สารส่องใจ Enlightenment

ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากเวทนาได้


วิสัชนาธรรม โดย หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร




ปุจฉา (๑) – ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากเวทนาได้จนอิสระ
ดิฉันสังเกตตัวเองว่าสามารถทำได้เป็นบางโอกาสเท่านั้นเองค่ะ
และเป็นที่น่าสังเกตจริงๆ ว่ามันสลับกันเป็นที่จิตล้วนๆ บ้าง
ตรงนั้นล่ะคะหลวงปู่ที่พูดไม่ถูกเพราะไม่เข้าใจ
คือลักษณะเหมือนจิตไม่อยากให้กายป่วย พอกายป่วยจิตมันเกิดอารมณ์ที่เศร้าหมอง
ดิฉันก็ต้อง "ละ" จนมีกำลัง จิตที่สามารถพากายไปทำกิจจนสำเร็จได้
แต่มันฝืนและทรมานมากนะคะหลวงปู่ ไม่สนุกเลย



วิสัชนา (๑) – ถ้าอยากพ้นเวทนาใดๆ ก็ตาม ให้เข้าใจว่าเป็นแต่สักว่าเวทนา
หาได้ใช่เรา เขา สัตว์ บุคคลไม่ จะเป็นโอกาสไหนๆ ก็ตามก็ต้องพิจารณาแบบนี้
มันจะสลับซับซ้อนไปไหนก็ตาม ก็ตัวอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของเก่านั่นเอง
และเราอย่าถือว่ามันทรมานเรา เราต้องพิจารณาอนัตตาให้ชัด
เมื่อเรา เขา สัตว์ บุคคล ไม่มีในปัจจุบันแล้ว
(เพราะมีแต่ธาตุ
, ธรรม, ขันธ์ ตามบัญญัติที่บัญญัติตามเป็นจริงไว้) ก็ให้จบกันเพียงแค่นั้น




...........................................................................




ปุจฉา (๒) – วิธีอบรมจิตด้วยอายตนะ ๖ เขาอบรมกันอย่างไรละค่ะ


วิสัชนา (๒) – วิธีอบรมจิตด้วยอายตนะ ๖
ขอให้เข้าใจว่า อายตนะ ๖ ก็ดี ขันธ์ ๕ ก็ดี มีความหมายอันเดียวกัน
คือ อายตนะ ๖ มี ตา หู จมูกลิ้น กาย จัดเป็นรูปขันธ์เสียแล้ว
ส่วนใจนั้นจัดเป็นนามขันธ์
และขอให้เข้าใจว่าขันธ์ ๕ รูปก็เป็นรูปตามเดิม คือ ดิน น้ำ ประชุมกันเป็นกาย
ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็รวมเข้าเป็นนามตามเดิม



และก็ขอให้เข้าใจอีกว่าเราอบรมอายตนะ ๖ ก็ดี อบรมขันธ์ ๕ ก็ดี
ก็มีความหมายอันเดียวกัน
เป็นเพียงว่าสมมติว่า ๖ สมมติว่า ๕ ผิดกันเท่านั้น...แต่ความหมายก็อันเดียวกัน
ย่น ๖ ลงมาเป็น ๒ ตา หู จมูก ลิ้น
กายย่นลงเป็นรูปขันธ์ ใจเป็นนามขันธ์ดังกล่าวแล้วนั้น
ทีนี้จะย่นขันธ์ ๕ ลงเป็น ๒ เหมือนอายตนะ ๖
คือกายก็เป็นกายตามเดิม เป็นดิน น้ำ ไฟ ลม ตามเดิม
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นนามตามเดิม



อายตนะ ๖ ก็ดี ขันธ์ ๕ ก็ดี รูปธาตุ นามธาตุก็ว่าเหมือนกัน
รูปธรรมนามธรรมก็ว่าเหมือนกัน รูปขันธ์นามขันธ์ก็ว่าเหมือนกัน
รูปอินทรีย์นามอินทรีย์ก็ว่าเหมือนกัน รูปโลกนามโลกก็ว่าเหมือนกัน
สิ่งเหล่านี้จะรวมมาเป็นสังขารโลกก็ได้ จะรวมลงมาเป็นสังขารธรรมก็ได้
จะรวมลงมาเป็นสังขารธาตุก็ได้ จะรวมลงมาเป็นสังขารขันธ์ก็ได้



ให้เข้าใจว่าเมื่อสังขารออกหน้าแล้วก็ต้องเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
ตรงกับคำว่า "สังขารา ปรมา ทุกขา สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง"
มาเป็นเมืองขึ้นของไตรลักษณ์ตามเดิม
เมื่อพิจารณาไตรลักษณ์ให้กลมกลืนเป็นเชือก ๓ เกลียวแล้ว
กรรมฐานที่อยู่ในสรรพโลกทั้งปวงก็รวมลงมาตั้งฐานอยู่ในที่นี้
เกิดขึ้นแล้ว แปรปรวนอยู่หาระหว่างมิได้ ไม่ขึ้นอยู่กับผู้รู้และผู้ไม่รู้
แต่ต้องพยายามรู้เพื่อจะได้ไม่ยึดถือเอาเป็นตัวตน เรา เขา สัตว์ บุคคล
เพราะมีแต่กองทุกข์ จะยึดถือเอาเป็นตัว ตน เรา เขา จริงๆ จังๆ จนแกะไม่ได้คายไม่ออก
ก็ไม่ตรงกับคำว่า "รู้ตามเป็นจริง ปฏิบัติตามเป็นจริง สิ้นความสงสัยตามเป็นจริง"



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ตอบปัญหาธรรมะ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๓


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP