ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ปฐมปัจโจโรหณีสูตร ว่าด้วยพิธีปลงบาปของพระอริยะ


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๑๑๙] ก็โดยสมัยนั้นแล พราหมณ์ชื่อว่าชาณุสโสณี สนานเกล้าในวันอุโบสถ
นุ่งห่มผ้าโขษมพัสตร์คู่ใหม่ ถือกำหญ้าคาสดไปยืนอยู่
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า.
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นชาณุสโสณีพราหมณ์
ผู้สนานเกล้าในวันอุโบสถ นุ่งห่มผ้าโขษมพัสตร์คู่ใหม่
ถือกำหญ้าคาสดยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งในที่ไม่ไกล
ครั้นแล้วได้ตรัสถามชาณุสโสณีพราหมณ์ว่า
“พราหมณ์ เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงสนานเกล้าในวันอุโบสถ
นุ่งห่มผ้าโขษมพัสตร์คู่ใหม่ ถือกำหญ้าคาสดมายืนอยู่
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง วันนี้เป็นวันอะไรของสกุลพราหมณ์.”
ชาณุสโสณีพราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
วันนี้เป็นวันปลงบาปของสกุลพราหมณ์.”



ภ. พราหมณ์ ก็พิธีปลงบาปของพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมมีด้วยประการไรเล่า.


ชา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พราหมณ์ทั้งหลายในโลกนี้
ในวันอุโบสถ สนานเกล้า นุ่งห่มผ้าโขษมพัสตร์คู่ใหม่
ทาแผ่นดินด้วยโคมัยอันสด ลาดด้วยหญ้าคาที่เขียวสดแล้ว
สำเร็จการนอนระหว่างกองทรายและเรือนไฟ
พราหมณ์เหล่านั้นย่อมลุกขึ้นประนมอัญชลี นมัสการไฟ ๓ ครั้งในราตรีนั้น
ด้วยการกล่าวว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายขอปลงบาปกะท่านผู้เจริญ
ข้าพเจ้าทั้งหลายขอปลงบาปกะท่านผู้เจริญ ดังนี้
และย่อมยังไฟให้อิ่มหนำด้วยเนยใส น้ำมัน และเนยข้นอันเพียงพอ
และโดยล่วงราตรีนั้นไป ก็เลี้ยงพราหมณ์ทั้งหลายให้อิ่มหนำ
ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
พิธีปลงบาปของพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.


ภ. พราหมณ์ พิธีปลงบาปของพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมมีโดยประการอย่างอื่น
ส่วนพิธีปลงบาปในวินัยของพระอริยะ ย่อมมีโดยประการอย่างอื่น.


ชา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พิธีปลงบาปในวินัยของพระอริยะ
ย่อมมีอย่างไรเล่า ขอประทานพระวโรกาส ขอพระโคดมผู้เจริญ
โปรดทรงแสดงธรรมโดยประการที่เป็นพิธีปลงบาปในวินัยของพระอริยะแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด.


ภ. พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว.


ชาณุสโสณีพราหมณ์ทูลรับแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า พราหมณ์ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาทิฏฐิ เป็นสิ่งที่ชั่วช้า ทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ ดังนี้
อริยสาวกนั้น ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาทิฏฐิ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาทิฏฐิ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาสังกัปปะ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ ดังนี้
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาสังกัปปะ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาสังกัปปะ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาวาจา เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ ดังนี้
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาวาจา ย่อมปลงบาปจากมิจฉาวาจา
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉากัมมันตะ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ ดังนี้
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉากัมมันตะ ย่อมปลงบาปจากมิจฉากัมมันตะ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาอาชีวะ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ ดังนี้
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาอาชีวะ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาอาชีวะ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาวายามะ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ ดังนี้
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาวายามะ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาวายามะ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาสติ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ ดังนี้
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาสติ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาสติ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาสมาธิ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ ดังนี้
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาสมาธิ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาสมาธิ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาญาณะ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ ดังนี้
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาญาณะ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาญาณะ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาวิมุตติ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ ดังนี้
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาวิมุตติ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาวิมุตติ
พราหมณ์ พิธีปลงบาปในวินัยแห่งพระอริยะ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้แล.


ชาณุสโสณีพราหมณ์กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
พิธีปลงบาปของพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมมีโดยประการอย่างอื่น
ส่วนพิธีปลงบาปในวินัยของพระอริยะ ย่อมมีโดยประการอย่างอื่น
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็พิธีปลงบาปของพราหมณ์ทั้งหลาย
ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งพิธีปลงบาปในวินัยแห่งพระอริยะนี้
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง
หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักมองเห็นรูป ฉะนั้น
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม
กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ
ขอพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.


ปฐมปัจโจโรหณีสูตร จบ



(ปฐมปัจโจโรหณีสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๘)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP