ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังสามารถปล่อยวางความทุกข์ต่างๆ ได้



ถาม – คุณแม่ของเพื่อนสนิทของดิฉันท่านได้เข้ารับการผ่าตัดเมื่อประมาณ ๔ เดือนที่แล้ว

ตอนแรกก็คาดว่าเป็นการผ่าตัดเล็กๆ ไม่มีอะไรน่ากังวล
แต่ปรากฏว่าเมื่อผ่าแล้วกลับมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นมาก
ตอนนี้คุณแม่ป่วยหนัก รู้สึกตัวบ้าง ไม่รู้สึกตัวบ้าง และต้องเข้าออกห้องไอซียูตลอดเวลา
เวลาที่ท่านรู้สึกตัวก็จะเกิดภาวะซึมเศร้า และบอกว่าถ้ารู้อย่างนี้จะไม่เข้ารับการผ่าตัด
เพราะตอนนี้โอกาสที่จะหายเป็นปกติค่อนข้างยากแล้ว
ดิฉันอยากได้คำแนะนำจากคุณดังตฤณ ว่าควรจะพูดคุยอย่างไรให้คุณแม่ของเพื่อนสบายใจขึ้นคะ


อุบายวิธีมันไม่มีนะ จริงๆ แล้วคนที่กำลังอยู่ในภาวะที่เจ็บป่วยทางกาย
แล้วก็รู้ว่าอย่างไรอาจจะไม่หาย หรือว่ามีสิทธิ์ตายเร็วๆ นี้
คือถ้าความรู้สึกทางใจมันไปไม่ได้
อุบายชนิดไหน หรือว่าเราไปพยายามอย่างไรนะ มันก็ไม่ดีขึ้น
ทีนี้ถ้าเอาตามที่เป็นหลักแบบพุทธนะ คือทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้ป่วย
ไม่ว่าจะด้วยความรู้สึกว่าไม่มีทางหาย กำลังจะไป หรือว่าจะด้วยอย่างไรก็แล้วแต่
ที่เขากำลังรู้สึกแย่กับภาวะของเขาอยู่
พยายามทำให้เขามีความปล่อยวางภาวะที่เจ็บป่วย หรือว่ากำลังจะไปนะ



พูดเรื่องกำลังจะไปก่อน
ถ้ากำลังจะไป ก็คือว่าสำรวจดูว่ายังห่วงอะไรอยู่บ้าง
พยายามทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีความสุขเสียอย่าง
มีความสุขทางใจเสียอย่าง มีความสบายใจเสียอย่าง ไปเมื่อไหร่สบายเมื่อนั้น

อันนี้หลักชัดๆ เลยนะที่พระพุทธเจ้า คือพยายามให้ปลดล็อกคนป่วย
ถ้าอย่างพูดเรื่องความตาย คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องอัปมงคล
แต่ถ้าพูดเรื่องไปสวรรค์ คนส่วนใหญ่จะมองเป็นเรื่องที่แสนสุข แสนดี น่ายินดีต้อนรับ น่ายินดีเปิดรับ
เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรก็ได้ เปลี่ยนมุมมอง จากที่ว่ากำลังจะตาย
ให้กลายเป็นกำลังจะได้ขึ้นสวรรค์ กำลังจะย้ายบ้านนะ กำลังจะเปลี่ยนบ้านใหม่

ซึ่งก็อาจจะพูดในเชิงว่า ใจยิ่งเบาเท่าไหร่ เรายิ่งมีสิทธิ์ที่จะลอยตัวขึ้นข้างบน มากขึ้นเท่านั้น
ใจเบาทำอย่างไร ก็คือสำรวจเป็นเรื่องๆ ไปว่ายังห่วงอะไรอยู่บ้าง
ยังมีความพะวง มีความข้อง ยังมีความติดเกี่ยวกับอะไรอยู่บ้าง
ถ้าหากเรามองเห็นนะว่าท่านกำลังติดเรื่องอะไร
แล้วเราสามารถที่จะทำให้หายห่วงเรื่องนั้น หายกังวลเรื่องนั้น
อันนี้เดี๋ยวถามชัวร์ๆ ก่อน คือชัวร์ว่ากำลังจะไปใช่ไหม




ถาม – ตอนนี้อาการทรงๆ ค่ะ ยังรับประกันไม่ได้ เท่าที่ฟังจากเพื่อนก็คือว่าบางช่วงสัญญาณชีพก็ไม่ดี แต่ก็ยังประคองอาการไว้ได้ คือโอกาสที่จะหายกลับมาเป็นปกตินี่น้อย แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปเมื่อไหร่แค่นั้นเองค่ะ


คือตัวของผู้ป่วยเหมือนกับรู้ตัวหรือเปล่าว่ากำลังจะไป
คือมีความรับรู้จากหมอด้วย แล้วก็ความรู้สึกจากตัวเองว่ากำลังจะแย่แน่ๆ อันนี้เพื่อนบอกไหม



ถาม – คิดว่าทราบค่ะ แล้วก็ที่สำคัญคือท่านอาจจะยังไม่ค่อยได้ฟังเรื่องธรรมะ
หรือว่ายังไม่ค่อยศึกษาเรื่องนี้นัก เวลาปลอบใจท่านก็จะยากหน่อยค่ะ



อันนี้เข้าใจได้ คือ เห็นมาเยอะนะ ประเภทที่บอกว่าถ้ายังไม่แก่ก็จะยังไม่สนใจธรรมะ
หรือกระทั่งว่าเชื่อว่าตัวเองสามารถไปดีได้
โดยไม่ต้องอาศัยธรรมะ ไม่จำเป็นต้องฟังธรรมอะไรเป็นพิเศษ
อันนี้ก็เจอมาไม่น้อยเหมือนกัน
ทีนี้คือถ้าความรู้สึกของคน เรามองนะว่าเวลากำลังจะไปจริงๆ
แล้วรู้ตัวว่าแย่ลงๆ สัญญาณชีพอ่อน หรือว่าความรู้สึกของตัวเองนี่กำลังจะไม่ได้ตื่นมา
เวลาไปพูดเรื่องชาติหน้า เวลาไปพูดเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย
จะฟังมากกว่าตอนที่ยังอยู่อีกนานๆ
ยังมีความรู้สึกว่าตัวเองยังเป็นตัวของตัวเองไปได้เรื่อยๆ ยังเก่งอยู่อะไรอย่างนี้
เพราะฉะนั้นทางหนึ่งคือรอจังหวะ ดูจังหวะว่าเมื่อไหร่ที่เขาเริ่มเปิดหูฟัง
ไปพูดเรื่อยๆ อาจจะออกอุบายว่าเอาหนังสือเกี่ยวกับเรื่องสวรรค์มาพูดให้อะไรอย่างนี้
นี่หนังสือเล่มนี้ พูดเรื่องเกี่ยวกับสวรรค์ได้ดี
อาจเป็นเหมือนกับย่อความพระไตรปิฎกอะไรอย่างนี้ ที่มีเกลื่อนเลยในอินเตอร์เน็ต
พูดเรื่องสวรรค์ พูดเรื่องวิมาน พูดเรื่องอะไรอย่างนี้
คือก็อาจจะแย็บๆ ก่อน เปรยๆ ก่อน ทำให้เกิดความรู้สึกก่อนว่า
ถ้าหากว่าจิตดีก่อนตายมีสิทธิ์ได้ขึ้นสวรรค์หรือมีสิทธิ์ที่จะได้ดี ได้ดิบได้ดีกว่านี้
แล้วก็คำพรรณนาที่เกี่ยวข้องกับวิมาน เกี่ยวข้องกับเทวดา เกี่ยวข้องกับนางฟ้า เกี่ยวข้องกับทิพยสุข
คีย์เวิร์ดเหล่านี้ เวลาที่คุยกับคนที่เขากำลังมีความรู้สึกว่าสัญญาณชีพอ่อนลงๆ เรื่อยๆ
เชื่อเถอะว่าจะฟังมากกว่าตอนที่กำลังมีชีวิตอยู่นะ



เมื่อไหร่ที่เขาเปิดหูฟัง เมื่อนั้นแหละที่เราก็เริ่มจู่โจมเลย
พอเล่าเรื่องสวรรค์วิมานอะไรมากๆ จนกระทั่งเกิดความปลื้ม เกิดความรู้สึกว่าพร้อมจะรับฟังแล้ว
ก็มาพูดเรื่องความเบาของใจ ความเบาไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ
แต่ความเบาเกิดขึ้นจากอาการที่พร้อมทิ้ง พร้อมทิ้งห่วง พร้อมทิ้งกังวล
พร้อมทิ้งแม้กระทั่งความไยดี ความอาลัยติดใจในร่างกายที่กำลังจะต้องแตกดับเป็นธรรมดา

เราสามารถแกะได้เป็นเปลาะๆ นะที่เขากำลังห่วง ที่กำลังกังวล ที่กำลังยึดมั่นถือมั่นอยู่
เราค่อยๆ คุยไปทีละวันๆ
แล้วดูว่าสามารถที่จะเข้าถึงความรู้สึกที่ท่านกำลังยึด กำลังห่วง กำลังหวงไว้ได้ไหม
ถ้าหากว่าเห็นว่าถอดได้เป็นเปลาะๆ ก็ค่อยบอกว่า
เออ ใจที่เบาแบบนี้ ใจที่พร้อมทิ้งอย่างนี้ คือใจที่พร้อมที่จะลอยขึ้นสูงนะ
แล้วเมื่อใจเริ่มเบา ในขั้นท้ายๆ เวลาพูดเรื่องบุญเรื่องกุศล อยากให้ทำบุญ
บอกอยากจะใส่บาตรพระไหม อยากจะทำทานเกี่ยวกับเรื่องไหนที่ท่านสนใจ
เราก็ออฟเฟอร์ (
offer) ขึ้นมา เป็นเรื่องๆ แล้วก็บอกว่าเดี๋ยวเราจะไปเอามาให้ทำ
แล้วเดี๋ยวนี้มันง่ายมาก โอนทางมือถือให้ดูว่าได้ทำบุญไปที่นั่นที่นี่เรียบร้อยแล้ว
แล้วให้ท่านเป็นคนกด มันก็จะช่วยให้ดีขึ้นเรื่อยๆ



สรุปมาแบบตามลำดับนะ
เอาเรื่องสวรรค์ เอาเรื่องวิมาน เอาเรื่องนางฟ้าหรือเทวดา มาพูด มาเปรย
ซึ่งอันนี้เท่าที่เจอมา ต่อให้เคยดื้อ เคยมีทิฐิ
เคยต่อต้านความเชื่อเกี่ยวกับศาสนามาแค่ไหนก็ตาม
ในช่วงท้ายๆ ของชีวิต คนเราจะไม่มีกำแพง ยินดีฟัง
แล้วก็พอฟังได้แบบเชื่อแล้วนะก็พูดถึงเรื่องความเบาของใจ
ยิ่งเบาเท่าไหร่ ยิ่งมีสิทธิ์ลอยขึ้นสูงมากขึ้นเท่านั้น
แล้วจากนั้นก็ไปต่อยอดเรื่องบุญเรื่องกุศล เอาธรรมะของครูบาอาจารย์มาเปิดให้ฟัง
เอาเทศนาธรรมของครูบาอาจารย์ที่ฟังแล้วเกิดความเลื่อมใส เกิดความรู้สึกมีสติ มาให้ท่านฟัง

เอาตามลำดับแบบนี้



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP