จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๓๑๑ คำหยาบ ปรุงแต่งจิตให้หยาบ



311 talk



สมองส่วนหน้าทำงานหนัก
แปลว่าคิดมาก แต่พลาดเป้า
จิตจะอยู่ในอาการรู้ตามจริงได้น้อย
เนื้อตัวผ่อนคลายได้น้อย


สมองส่วนหลังทำงานดี
แปลว่าคิดน้อย แต่เข้าจุด
จิตจะอยู่ในอาการรู้ตรงๆ
เนื้อตัวผ่อนคลายหมด


ตอนฟาดคำหยาบคายใส่หูใคร
ด้วยเจตนาเสียดแทง
ให้เขาเจ็บใจ ปวดแสบปวดร้อน
หรือแม้แอบสาปแช่งเงียบๆ
ด้วยความมาดหมาย
ให้อีกฝ่ายจงพินาศจริงๆ
สมองส่วนหน้าจะทำงานหนักขึ้น
และไม่เท่านั้น
ยังมีเรื่องของการสะสม
เปลือกหนาๆ หยาบๆ ของวจีทุจริต
ห่อหุ้มจิตให้หยาบขึ้นเรื่อยๆด้วย


ฉะนั้น จงอย่าได้สงสัย
หากวันไหนพ่นคำหยาบคายร้ายแรง
หรือสาปแช่งใครแม้ด้วยการแอบคิด
แล้วทำสมาธิไม่ขึ้น
(สำหรับท่านที่ใช้ ))เสียงสติ(( น่าจะเข้าใจง่าย
วันไหนวาจาดี สมองก็พร้อมจะดี
ปล่อยให้ ))เสียงสติ((
ยกระดับขึ้นสู่ภาวะเงียบสงัดทางความคิด
ได้ในเวลาอันสั้น
แต่วันไหนก่อวจีทุจริตแรงๆ
))เสียงสติ(( ก็ไม่อาจเจาะเปลือกหนาๆ
เข้าไปยกจิตยกใจให้สว่างเป็นสมาธิได้)


อนึ่ง คุณอาจอ้างว่า
เห็นผู้ที่มีสมาธิดีบางคน
ก็ติดพูดหยาบคายอยู่เรื่อย
ทำไมยังเข้าสมาธิได้
อันนั้นขอให้เข้าใจว่า
เขา/เธอ/ท่าน อาจเคยเก็บเนื้อเก็บตัว
เข้าสมาธิได้ถึงจุดหนึ่ง
จนจิตมีความอ่อนโยน นุ่มนวล
แม้ติดการพูดคำหยาบโดยนิสัยทางวาจา
ก็ไม่ได้ประสงค์ร้ายด้วยอาการทางจิต
จึงไม่มีเขม่าควันแห่งโทสะ
ตกค้างห่อหุ้มจิตให้หยาบตามคำหยาบ
รู้สึกเพียงว่าภาวะหยาบลอยอยู่ห่างๆ แผ่วๆ
แล้วเลือนหายไป
เหลือแต่จิตที่สว่าง นุ่มนวล ทรงสมาธิอยู่


แต่สำหรับคนเริ่มคิดเอาดี
ทางการเจริญสติ เจริญสมาธิ
สังเกตใจตัวเองเถิดว่า
เมื่อเพ่งเล็งอยากด่าสาดใส่หูใคร
จิตจะประกอบด้วยโทสะ
เหมือนมีไฟรุนจิตให้พลุ่งพล่าน
จากนั้น หลังโพล่งด่าเสร็จ
เขม่าควันของโทสะ
จะทิ้งคราบหนาๆ ดำๆไว้
ทำให้จิตอับแสง และหยาบกระด้าง
ถ้าพยายามเข้าสมาธิในบัดนั้น
จะรู้สึกเหมือนผ่านชั้นหินแข็งๆ
แม้เป็นสมาธิสว่างเบาได้ชั่วขณะสั้นๆ
ก็เด้งกลับออกมาสู่ผิวนอกหยาบๆ หนักๆอีก


สรุปว่า จิตหยาบจากคำด่าหยาบๆ
เข้ากันไม่ได้กับสมาธิจิตอันประณีต
การตั้งใจเว้นขาดจากวจีทุจริตร้ายๆ
จึงเป็นนโยบายที่ดี
หากหวังความเจริญจิตเจริญใจที่ยั่งยืน!


ดังตฤณ
มิถุนายน ๒๕๖๔




(ดูข้อมูล ))เสียงสติ(( เพิ่มเติมได้ที่ เสียงสติ.com)








review


เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์
ได้ตรัสแก่อุบาสกชาวสักกะผู้มาเข้าเฝ้าถึงที่ประทับ
ถึงการรักษาอุโบสถศีลอย่างสม่ำเสมอ
รายละเอียดติดตามได้ในคอลัมน์ "ธรรมะจากพระสูตร"
ตอน "สักกสูตร ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงเตือนอุบาสกชาวสักกะให้รักษาอุโบสถเป็นนิตย์"


เมื่อบุคคลได้ฝึกจิตใจของตนให้ตั้งมั่นต่อกุศลธรรมแล้ว
ย่อมสามารถปล่อยวางต่อสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้ตนเป็นทุกข์ได้
ดังความตามพระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" ตอน "เพียรสอดส่องมองย้อน (ตอนที่ ๒)"


หากเกิดราคะกับบุคคลที่ตนเองก็รู้ว่าไม่มีทางเป็นไปได้
จะมีวิธีการตัดใจจากรักครั้งนี้ได้อย่างไร
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ทำอย่างไรจึงจะตัดใจจากความรักที่ไม่ถูกต้องได้"


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP