จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เหยื่อของความขัดแย้ง


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



323 destination



เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ ที่ผ่านมามีข่าวสำคัญที่น่าสนใจข่าวหนึ่งคือ
ประธานาธิบดีอเมริกาและประธานาธิบดีรัสเซียได้ร่วมประชุมออนไลน์
เพื่อหารือกันในเรื่องเกี่ยวกับอนาคตของยูเครน ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจในข่าวนี้ก็คือ
ไม่มีประธานาธิบดีของยูเครนหรือตัวแทนของยูเครนร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย
การประชุมดังกล่าวจึงแสดงความจริงของโลกใบนี้ให้เห็นว่า
ประเทศมหาอำนาจสองประเทศร่วมประชุมกันเกี่ยวกับอนาคตของประเทศหนึ่ง ๆ
แต่ประเทศดังกล่าวไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมหรือตัดสินใจในการประชุมนั้นด้วย
เมื่อเห็นกรณีนี้แล้ว ก็พึงเข้าใจว่าประเทศไทยเองก็ไม่ได้แตกต่างกันครับ
โดยประเทศไทยก็เป็นหมากตัวหนึ่งที่ร่วมอยู่ในกระดานหมากรุกโลกกระดานนี้ด้วย
เช่นนี้แล้ว เหตุการณ์หลาย ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเรา
ย่อมจะไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือตามปัจจัยในประเทศไทยเท่านั้น
แต่ย่อมเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยภายนอกประเทศ
หรือเป็นผลกระทบสืบเนื่องจากการขยับหมากต่าง ๆ ในกระดานหมากรุกโลกนี้ด้วย
https://mgronline.com/around/detail/9640000121249
Biden warns Putin of sanctions, aid for Ukraine military if Russia invades


ในกรณีที่เรามองเหตุการณ์ด้วยมุมมองที่แตกต่างกันแล้ว
ย่อมจะทำให้เรามองหรือเห็นแตกต่างกันต่อเหตุการณ์นั้น ๆ กันได้
ยกตัวอย่างเช่น หากเรามองว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งในประเทศไทยในขณะนี้
ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยในประเทศไทยเท่านั้น
เราก็ย่อมจะเห็นว่า พวกเราควรจะสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาได้
แต่หากเรามองว่า ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยในประเทศไทยเท่านั้น
แต่เป็นเพราะมีเหตุปัจจัยจากต่างประเทศมาร่วมด้วย
เราก็ย่อมจะเห็นอีกแบบหนึ่งว่า พวกเราอาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
แต่เราอาจจะต้องอยู่กับปัญหานี้ไปเรื่อย ๆ
ตราบเท่าที่ยังมีเหตุปัจจัยนอกประเทศที่ก่อปัญหา
หรือหากเรามองว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามปกติของสังคมมนุษย์
ซึ่งไม่ว่าจะมีสังคมมนุษย์ (ซึ่งเป็นเหล่าปุถุชน) ที่ไหนแล้ว
ก็ย่อมจะมีความขัดแย้งหรือวุ่นวายตามมาเป็นธรรมดาแล้ว
เราก็ย่อมจะเห็นอีกแบบหนึ่งว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
ในมุมมองที่แตกต่างกันข้างต้นนี้ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อความรู้สึก
และความสุขทุกข์ในใจเราที่แตกต่างกันไปด้วย


นอกจากนี้ ในช่วงต้นเดือนตุลาคม ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา มีข่าวหนึ่งที่น่าสนใจว่า
ฟรานเซส เฮาเกน (Frances Haugen) อดีตพนักงานของเฟซบุ๊ก
ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า เฟซบุ๊กต้องการสร้างกำไรจากแพลตฟอร์มของตนเอง
จนถึงขั้นใช้อัลกอริทึมที่ส่งเสริมถ้อยคำโจมตี (Hate Speech) ด้วย
เฮาเกนได้เปิดเผยถึงการให้อัลกอริทึมแสดงเนื้อหาที่กระตุ้นอารมณ์โกรธของผู้ใช้มากขึ้น
เนื่องจากเนื้อหาเหล่านั้นสามารถเพิ่มยอดการเข้าถึงและยอดผลตอบรับจากผู้ชมที่มีต่อเนื้อหาได้ดีที่สุด
หลังจากนั้นก็สามารถเปลี่ยนยอดเหล่านั้นเป็นเม็ดเงินในการโฆษณา
โดยงานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า เนื้อหาที่แสดงความเกลียดชัง สร้างความแตกแยก
หรือแบ่งข้างสามารถทำให้ผู้คนโกรธได้ง่ายกว่าอารมณ์อื่น ๆ
เฮาเกนระบุว่า หากเปลี่ยนอัลกอริทึมให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น
ผู้คนจะใช้เวลาบนแพลตฟอร์มน้อยลง ผู้คนจะคลิกโฆษณาน้อยลง
และพวกเขาจะสร้างรายได้ได้น้อยลง
https://themomentum.co/tech-facebook-whistleblower/
ซึ่งต่อมา มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กก็ได้ออกแถลงการณ์
ปฏิเสธข้อกล่าวหาของฟรานเซส เฮาเกนทั้งหมดว่าไม่เป็นความจริงอย่างสิ้นเชิง
https://www.springnews.co.th/news/816722


ในเรื่องนี้โดยสรุปแล้วจะเป็นความจริงหรือไม่เพียงไร
ก็เป็นเรื่องที่ทางหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะทำการตรวจสอบและหาข้อสรุปกันต่อไป
แต่ในแง่ของพวกเราเองที่เป็นผู้ใช้งานระบบโซเชียลมีเดียไม่ว่าในระบบใดก็ตาม
ก็พึงที่จะต้องระมัดระวังไม่ตกเป็นเหยื่อของการมุ่งสร้างความโกรธ
หรือสร้างความขัดแย้งในเรื่องต่าง ๆ ในสังคม
เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ประเทศใหญ่ย่อมจะต้องการแทรกแซงประเทศเล็ก
หรือเรื่องระบบโซเชียลมีเดียต้องการที่จะสร้างความโกรธหรือขัดแย้ง
เพื่อปั่นยอดการใช้งานระบบโซเชียลมีเดียก็ตาม
การที่เราแห่ตามไปโมโหโกรธด้วยนั้น เราเองย่อมจะมีแต่อกุศล
และก็ย่อมจะตกเป็นเหยื่อแห่งความขัดแย้งนั้น ๆ ด้วย
ดังที่เราจะเห็นในระบบโซเชียลมีเดียนะครับว่า
บางคนอาจจะไม่ได้รู้จักกันเลยด้วยซ้ำ แต่เมื่อความเห็นไม่ตรงกัน
กลับใช้วาจาด่าว่าทิ่มแทงทำร้ายกันอย่างรุนแรง
ซึ่งก็เป็นการสร้างไม่พอใจ หรือความเจ็บให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง
แต่ที่สำคัญคือ เป็นการสร้างบาปอกุศลแก่ตนเอง
ส่วนฝ่ายที่ได้ประโยชน์นั้นก็คือ บุคคลภายนอกที่สร้างความขัดแย้งเหล่านี้
เช่นนี้แล้ว เราก็พึงมีสติในการมองสถานการณ์ความขัดแย้งเหล่านี้
และใช้ระบบโซเชียลมีเดียอย่างมีสติระมัดระวัง
โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งต่าง ๆ ครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP