สารส่องใจ Enlightenment

แก้วอัศจรรย์สามดวง (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๖




แก้วอัศจรรย์สามดวง (ตอนที่ ๑) (คลิก)



พระพุทธเจ้าก่อนที่จะมาตรัสรู้ในชาติปัจจุบันเรานี้
ท่านสลบสามหน ยากหรือไม่ยากการฆ่ากิเลส
การทำคนให้ดียากหรือไม่ยาก ไม่มีอะไรทำยากยิ่งกว่าการทำคนให้ดี
และไม่มีอะไรยาก ไม่มีการสอนใครยากยิ่งกว่าสอนคน
สอนคนคือสอนใคร ก็สอนเราละซิ เราต้องสอนเราเสียก่อน
พระพุทธเจ้าสอนพระองค์สลบสามหนเห็นไหม
แม้ที่ไม่ถึงขั้นสลบไสลก็ล้วนแต่เป็นทุกข์ทรมานเพราะการฝึกทรมานอยู่นั่นแล
อย่าเข้าใจว่าท่านไม่ทุกข์
พระสาวกแต่ละองค์ย่อมได้รับความทุกข์ทรมานเพราะการฝึกทรมานเช่นเดียวกัน
เป็นแต่ไม่ได้จดจารึกไว้หมดเท่านั้น บางองค์ฝ่าเท้าแตก บางองค์จักษุแตก
เห็นไหมในตำรับตำรา ยากหรือไม่ยากสอนมนุษย์ ฝึกฝนทรมานมนุษย์น่ะ
เราต้องคิดเพื่อเป็นแบบฉบับ แม้ได้น้อยก็ยังดีกว่าไม่ได้สนใจคิดเสียเลย



เวลาสอนเราจะให้ง่ายๆ เหมือนปอกกล้วยหอมได้ยังไง
ศาสนาไม่ใช่ศาสนากล้วยหอม
กิเลสไม่ใช่กล้วยหอมพอจะปอกเอาๆ กินเอากลืนเอาอย่างนั้นน่ะ เอาไปพิจารณาซิ
การสั่งสอนที่ยากที่สุดก็คือสั่งสอนเราฝึกเรา ยากที่สุดฝึกคนคนนี้
เมื่อเวลาฝึกดีแล้วก็เยี่ยมที่สุด ไม่มีอะไรเยี่ยมยิ่งกว่าคนที่ฝึกตนดีแล้ว
พากันจดจำไปปฏิบัติต่อตัวเองให้เป็นคนดี



ข่าวร่ำลือเหลือเกิน ได้ยินน่ะหลวงตาบัว
เพราะกิริยาที่ว่าดุนั้นออกจากปากหลวงตาบัว แล้วก็ย้อนกลับมาเข้าหูหลวงตาบัว
ใครก็ว่าหลวงตาบัวดุๆ เราหาเหตุผลไม่ได้ว่าเราดุคนเพราะเหตุผลกลไกอะไร
ตัวเราเองก็ฝึกตัวเรามาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ฝึกพระองค์มาอย่างนั้น
พระองค์ก็ดีด้วยการฝึกการทรมาน ควรหนักต้องหนัก ควรเบาต้องเบา
พระองค์ได้เป็นพระพุทธเจ้าเพราะการฝึกด้วยแง่หนักเบา
ตามเรื่องของสิ่งชั่วช้าต่ำทราม ซึ่งมีกำลังมากน้อย
แง่ของธรรมเครื่องฝึกเครื่องปราบปรามก็ต้องให้หนักเบาตามๆ กัน
จนกิเลสประเภทต่างๆ สู้กำลังของธรรมไม่ได้ ขาดหลุดลอยออกจากพระทัยไม่มีเหลือ
จึงได้ผุดขึ้นมาเป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยการฝึกการทรมาน



พระธุดงคกรรมฐานทั้งหลายที่หนักแน่นในธรรม และเป็นครูเป็นอาจารย์ของเรา
ล้วนแต่ผ่านชีวิตเดนตายมาทั้งนั้น แล้วดุอะไรพิจารณาซิ ท่านดุอะไร
ถ้าการดุเป็นความผิดความเสียหาย
ท่านทำไมไม่ล่มจมฉิบหายไปก่อนที่ประชาชนพระเณรจะได้กราบท่าน
ท่านควรจะฉิบหายเพราะท่านเป็นตัวดุเจ้าของก่อนมาดุพวกเรา
การสั่งสอนโลกสั่งสอนประชาชน
อุบายวิธีการยังไงที่ท่านเคยได้รับผลได้รับประโยชน์จากการทรมานการฝึกฝนท่านมา
ท่านก็นำอุบายนั้นมาสอนเราแล้วมันผิดไปตรงไหน
ตัวกิเลสนั่นแบกมาๆ ไม่ได้มองดูอรรถดูธรรมเลย
เอะอะก็ว่าแต่ท่านดุ อะไรก็ท่านดุ
ให้กิเลสเอาเป็นเครื่องมือเสียแหลกๆ ธรรมหาทางก้าวเดินไม่ได้เลย
แล้วจะไปหาผลประโยชน์อะไรจากผู้ใด จากครูอาจารย์ใด
จึงจะเหมาะกับกิเลสที่บงการอยู่บนหัวใจ



ไปไหนก็มีแต่กิเลสมันขวางหน้าๆ เสีย
ไปวัดนั้นว่าเป็นอย่างนั้น ไปวัดนี้ว่าเป็นอย่างนี้
ไปดูพระองค์นั้นเป็นอย่างงั้น พระองค์นี้เป็นอย่างงี้
ตัวเองเป็นยังไงไม่ดูไม่คิดบ้างเลย มันได้ประโยชน์อะไร
ไปหาดูแต่นอกๆ ไม่สนใจดูตัวเอง
เท้าสะดุดรากไม้หัวตออยู่ตลอดเวลาจนล้มลุกคลุกคลาน
ไม่ดูที่สะดุด ดูแต่ต้นไม้ภูเขาดินฟ้าอากาศโน่น อวกาศโน่น
แต่หัวตอที่จะให้โดนสะดุดหัวแม่เท้าอยู่ไม่สนใจดู
ความผิดมันอยู่กับเจ้าของ ไม่ได้อยู่ที่รากไม้หัวตอ
จึงควรดูเจ้าของมากกว่าดูสิ่งอื่นใด



เราเป็นมนุษย์ผู้ฉลาดและเป็นชาวพุทธ ต้องดูตัวของตัวเสมอเพื่อรู้จุดบกพร่อง
จะได้แก้ไขดัดแปลงให้ดี ไม่งั้นไม่ได้เรื่องได้ราวอะไรนะ
ศาสนากระเทือนโลกมาได้ ๒๕๐๐ กว่าปีนี้สำหรับพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันของเรา
ศาสนาพุทธกับเราชาวพุทธได้กระเทือนใจของเราบ้างไหมเป็นยังไง
มีแต่ สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม สวดกันไปเปล่าๆ ไม่ได้สนใจอรรถสนใจธรรม
ไม่ได้สนใจประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจะปรากฏได้ยังไง ก็มีแต่ลมปากน่ะซิ
ศาสนาก็มีแต่ตำราเขียนไว้ในตำราเต็มไปหมด
แต่ศาสนาที่แท้จริงซึ่งจะปรากฏขึ้นในใจไม่มี
มีแต่กิเลสเต็มหัวใจ บรรจุอยู่เต็มหัวใจ
มีแต่กิเลสไม่ได้มีธรรมบรรจุบ้างเลยเกิดประโยชน์อะไร
เอาไปพิจารณาดู ถ้าอยากทราบข้อเท็จจริงของศาสนาและสวากขาตธรรมประจักษ์ใจ



ธรรมพระพุทธเจ้ากระเทือนโลกมา ๒๕๐๐ กว่าปีนี้แล้ว
สอนใจมนุษย์แท้ๆ ไม่ได้สอนอะไรที่ไหน ให้ผิดจากหลักธรรมและวิธีการสั่งสอน
เอาไปพินิจพิจารณาดูซิให้เกิดผลเกิดประโยชน์
อะไรจะเลิศยิ่งกว่ามนุษย์เราในโลกนี้
ฝึก
….อยากดีต้องฝึก ควรหนักต้องหนัก ควรเบาต้องเบา
เราเป็นคนฉลาดคนหนึ่งจะให้กิเลสมันเหยียบหัวเราอยู่ทำไมนักหนา
กิเลสมันฉลาดก็รู้ว่ามันฉลาดอยู่แล้ว
ธรรมยังฉลาดเหนือกิเลสอีกนี่ เอามาเหยียบหัวมันให้แหลกลงไปซิ
กิเลสแตกจากหัวใจแล้วอยู่ไหนอยู่เถอะสบายทั้งนั้นมนุษย์เรา


ไม่ได้สนใจกับดินฟ้าอากาศ ไม่สนใจกับความมีความจน
ไม่สนใจกับการเกิดการตาย ตายแล้วจะไปเกิดที่ไหน
ไปตกนรกหมกไม้ ไปสวรรค์ชั้นพรหมที่ไหน
นิพพานที่ไหนไม่ต้องถาม รู้อยู่ในหัวใจนี้เสร็จหมดแล้ว
ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ
นี่อันหนึ่ง สนฺทิฏฺฐิโก นี้อันหนึ่ง
พระพุทธเจ้าแสดงไว้อย่างสดๆ ร้อนๆ สำหรับผู้ปฏิบัติจะได้รู้ได้เห็นในหัวใจตนเอง
รู้นี่แล้วไม่ต้องถามใคร แม้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ต่อหน้าก็ไม่ทูลถาม
เพราะธรรมที่รู้อยู่ภายในใจกับ สนฺทิฏฺฐิโก เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ก็คือองค์ศาสดาอยู่แล้ว



เช่นเรารับประทานด้วยกัน จะรวมอยู่ด้วยกันห้าคนหกคน ร้อยคนพันคนก็ตามเถอะ
รับประทานรวมกันอยู่นั่น ใครอิ่มๆ เสร็จลงไปโดยลำดับ
มีใครมาถามกันไหมว่าความอิ่มเป็นยังไง ผมหรือฉันอิ่มแล้วยังไม่มี
มีกี่ร้อยกี่พันคนใครอิ่มก็รู้ตัวเองๆ และไม่สงสัยกันด้วย ไม่ถามกันด้วย
นี่ความอิ่มแห่งธรรมทั้งหลายเป็นลำดับลำดาก็เหมือนกันเช่นนั้น
ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ไปนานเท่าไร
นิพพานนานเท่าไรก็ตามเถอะ ความจริงเป็นอันเดียวกัน
เช่นเดียวกับเรารับประทาน ความอิ่มเป็นเหมือนกันไม่จำเป็นต้องถามกัน
ถ้าไม่อยากแสดงลวดลายบ้าให้คนอื่นเห็น
พอรับประทานแล้วคนทั้งหลายทั้งโลกทั้งสงสารเขาไม่ถามกันว่าฉันอิ่มแล้วยังๆ
เพราะกลัวคำตอบว่า แกกำลังเป็นบ้าหรือ เขาจะว่างั้นน่ะซี



ธรรมพระพุทธเจ้าไม่ใช่ธรรมบ้านี่นา
สนฺทิฏฺฐิโก
ประกาศกังวานอยู่ในหัวใจของผู้ปฏิบัติ
เอาให้เห็นซิ ธรรมพระพุทธเจ้าเป็นโมฆะเชียวหรือ
มันมีแต่ธรรมในตำรับตำราเวลานี้น่ะ ความจริงในหัวใจจะไม่ปรากฏ
มีแต่ลมปากหลอกกัน ยั่วกิเลสกัน อวดน้ำลายกันอยู่ทุกแห่งทุกหน
อันนั้นดีอันนี้ดีประกาศลั่นกันไปนอกโลกนอกทวีป
ตะครุบเงากันไปโน่น หัวใจเจ้าของดีไม่ดีไม่ดูนี่ซิ
ถ้าดูตรงใจนี้ ธรรมของจริงตามที่ท่านประกาศสอนไว้
ก็จะมีทางปรากฏให้ได้ชมพอให้อบอุ่นใจสมกับเป็นชาวพุทธและปฏิบัติ
จำได้ทั้งชื่อ รู้ทั้งกิเลสบาปธรรม ได้ทั้งตัวจริงขึ้นกับใจหายสงสัย



เมื่อจิตรู้ตัวเองแล้ว ควรแนะนำสั่งสอนหนักเบามากน้อยก็ว่ากันไป สอนกันไป
ไม่ควรสั่งสอนก็ไม่ยุ่ง ไม่หนัก ไม่หิวไม่โหย ไม่เป็นบ้าน้ำลาย อยู่สบายๆ
ธรรมเป็นของอิ่มของพอและมีประมาณในตัวเองไม่เหมือนกิเลส
ถ้ากิเลสแล้วไม่มีเมืองพอ เช่น ความโลภมันพอตัวของมันเมื่อไร
เหมือนกับไฟได้เชื้อ ไสเชื้อเข้าไปเท่าไรมันยิ่งลุกส่งเปลวขึ้นจรดเมฆโน่น
ถ้าธรรมแล้วพอ สมาธิก็พอ
เมื่อภาวนาสมาธิเต็มภูมิแล้วสมาธิก็พอ พอในหัวใจเจ้าของรู้เอง
ปัญญาก้าวออกไปพิจารณาออกไป แตกแขนงออกไป
กระจายออกไปตามสภาวธรรมที่ควรแก่การพิจารณา
ทั้งข้างในข้างนอกตลอดทั่วถึง จนรู้เท่าทันและละได้หมดไม่มีอะไรเหลือแล้ว
ปัญญาก็พอ วิมุตติหลุดพ้นนั่นคือเมืองพอ
ธรรมมีเมืองพอ มีความพอเป็นลำดับลำดา
ส่วนกิเลสไม่มีคำว่าพอ ทุกประเภทของกิเลสไม่มีคำว่าพอตัวและพอกับสิ่งทั้งหลาย
โลภจนตาย โกรธจนตาย รักจนตาย ชัง รังเกียจจนตายก็ไม่มีคำว่าพอ
กิเลสกับธรรมจึงต่างกันมาก



พระพุทธเจ้าไม่ได้มาหลอกลวงโลก ไม่ใช่ศาสดาหลอกลวงโลก
อย่างที่เทียบให้ทราบแล้วเมื่อกี้นี้
รับประทานอิ่มแล้วไม่ได้ถามกันนี่ กี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นกี่แสนคน รับประทานด้วยกัน
เมื่ออิ่มแล้วไม่ได้ถามกัน เพราะความอิ่มมันพอดิบพอดีกับเจ้าของทุกคน
รู้กันทุกคนไม่จำเป็นต้องไปถามกัน
นี้ธรรมก็คือความพอดีและรู้ชัดยิ่งกว่านั้นไปอีกหลายร้อยเท่าพันทวีจะไปถามใคร
นี่ละศาสนาพระพุทธเจ้าเป็นธรรมสดๆ ร้อนๆ
และให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติตามอย่างสดๆ ร้อนๆ
ไม่มีคำว่าล้าสมัยดังคำหลอกลวงของกิเลส
ที่เคยหลอกชาวพุทธเราเรื่อยมาซึ่งมักได้ผลไม่ขาดทุน



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก พระธรรมเทศนา “แก้วอัศจรรย์สามดวง” ใน ศาสนธรรมปลุกคนให้ตื่น
โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP