สารส่องใจ Enlightenment

เพียรสอดส่องมองย้อน (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๒




เพียรสอดส่องมองย้อน (ตอนที่ ๑)



ดังนั้นทุกคนต้องเรียนให้รู้เรื่องราวของตัวเอง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำสั่งสอนไว้
ซึ่งพระองค์ได้ทรงแสดงไว้ว่าปัญจุปาทานักขันธาทุกขา
ความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเป็นตน มันเป็นทุกข์รวบยอดเลย
ความทุกข์อันเกิดจากความยึดถือนี่ มันก็มาแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท
ยึดถือขันธ์ ๕ อันไม่ประกอบไปด้วยปัญญา ประกอบไปด้วยตัณหา อวิชชา
อย่างนี้มันก็ใช้ขันธ์ ๕ นี่ไปทำดีบ้าง ทำชั่วบ้างไปอย่างนั้นน่ะ
คราวระลึกถึงความดีได้ก็ทำดีไป คราวระลึกถึงความชั่วได้ก็ทำชั่วไป อย่างนี้แหละ
ยึดถือด้วยอำนาจแห่งอวิชชา ตัณหา มันก็เป็นเหตุได้รับผลทั้งสองอย่าง
ได้รับผลเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้างในสงสารอันนี้อยู่อย่างนั้น
ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ในญาณที่สอง ที่ท่านเรียกว่าจตูปปาตญาณ
ปรีชาหยั่งรู้ว่าสัตว์โลกทั้งหลาย เกิดมาแล้วก็มาทำดีบ้างทำชั่วบ้าง
แล้วบัดนี้ก็ได้รับผลแห่งการกระทำนั้น เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้างไปในสงสารอันนี้
นี่พระองค์เจ้าตรัสรู้ในญาณที่สองนั่นน่ะ



ดังนั้นเมื่อพระองค์แสดงธรรม พระองค์จึงแนะนำให้พุทธบริษัททั้งหลาย
เพียรพยายามละกรรมอันชั่วออกจาก กาย วาจา ใจให้ได้
ไม่เช่นนั้นก็จะหนีจากวังวนนี้ไม่ได้ ก็จะวนเวียนอยู่อย่างนั้นแหละ
ทีนี้ถ้าผู้ใดมาฝึกใจนี้สงบ ตั้งมั่นลงในคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
ตั้งมั่นในบุญกุศลที่ตนบำเพ็ญมา
คือว่าเมื่อทำใจให้สงบลงเป็นหนึ่งแล้ว ก็หมายความว่าจิตของผู้นั้นน่ะ
เป็นอันว่ามีคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
มีบุญกุศลที่ตนได้ทำมาแต่ก่อนเป็นเครื่องอยู่ จึงสงบนิ่งอยู่ได้
ถ้าใจมันมั่นอยู่ในบุญในคุณอย่างว่านี้แล้ว มันไม่น้อมไปทางบาปแล้วน่ะ
มันก็แสวงหาทำแต่บุญกุศล ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ตนและผู้อื่นเรื่อยไปเท่านั้นเอง



อย่างว่าทุกสิ่งทุกอย่าง มันมีใจเป็นใหญ่เป็นประธาน
ถ้าฝึกใจนี้ให้ตั้งมั่นอยู่ในทางที่ดีแล้ว มันก็ไม่หมุนไปในทางชั่ว
คนเราน่ะให้สังเกตดูจิตใจของตนทุกคน ว่าวันนี้น่ะใจเรายังคิดหมุนไปทางชั่วมีไหม
เช่น คิดไปพอใจในทางที่ฆ่าสัตว์
คิดไปอยากจะไปลักไปล่อเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน
หรือไปฉ้อโกงหลอกลวงผู้อื่นให้เสียทรัพย์เสียสิน หมู่นี้น่ะมีไหมในใจนะ
หรือว่าใจมันอยากไปทำชู้กับสามีภรรยาของคนอื่น
หรือว่าความคิดความนึกของจิตใจเนี่ยมันอยากจะพูดเท็จ
พูดเรื่องไม่จริง คำไม่จริง หลอกคนอื่นให้เสียทรัพย์เสียสินก็ดี
จิตทุกวันนี้มันคิดจะส้องเสพของมึนเมาต่างๆ หรือไม่
เช่น สุรา เมรัย กัญชา ยาฝิ่น เฮโรอีน หมู่นี้ มันชอบหรือไม่อันหมู่นี้



เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททั้งหลาย
จะพึงพิจารณาตัวเอง พิจารณาจิตตัวเองนั่นแหละ
เมื่อรู้ว่ามันไม่ต้องการแล้ว ไม่ต้องการทำแล้วกรรมชั่วต่างๆ เหล่านี้
เช่นนี้แล้ว ก็รักษาความรู้ความเห็นอันนั้นไว้ให้ได้ รักษาความคิดอย่างว่านั้นไว้ให้ได้
อย่าไปปล่อยให้จิตมันเผลอคิดไปในทางเบียดเบียนดังว่านั้นต่อไป
เมื่อรักษาจิตดวงนี้ไม่ให้วิตกไปในทางอกุศลนั้นแล้ว
ความประพฤติทางกาย วาจา มันก็มีแต่ทางดีสม่ำเสมอไปเรื่อยๆ ไป
ทำอะไร พูดอะไร ก็ชอบที่จะเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นไปเรื่อยๆ
พูดถึงการคิดการนึกเกี่ยวกับการเจริญสมถะวิปัสสนาอย่างนี้น่ะ
มันก็ไปได้คล่องแคล่วในเมื่อฝึกใจให้ตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมอย่างว่านั้นได้
มันก็เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาอยู่ตลอดเวลา
บุคคลมีใจตั้งมั่นแล้ว ย่อมคิดแก้ปัญหาความขัดข้องของชีวิต
ได้อย่างว่องไวทันกับเหตุการณ์
เมื่อเกิดมีอุปสรรคอะไรขึ้นในชีวิตจิตใจอันนี้
มันก็มองเห็นช่องทางที่จะแก้อุปสรรคอันนั้นได้โดยปลอดโปร่ง



ดังนั้นท่านผู้มีสมาธิจิตแล้ว จึงมักไม่ค่อยมีเรื่องยุ่งเหยิงเท่าไหร่
ไม่ค่อยก่อเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นก็ไม่เอา
ก่อความทุกข์ความโศกให้แก่ตัวเองก็ไม่มี
เนื่องจากว่าผู้มีใจตั้งมั่นแล้วอย่างนี้ มีเรื่องอะไรกระทบกระทั่งมา
มันก็กำหนดเรื่องนั้นพิจารณาได้เห็นแจ้งประจักษ์ขึ้นมาได้
เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว
มันก็แปรปรวน แตกดับไป ไม่มีอะไรเที่ยงยั่งยืนเลย
จะเป็นเรื่องดีเรื่องชั่วอะไรก็ตามแหละ
มันเกิดขึ้นแล้ว มันก็ดับไป จึงไม่เป็นสิ่งควรยึดถือเอา
โดยเฉพาะเรื่องชั่ว เรื่องที่จะทำให้ใจโลภ ใจโกรธ ใจหลงไปต่างๆ นานา อย่างนี้นะ
มันล้วนแต่เป็นเรื่องที่ไม่ควรยึดถือไว้ทั้งนั้น
ถ้าขืนยึดถือไว้ มันก็ก่อให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงขึ้นมา
ก่อให้เกิดมานะทิฏฐิขึ้นในใจ ก็ทำให้ใจหันไปในทางอกุศลแล้ว
บัดนี้วิตกไปในทางอกุศล เมื่อใจมันน้อมไปทางอกุศล
มันก็กายทำ ใช้วาจาพูดไปในทางอกุศล นี่มันเป็นอย่างนี้
เรื่องมันความชั่วร้ายทั้งหลายที่แสดงออกไปทางกาย ทางวาจา
มันก็ออกไปจากจิตที่ไม่สงบนี้เอง



อย่าไปโทษคนอื่นว่ามาเบียดเบียนตนอย่างโน้นอย่างนี้
ตนถึงได้โกรธ ตนถึงได้เดือดร้อนเป็นทุกข์
ไม่ควรที่จะไปโทษคนอื่นอย่างนั้น
โทษตนเองนี่ไม่ฝึกจิตใจให้ตั้งมั่นต่อกุศลธรรม
มันถึงไม่มีปัญญารู้เท่าความดีความชั่วในโลกนี้
เพราะว่าความดีความชั่วมันเกิดจากคน
บัดนี้เราจะไปเที่ยวปราบบุคคลในโลกอันนี้ไม่ให้ทำชั่ว พูดชั่ว
ด้วยอำนาจอาชญาต่างๆ นี่มันไม่ได้น่ะ ไม่มีใครทำได้ในโลกอันนี้



พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ปราบตัวเองนี่แหละ อย่าไปคิดปราบคนอื่น
เมื่อปราบใจตัวเองได้ ห้ามใจตัวเองได้แล้วอย่างนี้นะ
มันก็ไม่มีความเดือดร้อนอะไร มันจะเดือดร้อนอะไร
เช่น เขาด่ามาเนี่ยเราก็ไม่ด่าตอบซะ แล้วเรื่องมันก็ไม่ลุกลามต่อไปอีก
เราก็ไม่ยึดเอาคำด่าของเขามาไว้ในใจ
มาวิตกวิจารณ์ว่าคนนั้นด่าเรา คนนี้ด่าเรา คนนั้นเสียดสีเรา ไม่วิตกมันละ
เพราะอันนั้นมันเป็นสมบัติของคนอื่นเขาต่างหาก
คำด่าว่าเสียดสีนั่นมันไม่ใช่สมบัติเราแล้ว
มันก็เป็นของไม่ดี เราจะไปยึดเอามาทำไม
ก็สอนใจตัวเองเข้าไปอย่างนี้นะ เมื่อสอนใจตัวเองได้ มันปลงก็วางได้
เมื่อได้กระทบกระทั่งกับเรื่องไม่ดีแต่ละครั้งๆ เราก็เอาชนะใจตัวเองได้
ไม่ยึดไม่ถือเอาไว้ในใจนานไปๆ มันก็รู้เท่าทัน
แล้วบัดนี้เรื่องไม่ดีเรื่องชั่วต่างๆ กระทบกระทั่งมา
มันก็ไม่ตื่นเต้นไม่หวั่นไหว เพราะฝึกมาแล้วนี่
ฝึกปล่อยฝึกวางมาแล้ว จนชินเลยทีเดียว มันต้องเป็นอย่างนี้นา



การฝึกฝนจิตใจนี่ให้พากันเข้าใจ
เราจะปล่อยให้จิตมันยึดถือเรื่องชั่วไว้ในใจอยู่อย่างนั้น
มันก็เดือดร้อนอยู่อย่างนั้นแหละ
แล้วก็มักจะไปกระทบกระทั่งกับผู้อื่นเรื่อยไป ผู้มีใจร้อนอยู่ด้วยเรื่องชั่วต่างๆ เหล่านั้น
ดังนั้นแหละมนุษย์เรามันจึงทะเลาะวิวาทกันอยู่บ่อยๆ
ผูกเวรต่อกันและกันอยู่อย่างนั้นไม่หยุดยั้ง
ก็เพราะใจนี่น่ะมันไปยึดเอาความชั่วของคนอื่นมาไว้เป็นอารมณ์
ดังนั้นมันจึงคิดแก้แค้นกันอยู่ไม่รู้รอด แล้วยังไม่เห็นว่ามันเป็นทุกข์
การไปยึดเอาความชั่วของผู้อื่นมาเป็นสมบัติของตนเอง



ถ้าผู้ใดทวนกระแสจิต พิจารณาได้ว่าการไปยึดเอาเรื่องชั่ว
ที่ผู้อื่นระบายออกมาจากภายในจิตใจนั้น
มาไว้เป็นสมบัติของตนนี้ มันเป็นทุกข์ มันเดือดร้อนหลาย
มันทำให้เกิดอกุศลจิตขึ้นมา ไม่ดีเลย
ถ้าคิดเห็นอย่างนี้แล้ว ผู้นั้นมันก็ปล่อยวางทิ้งไปเลย เรื่องนั้นไม่ยึดไว้แล้ว
แต่นี่มันไม่ได้ทวนกระแสจิตเข้ามาพิจารณาให้เห็นโทษของความยึดถือในเรื่องที่ไม่ดีนั้น
คนเรามันจึงเป็นอย่างนั้น ขอให้เข้าใจ



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก พระธรรมเทศนา “เพียรสอดส่องมองย้อน” ใน ธรรมโอวาทหลวงปู่เหรียญ
โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน โดย ชมรมกัลยาณธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP