ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

การรับจ้างทำผลงานทางวิชาการถือว่าเป็นบาปมากไหม



ถาม – ผู้ที่รับจ้างทำผลงานวิชาการ เพื่อให้คนอื่นได้รับเงินประจำตำแหน่ง
จะเป็นบาปมากไหม แล้วคนจ้างบาปแค่ไหนคะ


คือหมายความว่าเป็นมือปืนว่าอย่างนั้น
คือบาปมากบาปน้อย เราพิจารณาจากอย่างนี้
คือในทางธรรมนะเราไม่สนใจนะว่าสิ่งที่จับต้องได้ มันใหญ่โตแค่ไหน
คือจะมีตำแหน่งอะไร หรือว่าจะมีเงินเดือนแค่ไหน จะได้อะไรอย่างไรกับใคร
เราไม่ได้สนใจตรงนั้นนะ เราสนใจว่าคำว่าบาป คือไปทำให้คนเขาเดือดร้อนแค่ไหน



อย่างบาปที่ชัดเจนที่สุด คือบาปอันเกิดจากการผิดศีล
ผิดศีลข้อปาณาฯ ไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนะ ฆ่าสัตว์นี่ก็มี ฆ่าสัตว์เล็ก ฆ่าสัตว์ใหญ่
ฆ่ามนุษย์ ฆ่าพระ ฆ่าพระอรหันต์ ฆ่าพ่อฆ่าแม่ หรือว่าทำร้ายพระพุทธเจ้า
มันมีลำดับขั้นความใหญ่โตของบาปเรื่องปาณาติบาตอยู่
นอกจากนั้นก็มีบาปเรื่องของการทุจริต ไปคิดคด ไปฉ้อโกงทรัพย์เขามา
หรือบาปในเรื่องของการผิดประเวณี
เอาลูกเขาเมียใครมา ที่เขามีเจ้าของแล้วเขาไม่ยินยอมให้
แล้วก็บาปจากการมุสา พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดนินทาส่อเสียด ใส่ร้ายชาวบ้าน
หรือว่าบาปจากการกินเหล้าเมายา เสพยาอีอะไรทั้งหลาย



บาปเหล่านี้ถ้าเราพิจารณา อย่างรับจ้างทำผลงานทางวิชาการ
เราถามง่ายๆ เลยว่าเข้าข่ายข้อไหน แล้วทำให้ใครเดือดร้อนบ้าง
คือถ้าไม่คิด ไม่มีคนเดือดร้อน มีแต่คนได้ มีแต่วินๆ เราก็ได้ค่าจ้าง เขาก็ได้ตำแหน่ง
แต่การได้ตำแหน่งของเขา ไปเบียดเบียนคนที่สมควรจะได้จริงๆ หรือเปล่า
หรือพอเขาได้ตำแหน่งไป ทั้งที่ไม่ได้มีความรู้ ไม่ได้มีความสามารถนะ
เขาเอาตำแหน่งนั้น ไปใช้ในทางที่ผิด คิดคดทุจริตได้แค่ไหน



คือบางทีมันประมาณไม่ถูกนะที่ต้นทาง
แต่ใจเราจะรู้หลังจากที่เขาได้ตำแหน่งไป เขาไปทำอะไรได้บ้าง
โดยที่ไม่ได้ใช้ความสามารถของเขาเอง
แล้วก็จริงๆ ต้องพิจารณาอย่างนี้ด้วยว่าเจตนาของเราเป็นไปเพื่ออะไร
ถ้าเราเป็นมือปืนรับจ้างแบบคอยทำผลงานทางวิชาการให้คนอื่น
จริงๆ มันก็เป็นอาชีพชนิดหนึ่ง ใช้ความรู้ใช้ความสามารถ
แล้วเจตนาของเราก็จะเอาความรู้ความสามารถของเรามาแลกกับเงิน เจตนาเรามีอยู่แค่นั้น
จริงๆ เราไม่ได้ตั้งใจว่าจะให้คนที่เป็นผู้จ้างเราไปก่อความเดือดร้อนให้ใครแค่ไหน
เจตนาของเราแค่เอาตังค์เข้าตัวนะ
อันนี้ก็มีส่วนให้พิจารณาเป็นตัวตั้งแบบนี้



หนึ่งคือเขาทำความเดือดร้อนให้คนได้แค่ไหน เราส่งเสริมเขาแค่ไหน
สองคือใจของเราเจตนาอย่างไร
เพราะบางทีถ้าใจของเราไม่ได้เจตนาที่จะให้เขาไปทำความเดือดร้อนให้ใคร
มันก็ไม่ได้ส่วนบาปตรงนั้นไปกับเขาด้วยเท่าไหร่
แต่ถ้าใจเรารู้แล้วยังขืนทำ ยกตัวอย่างคือเราเห็นๆ อยู่ว่าคนที่จะได้ตำแหน่งวิชาการไป
มันจะเอาไปโกงกินโดยเฉพาะ
มันไม่ใช่จะเอาไปใช้ความรู้ความสามารถหรือตำแหน่งของตัวเอง ทำประโยชน์อะไรให้สังคมขึ้นมา
ตัวนี้เท่ากับเราได้มีส่วนเข้าไปเต็มๆ แล้ว
ที่จะช่วยให้เขาได้ประสบความสำเร็จในการคดโกงในการทุจริตสังคม



มันเข้าข่ายศีลห้าข้อไหนบ้าง โกหก
คือมีส่วนให้เขาโกหก เราไม่ได้โกหกเอง มีส่วนให้เขาได้โกหก
แล้วในการคิดคด ทุจริตคดโกง เขาเอาทรัพย์ของคนอื่น หรือว่าตำแหน่งของคนอื่นมา
ตำแหน่งที่เขาควรจะได้เขาไม่ได้ เราไปทำให้คนที่ไม่น่าจะได้ กลับได้ขึ้นมา
อย่างนี้คือเรามีส่วนในการไปปล้นตำแหน่งมาจากคนที่ควรจะได้อะไรอย่างนี้
มีส่วนหน่อยๆ นะ เจตนาไม่ได้เป็นอย่างนั้น
การทำอะไรในแบบที่เราไม่ได้ตั้งใจไว้
ไม่ได้ตั้งเป้าไว้ให้เป็นอย่างนั้น แต่ว่ามีส่วนทำให้เกิดขึ้น
เรียกว่ากตัตตากรรม คือ กรรมที่ไม่ได้เจตนาให้เป็นเช่นนั้น



ถามว่ามีโทษหนักแค่ไหน มันครึ่งๆ มันกึ่งๆ
เพราะว่าเจตนามันไม่เป็นไปเช่นนั้นเต็มๆ เจตนาเราเอาตังค์
จริงๆ ผู้ถามอาจไม่ได้ถามเพราะว่าตัวเองทำนะ ถามเพราะว่าคนอื่นทำ
อันนี้พูดไม่ได้พูดถึงผู้ถามนะ พูดถึงผู้ทำนะ
ถ้าเรามีส่วนทำด้วยเจตนาที่มีความรู้เห็นอยู่ว่าเป็นงานที่ส่งเสริมให้เกิดการทุจริต
งานของเราเองก็จะมีมลทิน เหมือนกับทำให้ปลาเน่า รับจ้างทำปลาเน่า
มือเราก็ต้องเหม็นก่อน ต้องติดกลิ่นเหม็นมาเป็นธรรมดา อะไรแบบนี้



คือบาปแค่ไหนมันบอกไม่ได้นะ
มันขึ้นอยู่กับว่าเราทำให้เขาได้ไปทุจริตแค่ไหน แล้วใจเรารู้แค่ไหนด้วย
แต่สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นแน่ๆ คือเราไม่ตรงไปตรงมา
เราทำอาชีพในแบบที่ส่งเสริมให้คนไม่ตรงไปตรงมา



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP