สารส่องใจ Enlightenment

วิธีสร้างพลังจิตปราบขันธมาร (ตอนที่ ๔)



พระธรรมเทศนา โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา



วิธีสร้างพลังจิตปราบขันธมาร (ตอนที่ ๑) (คลิก)
วิธีสร้างพลังจิตปราบขันธมาร (ตอนที่ ๒) (คลิก)
วิธีสร้างพลังจิตปราบขันธมาร (ตอนที่ ๓) (คลิก)



ทำไมขันธมารมันจึงแสดงออกมาให้ปรากฏ และกิเลสมารก็มาย้ำเข้าไปอีก
กิเลสทั้งหลายนี่มันกลัวเราจะหนีจากมัน
เพราะฉะนั้น มันจึงแสดงฤทธิ์มาขัดขวางเรา
เราจะต้องปราบมันด้วยความอดทน ด้วยความอดกลั้น
ด้วยความทนทาน ด้วยความมีสติสัมปชัญญะ
จนกระทั่งจิตเข้าสู่สมาธิ กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ
แถมมีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง
นั่นแหละเราจึงจะปราบขันธมารให้ผ่านพ้นไปได้ นี่ต้องพยายามเอาตรงนี้ให้ได้
ถ้าหากตราบใดเราเอาสมาธิในขั้นต้นนี้ไม่ได้แล้ว เราพูดไม่รู้ภาษากันหรอก
อย่ามัวแต่ว่าฉันก็เก่งเธอก็เก่ง พอหันหน้าเข้ามาแล้วทะเลาะโต้เถียงกันอุตลุด


เพราะฉะนั้น ใครยึดหลักการปฏิบัติแบบไหนอย่างไร ก็ให้มันแน่วแน่
พุทโธก็พุทโธไป ยุบหนอพองหนอก็ยุบหนอพองหนอไป สัมมาอรหังก็สัมมาอรหังไป
วิธีการปฏิบัติไม่มีเฉพาะแค่ ๓ อย่างที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น
บางทีถ้าขี้เกียจนึก เราอาจจะนั่งหลับตา ทำใจให้มันอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องตั้งใจไปคิดมัน
แต่ถ้ามันคิดแล้วกำหนดสติรู้ทันที คิดแล้วรู้ทันทีๆ
ไล่ตามมันไปอย่างนี้ มันก็สบายดีเหมือนกัน
ลองดูซิว่ามันจะเข้าไปสู่สมาธิได้หรือเปล่า



แต่คนทั้งหลายเขาว่าอย่างนี้ หลวงพ่อเคยเทศน์ว่าขณะที่บริกรรมภาวนาอยู่
ถ้าจิตอยู่กับบริกรรมภาวนาปล่อยให้มันอยู่ไป
แต่ถ้ามันทิ้งบริกรรมภาวนาไปคิดอย่างอื่น ก็ควรปล่อยให้มันไปบ้าง
แต่อย่าลืมทำสติกำหนดตามรู้มันเรื่อยไป
มีพระองค์หนึ่งบอกว่า ทำอย่างนั้นมันก็ยิ่งฟุ้งใหญ่ซิ เขาว่าอย่างนั้น
เราลองดูว่ามันจะฟุ้งไหม
ถ้าเราจะคิดว่าในขณะใดที่เราบังคับจิตของเราให้หยุดนิ่ง
หรืออยู่กับบริกรรมภาวนาไม่ได้
ถ้าเราจะคิดว่า เอ้า! แกจะคิดไปถึงไหนฉันจะตามดูแก
แกจะลงห้วยลงเหว ขึ้นฟ้าขึ้นสวรรค์ลงนรกฉันจะตามแกไป ไปจนสุดกำลังนั่นแหละ
ลองดูซิโอกาสที่จิตมันจะสงบเป็นสมาธิ เพราะการตามดูอารมณ์จิตนี่มันจะมีได้ไหม!
โอ๊ย! อันนี้มีแต่จะไปเชื่อคนอื่นเขา
คนว่าภาวนาพุทโธๆ พุทโธ จิตมันจะสงบ สว่าง มีสมาธิ มีปีติ มีความสุขก็ไปเชื่อ
ทั้งที่ตัวเองก็ทำไม่ได้ แล้วก็ไปยึดอยู่นั่นแหละ
ทีนี้ทีหลังมาคนอื่นเขาว่ายุบหนอพองหนอๆ ยุบหนอพองหนอ
จิตเขาสงบ นิ่ง ว่าง สว่าง มีปีติ มีความสุข
พอได้ยินเขา ตัวไม่เคยยุบเคยพองกับเขา ก็หาว่าเขาปฏิบัติไม่ถูกเหมือนกัน


นักปฏิบัติของเราอย่าเป็นเช่นนั้น ให้พยายามทำใจให้มันเป็นกลาง
ต่อวิธีการปฏิบัติที่กล่าวๆ ที่เถียงๆ กัน ขัดกัน แย้งกันอยู่นั่นน่ะ
เป็นแต่เพียงไปยึดอยู่ที่วิธีการเท่านั้นเอง
เช่นอย่างบางทีทางท่านก็ว่าภาวนาพุทโธๆ
จิตมันสงบเป็นสมถะเท่านั้น ไม่ถึงวิปัสสนา
บางทีของท่านภาวนายุบหนอพองหนอ จิตสงบวูบลงสว่างโพลงถึงวิปัสสนาแล้ว
ภาวนาพุทโธจิตสงบวูบลงนิ่งสว่างโพลงเป็นสมถะ
แล้วทีนี้เมื่อภาวนา ๒ อย่างนี้ เวลาจิตมันสงบแล้ว จิตมันเหมือนๆ กันนี่
จะเรียกว่าอะไรเป็นสมถะ อะไรเป็นวิปัสสนา
จิตสงบนิ่งรู้อยู่ที่จิตเพียงอย่างเดียว หรือไปรู้อยู่ในสิ่งสิ่งเดียว
มันเป็นสมถะทั้งหมดนั่นแหละ
ทีนี้จิตที่สงบลงเป็นสมถะนั้น มันก็มีวิปัสสนาอยู่ด้วยกันนั่นแหละ
มันมีอยู่ด้วยกันอย่างไร



ประการแรก เราจะได้รู้ว่าสภาพจิตนี่ ถ้าเราฝึกฝนอบรมแล้วมันเปลี่ยนได้
เปลี่ยนจากความวุ่นวายไปสู่ความสงบเยือกเย็น
เปลี่ยนจากความเดือดร้อนไปสู่ความสุขความเยือกเย็น
เพียงแค่นี้ก็มองเห็นแล้วว่ามันเปลี่ยนแปลงไป
ถ้าจิตไปกำหนดหมายความเปลี่ยนแปลง มันกำหนดรู้อนิจจังแล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใครมีจิตสงบเป็นสมาธิ
นิ่งลงไปสว่างโพลงขึ้นมา ก็รู้ทันทีว่านี้คือสมาธิ
ความสงบนิ่งของจิตเป็นสมาธิคือสมถะ
ความรู้ว่าสมาธิเป็นอย่างนี้ จิตสงบเป็นสมถะเป็นอย่างนี้ สมาธิเป็นอย่างนี้
ความรู้แจ้งเห็นจริงหายสงสัยนั่นคือวิปัสสนา
จะไปเที่ยวถกเถียงกันให้มันปวดสมองทำไม



ทีนี้การแก้ปัญหาเรื่องธรรมะต่างๆ นี่แก้กันที่ตรงไหน
แก้กันที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

“จักขุนา สังวโร สาธุ” การสำรวมตาเป็นการดี
“โสเตนะ สังวโร สาธุ” การสำรวมหูเป็นการดี
“ฆาเนนะ สังวโร สาธุ” การสำรวมจมูกเป็นการดี
“ชิวหายะ สังวโร สาธุ” การสำรวมลิ้นเป็นการดี
“กาเยนะ สังวโร สาธุ” การสำรวมกายเป็นการดี
“มนสา สังวโร สาธุ” การสำรวมใจเป็นการดี
“สัพพัตถะ สังวโร ภิกขุ” ภิกษุสำรวมในที่ทั้งปวงย่อมพ้นจากทุกข์ มันพ้นอย่างไร
สำรวมตานี่สำรวมอย่างไร มีตาแล้วไม่ดูอย่างนั้นหรือ
ไม่ใช่! ดู แต่ต้องให้มีสติ อย่าให้มันเป็นตาหาเรื่อง
หูได้ยินเสียงก็อย่าให้เป็นหูหาเรื่อง จมูกก็อย่าให้เป็นจมูกหาเรื่อง
ลิ้นก็อย่าให้เป็นลิ้นหาเรื่อง กายก็อย่าให้เป็นกายหาเรื่อง


ประเดี๋ยวยกตัวอย่างเช่นพระเถระกรรมฐานใหญ่โตเดินมา
เขาจัดกุฏิร้างๆ ให้พัก ก็ว่าเขาทำไม่สมเกียรติสมยศเรา
แน่ะ! กายมันเป็นกายหาเรื่อง มันอยากนอนที่ดีๆ
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมนี่อยู่ที่การฝึกสติสัมปชัญญะ
ให้รู้พร้อมอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
สามารถแก้ไขปัญหาและชีวิตปัจจุบันนี้ได้เป็นอย่างดี
นั่นแหละคือความมีสติปัญญา ความรู้แจ้งเห็นจริง
รู้ว่าอะไรเป็นบาป รู้ว่าอะไรเป็นบุญ
แก้บาปให้มันมากๆ เพิ่มบุญให้มันมากๆ มันก็เป็นการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
แต่มันอยู่ที่ความตั้งใจนะ พระพุทธเจ้าท่านบอกแล้วว่า
“อักขาตาโร ตถาคตา” ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอก ใครจะได้ดิบได้ดีทำเอา


(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก พระธรรมเทศนา “วิธีสร้างพลังจิตปราบขันธมาร” ใน หลวงพ่อสอนธรรม
ธรรมเทศนา โดย พระภาวนาพิศาลเถร (พุธ ฐานิโย)
. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์
; 2533.


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP