเถระได้เกิดในตระกูลที่มีโภคะมากในกรุงสาวัตถี ได้มีชื่อว่าภัททิยะ
แต่เพราะกรรมที่ได้ทำการลดขนาดพระเจดีย์ที่กล่าวนั้น
ทำให้เป็นคนเตี้ย และได้ชื่อว่าลกุณฑกภัททิยะ
ลกุณฑกภัททิยะนั้นได้ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา มีศรัทออกธาบวชแล้ว
เป็นพหูสูต เป็นพระธรรมกถึก แสดงธรรมแก่คนเหล่าอื่นด้วยเสียงอันไพเราะ
ต่อมาท่านได้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมและบรรลุพระอรหันต์
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=362


อีกกรณีหนึ่งใน “อรรถกถาของโลสกชาดก”
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก)
ได้กล่าวถึงบุพกรรมของพระโลสกติสสะ ซึ่งเป็นผู้มีลาภน้อย
เนื่องด้วยในอดีตชาติ พระเถระได้กระทำอันตรายลาภของพระขีณาสพ
โดยในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระเถระเป็นเจ้าอาวาสอยู่ในหมู่บ้านได้อาศัยคฤหบดีคนหนึ่งเป็นผู้อุปัฏฐาก
ต่อมาได้มีพระขีณาสพองค์หนึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์
ได้มาถึงบ้านที่อยู่ของคฤหบดีผู้อุปัฏฐาก และได้ไปสู่วิหารของเจ้าอาวาสนั้น
ต่อมา คฤหบดีได้นิมนต์ภิกษุทั้งสองให้รับบาตรในวันรุ่งขึ้น
ฝ่ายเจ้าอาวาสคิดว่า หากพระอาคันตุกะอยู่ในวิหารนี้แล้ว
คฤหบดีย่อมไม่นับถือตนเอง


ในวันรุ่งขึ้น เจ้าอาวาสก็ตีระฆังด้วยหลังเล็บ เคาะประตูด้วยเล็บ
(กล่าวคือทำให้ไม่มีเสียงดังให้พระอาคันตุกะได้ยิน)
แล้วไปสู่เรือนของคฤหบดีโดยลำพัง
ฝ่ายพระอาคันตุกะเป็นพระขีณาสพทราบอัธยาศัยเจ้าอาวาสแล้ว
กำหนดเวลาภิกษาจารของตนแล้ว ก็ชำระสรีระของตนแล้ว
ทรงบาตรจีวร เหาะไปในอากาศ แต่ได้ไปเสียในที่อื่น


คฤหบดีได้นิมนต์เจ้าอาวาสฉันข้าวปายาสแล้ว
จากนั้น ได้รมบาตรด้วยของหอม ใส่ข้าวปายาสจนเต็ม
แล้วฝากเจ้าอาวาสนำบาตรนั้นไปถวายพระอาคันตุกะ
เจ้าอาวาสรับบาตรนั้นมา แล้วได้นำข้าวปายาสไปทิ้ง
เมื่อเจ้าอาวาสกลับไปถึงวิหาร ไม่พบเห็นพระอาคันตุกะแล้ว
จึงคิดได้ว่าพระอาคันตุกะนั้นจักเป็นพระขีณาสพ
รู้อัธยาศัยของเจ้าอาวาสแล้ว จักไปเสียที่อื่นเป็นแน่
จึงสำนึกเสียใจว่า เพราะท้องเป็นเหตุ ตนเองทำกรรมไม่สมควรเลย
ทันใดนั้นเอง ความเสียใจอย่างใหญ่หลวงก็เกิดขึ้นแก่เจ้าอาวาสนั้น
จำเดิมแต่วันนั้นไปทีเดียว ท่านก็กลายเป็นมนุษย์เปรต
อยู่มาไม่นาน ก็ตายไปเกิดในนรก


เจ้าอาวาสนั้นหมกไหม้อยู่ในนรกหลายแสนปี
เศษของผลกรรมยังนำให้ไปเกิดเป็นยักษ์ถึง ๕๐๐ ชาติ
ไม่เคยได้กินอาหารเต็มท้องสักวันเดียว (จนถึงวันจะตายจึงได้กินอิ่มวันหนึ่ง)
ถัดจากเกิดเป็นยักษ์ ก็ไปเกิดเป็นหมา ๕๐๐ ชาติ
แม้ในกาลที่เป็นหมานั้น ก็ได้กินอิ่มเต็มท้องวันเดียวเท่านั้น
ส่วนในกาลที่เหลือไม่เคยได้กินเต็มท้องเลย
ถัดจากเกิดเป็นหมา ก็มาเกิดในตระกูลคนเข็ญใจตระกูลหนึ่ง ในแคว้นกาสี
ตั้งแต่วันที่เขาเกิด ตระกูลนั้นก็ยิ่งยากจนหนักลงไปทีเดียว
แม้แต่น้ำและปลายข้าวครึ่งท้อง ก็ไม่เคยได้ เขาได้มีนามว่า “มิตตพินทุกะ”
พ่อแม่ของเขาไม่สามารถจะทนทุกข์ได้ จึงไล่ตีเขาให้จากไป
มิตตพินทุกะไม่มีที่พำนัก ได้ไปถึงบ้านชายแดนตำบลหนึ่ง รับจ้างเขาเลี้ยงชีวิต
ก็เพราะอาศัยมิตตพินทุกะนั้นเป็นต้นเหตุให้พวกชาวบ้านชายแดนนั้น
ถูกราชทัณฑ์เจ็ดครั้ง ไฟไหม้บ้านเจ็ดครั้ง บ่อน้ำพังเจ็ดครั้ง พวกเขาจึงปรึกษากันว่า
แต่ก่อน เมื่อมิตตพินทุกะผู้นี้ยังไม่มา พวกเราไม่เคยมีเรื่องอย่างนี้เลย
บัดนี้ นับแต่มิตตพินทุกะมาอยู่แล้ว พวกเราแย่ลงไปตามๆ กัน
จึงช่วยกันรุมตี ขับเขาออกไป


ในชาติสุดท้ายนี้ พระโลสกติสสะได้เกิดเป็นบุตรของชาวประมงคนหนึ่งในแคว้นโกศล
ในวันที่ท่านถือปฏิสนธิ ชาวประมงทั้งพันครอบครัวนั้นพากันถือข่ายเที่ยวหาปลา
ในลำน้ำและบ่อบึง ไม่ได้แม้แต่ปลาตัวเล็ก ๆ สักตัวหนึ่ง
และนับแต่วันนั้นมา พวกชาวประมงเหล่านั้นก็พากันเสื่อมโทรมทีเดียว
เมื่ออยู่ในท้องมารดานั้นเล่า บ้านชาวประมงเหล่านั้นก็ถูกไฟไหม้ถึง ๗ ครั้ง
ถูกพระราชาปรับสินไหมเจ็ดครั้ง ชาวประมงเหล่านั้นจึงถึงความลำบากโดยลำดับ
พวกชาวประมงคิดกันว่า เมื่อก่อนเรื่องทำนองนี้ ไม่เคยมีแก่พวกเราเลย
แต่บัดนี้ พวกเราพากันย่ำแย่ ในระหว่างพวกเราต้องมีตัวกาลกิณีคนหนึ่ง
พวกเราจงแบ่งเป็นสองพวกเถิด ดังนี้แล้ว แยกกันอยู่ฝ่ายละ ๕๐๐ ครอบครัว
แต่นั้น มารดาบิดาของเขาอยู่กลุ่มใด กลุ่มนั้นก็แย่ กลุ่มนอกนี้เจริญ
พวกที่แย่นั้น ก็แยกกลุ่มกันอีก โดยแยกกันออกเป็น ๒ กลุ่มอีก
แยกกันไปโดยทำนองนี้ กระทั่งตระกูล (ของเขา) นั่นแหละ
เหลือโดดเดี่ยว (เพียงตระกูลเดียว)
เขาทั้งหลายจึงรู้ว่า คนเหล่านั้นเป็นกาลกิณี ก็รุมกันโบยตีไล่ออกไป


มารดาได้เลี้ยงท่านมาจนถึงในเวลาที่เขาวิ่งเที่ยวไปมาได้
ก็เอากะโล่ดินเผาใบหนึ่งใส่มือให้ พลางเสือกไสไล่ไป
จากนั้น เขาก็อยู่อย่างเดียวดาย เที่ยวหากินไปตามประสาโดยลำเค็ญ
ครั้งนั้น พระธรรมเสนาบดีเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในเมืองสาวัตถี เห็นเด็กนี้แล้ว
จึงให้ออกบวช จนอายุครบจึงให้อุปสมบท ท่านได้ชื่อว่า "พระโลสกติสสะ"
เล่ากันว่า ท่านไม่เคยได้ฉันเต็มท้อง ได้ขบฉันเพียงพอจะสืบต่อชีวิตไปได้เท่านั้น
โดยสมัยต่อมา ท่านเจริญวิปัสสนา แม้จะดำรงในพระอรหัตต์อันเป็นผลชั้นยอด
ก็ยังคงมีลาภน้อย ครั้นเมื่ออายุสังขารของท่านล่วงโรยทรุดโทรมลงโดยลำดับ
ก็ถึงวันเป็นที่ปรินิพพาน ท่านพระธรรมเสนาบดีก็รู้ถึงการปรินิพพานของพระเถระ
จึงดำริว่า วันนี้ พระโลสกติสสะนี้จักปรินิพพาน
ในวันนี้ ควรให้อาหารแก่พระเถระจนพอ
ดังนี้ แล้วพาพระโลสกติสสะเข้าไปสู่เมืองสาวัตถี เพื่อบิณฑบาต
แต่เพราะเหตุว่าได้พาพระโลสกติสสะไปด้วย
พระธรรมเสนาบดีจึงไม่ได้อาหารในเมืองสาวัตถีเลย
แม้ว่าจะมีผู้คนมากมายในเมืองสาวัตถีก็ตาม


ท่านพระธรรมเสนาบดีจึงให้พระโลสกติสสะไปนั่งรอที่โรงฉัน
เมื่อท่านพระธรรมเสนาบดีได้ไปบิณฑบาต โดยไม่มีพระโลสกติสสะแล้ว
เหล่าประชาชนก็พากันนิมนต์ท่านให้นั่งอาสนะและให้ฉันภัตตาหาร
ท่านพระธรรมเสนาบดีจึงได้ส่งอาหารที่ได้แล้วนั้นให้แก่คนเหล่านั้น
โดยบอกว่าพวกเธอจงนำภัตตาหารนี้ไปให้แก่พระโลสกติสสะ
เหล่าคนที่รับภัตตาหารนั้นไปก็ต่างลืมพระโลสกติสสเถระและกินกันเองจนหมด


ต่อมา ท่านพระธรรมเสนาบดีได้กลับไปและพบพระโลสกติสสะ
จึงได้สอบถามว่า “อาวุโส คุณได้อาหารแล้วหรือ?”
พระโลสกติสสะตอบว่า “ยังไม่ได้ครับ”
ท่านพระธรรมเสนาบดีดูเวลา เห็นว่ากาลก็ยังไม่ล่วงเลย
จึงกล่าวให้พระโลสกติสสะนั่งรอในโรงฉัน แล้วก็ไปสู่พระราชวังของพระเจ้าโกศล
พระราชารับสั่งให้รับบาตรของท่านพระธรรมเสนาบดี
และรับสั่งให้ถวายของหวาน ๔ อย่างจนเต็มบาตร
ท่านพระธรรมเสนาบดีรับบาตรกลับไปถึงโรงฉัน จึงเรียกพระโลสกติสสะว่า
“มาเถิด ผู้มีอายุติสสะ ฉันของหวาน ๔ อย่างนี้เถิด แล้วถือบาตรยืนอยู่”


ท่านพระโลสกติสสะยำเกรงท่านพระธรรมเสนาบดี จึงไม่ฉัน
ลำดับนั้น ท่านพระธรรมเสนาบดีกล่าวกะท่านว่า มาเถิด ท่านผู้มีอายุติสสะ
ผมจะยืนถือบาตรไว้ คุณจงนั่งฉัน ถ้าผมปล่อยบาตรจากมือ บาตรต้องไม่มีอะไร
ลำดับนั้น ท่านพระโลสกติสสะ เมื่อพระธรรมเสนาบดีผู้เป็นอัครสาวกยืนถือบาตรไว้ให้
จึงนั่งฉันของหวาน ๔ อย่าง ของหวาน ๔ อย่างนั้นไม่ถึงความหมดสิ้น
ด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ของท่านพระธรรมเสนาบดี
พระโลสกติสสะฉันจนเต็มความต้องการในเวลานั้น
ในวันนั้นเอง พระโลสกติสสะก็ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ดังนี้ ขึ้นชื่อว่า การกระทำอันตรายแก่ลาภของผู้อื่น
พึงทราบว่า มีโทษใหญ่หลวงอย่างนี้
https://84000.org/tipitaka/atita100/jataka.php?i=270041



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP