ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

อนุราธสูตร ว่าด้วยพระอนุราธะ


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๒๐๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฎาคารศาลาป่ามหาวัน
กรุงเวสาลี ก็สมัยนั้น ท่านพระอนุราธะอยู่ที่กระท่อมในป่าไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า
ครั้งนั้น อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นอันมากพากันเข้าไปหาท่านพระอนุราธะจนถึงที่อยู่
ได้สนทนาปราศรัยกับท่านพระอนุราธะ ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันแล้ว
จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
แล้วจึงได้กล่าวกะท่านพระอนุราธะว่า
ท่านอนุราธะ พระตถาคตเป็นอุดมบุรุษ เป็นบรมบุรุษ ทรงบรรลุธรรมที่ควรบรรลุชั้นเยี่ยม
เมื่อจะทรงบัญญัติ ย่อมทรงบัญญัติในฐานะ ๔ นี้ คือ
สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีก ๑ ย่อมไม่เกิดอีก ๑
ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี ๑ ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ ๑ หรือ.
เมื่อพวกปริพาชกกล่าวอย่างนั้นแล้ว ท่านพระอนุราธะได้กล่าวกะอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นว่า
ท่านทั้งหลายพระตถาคตทรงเป็นอุดมบุรุษ ทรงเป็นบรมบุรุษ ทรงบรรลุธรรมที่ควรบรรลุชั้นเยี่ยม
เมื่อจะทรงบัญญัติ ย่อมทรงบัญญัตินอกจากฐานะ ๔ เหล่านี้ คือ
สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีก ๑ ย่อมไม่เกิดอีก ๑
ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี ๑ ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ ๑.
เมื่อท่านพระอนุราธะกล่าวอย่างนั้นแล้ว อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นได้กล่าวกะท่านพระอนุราธะว่า
ภิกษุนี้จักเป็นภิกษุใหม่บวชแล้วไม่นาน ก็หรือว่าเป็นภิกษุเถระ แต่โง่เขลาไม่ฉลาด.
เมื่อท่านพระอนุราธะกล่าวอย่างนั้นแล้ว
พวกอัญญเดียรถียร์ปริพาชกกล่าวรุกรานท่านพระอนุราธะด้วยวาทะว่า
เป็นภิกษุใหม่และเป็นผู้โง่เขลา พากันลุกจากอาสนะหลีกไป.


[๒๐๙] เมื่ออัญญเดียรถียร์ปริพาชกเหล่านั้นหลีกไปแล้วไม่นาน
ท่านพระอนุราธะได้มีความคิดว่า ถ้าอัญญเดียรถียร์ปริพาชกเหล่านั้นพึงถามเราต่อไป
เมื่อเราพยากรณ์อย่างไรจึงจะชื่อว่า ไม่เป็นผู้กล่าวตามที่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นกล่าวแล้ว
และชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว
ไม่พึงกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคำอันไม่จริง และพึงพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม
ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไร ๆ ผู้กล่าวคล้อยตามวาทะ จะไม่พึงถูกวิญญูชนติเตียนได้
ลำดับนั้นท่านพระอนุราธะจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจนถึงที่ประทับ ฯลฯ
แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส
ข้าพระองค์อยู่ที่กระท่อมในป่า ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า
ครั้งนั้นพวกอัญญเดียรถียร์ปริพาชกเป็นอันมากพากันเข้าไปหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ ฯลฯ
กล่าวกะข้าพระองค์ว่า ท่านพระอนุราธะ พระตถาคตเป็นอุดมบุรุษ เป็นบรมบุรุษ
ทรงบรรลุธรรมที่ควรบรรลุชั้นเยี่ยม เมื่อจะทรงบัญญัติ ย่อมทรงบัญญัติในฐานะ ๔ นี้ คือ
สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีก ๑ ย่อมไม่เกิดอีก ๑
ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี ๑ ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ ๑
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพวกปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์จึงได้กล่าวกะพวกเขาว่า
ท่านทั้งหลาย พระตถาคตทรงเป็นอุดมบุรุษ ทรงเป็นบรมบุรุษ
ทรงบรรลุธรรมที่ควรบรรลุชั้นเยี่ยม เมื่อจะทรงบัญญัติ ย่อมทรงบัญญัติ นอกจากฐานะ ๔ เหล่านี้
คือ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีก ๑ ย่อมไม่เกิดอีก ๑
ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี ๑ ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ ๑
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนั้นแล้ว
อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า
ภิกษุนี้จักเป็นภิกษุใหม่ บวชไม่นาน ก็หรือว่าเป็นเถระแต่โง่เขลาไม่ฉลาด.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นรุกรานข้าพระองค์ด้วยวาทะว่า
เป็นผู้ใหม่ เป็นผู้เขลา แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป
เมื่ออัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นหลีกไปแล้วไม่นาน ข้าพระองค์เกิดความคิดว่า
ถ้าอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นพึงถามเราต่อไป เมื่อเราพยากรณ์อย่างไร
จึงจะชื่อว่าไม่เป็นผู้กล่าวตามที่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นกล่าวแล้ว
และชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว
ไม่พึงกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคำอันไม่จริง และพึงพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม
ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไร ๆ ผู้กล่าวคล้อยตามวาทะ จะไม่พึงถูกวิญญูชนติเตียนได้.


[๒๑๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า
อนุราธะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
อ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
อ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า
นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา?
อ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.


ภ. เวทนา เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
อ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
อ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า
นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา?
อ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.


ภ. สัญญา เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
อ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
อ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า
นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา?
อ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.


ภ. สังขาร เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
อ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
อ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า
นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา?
อ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.


ภ. วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
อ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
อ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า
นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา?
อ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. เพราะเหตุนี้แล ท่านพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีตอนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้
รูปทั้งหมด นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีตอนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้
เวทนาทั้งหมด นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีตอนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้
สัญญาทั้งหมด นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นอดีตอนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้
สังขารทั้งหมด นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีตอนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้
วิญญาณทั้งหมด นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย
แม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ
เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมทราบชัดว่า
ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.


[๒๑๑] ภ. อนุราธะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
เธอย่อมเห็นรูปว่าเป็นสัตว์บุคคลหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. เธอย่อมเห็นเวทนาว่าเป็นสัตว์บุคคลหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. เธอย่อมเห็นสัญญาว่าเป็นสัตว์บุคคลหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. เธอย่อมเห็นสังขารว่าเป็นสัตว์บุคคลหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. เธอย่อมเห็นวิญญาณว่าเป็นสัตว์บุคคลหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.


[๒๑๒] ภ. อนุราธะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
เธอย่อมเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในรูปหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. เธอย่อมเห็นว่าสัตว์บุคคลต่างหากจากรูปหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. เธอย่อมเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในเวทนาหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. เธอย่อมเห็นว่าสัตว์บุคคลต่างหากจากเวทนาหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. เธอย่อมเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในสัญญาหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. เธอย่อมเห็นว่าสัตว์บุคคลต่างหากจากสัญญาหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. เธอย่อมเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในสังขารหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. เธอย่อมเห็นว่าสัตว์บุคคลต่างหากจากสังขารหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. เธอย่อมเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในวิญญาณหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. เธอย่อมเห็นว่าสัตว์บุคคลต่างหากจากวิญญาณหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.


[๒๑๓] ภ. อนุราธะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอย่อมเห็นว่า
สัตว์บุคคลมีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ อย่างนั้นหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.


[๒๑๔] พ. ราธะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอย่อมเห็นว่า
สัตว์บุคคลนี้ไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ อย่างนั้นหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.


ภ. อนุราธะ ก็โดยที่จริง โดยที่แท้ เธอค้นหาสัตว์บุคคลในขันธ์ ๕ เหล่านี้ในปัจจุบันไม่ได้เลย
ควรหรือที่เธอจะพยากรณ์ว่า พระตถาคตเป็นอุดมบุรุษ เป็นบรมบุรุษ
บรรลุธรรมที่ควรบรรลุชั้นเยี่ยม เมื่อจะบัญญัติ ย่อมบัญญัติเว้นจากฐานะ ๔ เหล่านี้ คือ
สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีก ๑ ย่อมไม่เกิดอีก ๑
ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี ๑ ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ ๑ ?
อ. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระเจ้าข้า.
ภ. ถูกละ ๆ อนุราธะ ทั้งเมื่อก่อนและทั้งบัดนี้ เราย่อมบัญญัติทุกข์ และความดับทุกข์.


อนุราธสูตร จบ



(อนุราธสูตร พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๒๗)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP