จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๓๒๐ วิธีลดระดับความโกรธ



320 talk



อยากเป็นคนดี อยากมีใจใสๆ
ไม่อยากมีความโกรธ
เป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจไปจนตาย
ต้องทำอย่างไร?
สำหรับผู้ที่ยังเป็นปุถุชน
คนดี ใช่ว่าไม่มีโกรธ
แต่โกรธแล้วรู้ว่าโกรธ
โกรธแล้วไม่หลงตามโกรธ
นั่นแหละ ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


วิธีลดระดับความโกรธ
ให้เบาบางตามลำดับ
เรียงจากง่ายไปหายาก ดังนี้


๑) ไม่ลงมือทำอะไร
ตามแรงขับดันของโทสะ
เช่น ไม่ลงส้นปึงปัง ขว้างปาข้าวของ
ถลึงตาขู่ ปล่อยหมัดกระแทกคู่กรณี
แม้อยากทำใจจะขาด เป็นต้น


หากตั้งใจกันจริงๆ คุณจะพบว่า
ความเคลื่อนไหวทางกายนั้นเชื่องช้า
กินเวลา ต้องใช้ท่างอๆเหยียดๆมากมาย
สู้จิตไม่ได้
แค่ตั้งใจ ‘หยุด’
ภายในเสี้ยววินาทีเดียว
ทุกกระบวนท่าทางกายจะชะงักลงหมด
คุณจะพบว่า
ที่จริงแล้ว ธรรมชาติเปิดโอกาส
ให้ยับยั้งชั่งใจตั้งนาน
ก่อนที่กายจะประกอบกรรม
อันเจืออยู่ด้วยโทสะได้สำเร็จ
แต่คนเราไม่สังเกตกันเอง


ขอให้ลงตั้งสัตย์กับตนเองเถิด
เลิกทำ เลิกปล่อยกายไปตามใจ
เพียงเท่านี้สักอาทิตย์เดียว
ก็จะพบว่าแม้ใจร้อนก็ไม่ร้อนเท่าเก่า
ลดระดับลงจากน้ำเดือดเป็นน้ำอุ่นได้แล้ว


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


๒) ไม่เปิดปากพ่นพิษจากเชื้อโทสะ
ทั้งคำด่าทอ คำหยาบคาย
หรือแม้คำเหน็บแนมกระทบกระเทียบ
จงงดให้หมดสิ้น


หากเปลี่ยนใจมาเก็บปากเก็บคำ
แม้จำเป็นต้องพูดขณะโกรธ
ก็คุมคำพูดให้ฟังดี
เลือกคำด้วยเจตนาประนีประนอม
เลิกคิดปราบศัตรูภายนอก
กลับลำหันมาปราบผีร้ายในปากตัวเอง


เพียงเท่านี้สักสองสามวัน
ก็จะพบว่าความคิดมาก
ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และความหงุดหงิด
ที่เป็นเงาตามตัวคุณไปทุกหนทุกแห่ง
ก็แผ่วลงถนัด
แม้ใจยังกวัดแกว่ง ก็ไม่เท่าเก่า
ลดระดับลงจากพายุกรรโชก
เป็นลมแรงธรรมดาได้แล้ว


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


๓) ไม่ปล่อยให้ใจ
หลงถลำคิดไปเรื่อย
ด้วยแรงขับดันของโทสะ
นั่นคือ โกรธแล้วมีสติรู้ตัวว่าโกรธ
เห็นความโกรธว่า
เป็นธรรมชาติกดดันจิต
และสภาวะที่กดดันจิตนั้นไม่คงที่
เดี๋ยวมีแรงอัดมาก เดี๋ยวมีแรงอัดน้อย
สั่งไม่ได้ว่า
จงลดระดับความกดดันลงเดี๋ยวนี้
หรือแม้อยากหน่วงเหนี่ยวความกดดันไว้
ก็ไม่ได้อีกเช่นกัน


เมื่อฝึกสติเห็นความโกรธ
เป็นของไม่เที่ยง ต้องมีขึ้นมีลง
ได้สักร้อยครั้งพันหน
ในระยะยาวคุณจะพลิกสถานการณ์
ยิ่งเคยร้อนเท่าไร
จิตก็จะเย็นเป็นตรงข้ามเท่านั้น
คุณจะเกิดปัญญารู้เห็นแจ่มแจ้งว่า
ความโกรธไม่น่ายึด ไม่น่าหลงตาม


ที่ตรงนั้น
คุณจะสูญเสียความเชื่อว่า
ต้องโกรธจึงจะเหมาะ
สูญเสียความยึดมั่นถือมั่นว่า
ต้องตอบสนองด้วยอาการเร่าร้อน
แล้วได้นิสัยใหม่มาแทน
คือเชื่อว่าต้องอภัยจึงเหมาะ
ต้องปล่อยวางความคิดเอาคืนจึงควร


ฝึกสติถึงจุดหนึ่งจะพบว่า
ปัญญารู้แจ้งปล่อยวางความโกรธ
ไม่ใช่แค่การคิดๆเอา
แต่เป็นสภาพของจิตเอง
ที่ตีตัวออกห่างจากความโกรธตั้งแต่ในมุ้ง


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


สรุปง่ายๆว่า
อย่าปล่อยให้เกิดความโกรธแบบสูญเปล่า
ใช้ประโยชน์จากความโกรธให้เต็มที่
ตามนัยวิธีที่แสดงไว้ข้างต้นนั่นแหละ
ถ้าโกรธแล้วมีสติเท่าทันได้ตามลำดับ
ก็เข้าขั้นสร้างเชื้อสายอริยเจ้า
ไว้ในตนทีเดียว!


ดังตฤณ
พฤศจิกายน ๒๕๖๔







review


คำว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" มีความหมายว่าอย่างไร
และต้องปฏิบัติเช่นใดจึงจะพ้นจากกิเลสทั้งปวงได้
ติดตามได้จากพระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เรื่อง "แก้วอัศจรรย์สามดวง (ตอนที่ ๓)" ในคอลัมน์ "สารส่องใจ"


เมื่อฝึกพิจารณาความตายของตนเองพบว่าทำใจยอมรับได้
แต่เมื่อคิดถึงความตายของพ่อแม่กลับไม่ยอมปล่อยวาง เกิดจากสาเหตุใด
หาคำตอบได้ในคอลัมน์"ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน"ทำอย่างไรจึงจะเจริญมรณสติได้ถูกต้อง"


จะวางตัวอย่างไรให้เป็นสุข และไม่ต้องตกงาน
เมื่อต้องกลายเป็นลูกน้องที่เจ้านายไม่เอ็นดู
ติดตามได้จากกรณีศึกษาในคอลัมน์"โหรา (ไม่) คาใจ"
ตอน "หัวหน้าโกรธ (อย่า) โกรธตอบ"


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP