จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๓๐๙ แค่เข้าใจผิด ก็ไม่เป็นสมาธิแล้ว



309 talk



<<< ศึกษาธรรมะไม่ต้องเอาอะไรมาก
แค่ทำใจปล่อยวางได้ก็พอ >>>
ข้อเท็จจริง คือ กิเลสตัณหาไม่ปรานีใคร
ในนิพพานสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า
นิพพานเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก เป็นสิ่งที่ไม่มีตัณหา
(คือ ถ้าทำลายตัณหาไม่ได้ ก็ถึงนิพพานไม่ได้
แม้แกล้งทำใจปล่อยวางได้แป๊บๆ
ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก
เป็นทุกข์อีก ทำใจไม่ได้กันอีกไม่รู้จบ)


<<< ธรรมแท้เรียบง่าย
ถ้าต้องทำอะไรยุ่งยาก แปลว่าไม่ใช่ >>>
ข้อเท็จจริง คือ ตอนเหลือจิตหนึ่งเดียว
ว่างวาย เรียบง่ายมากจริงๆ
แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น
ต้องผ่านอุปสรรค
ทำลายความเข้าใจผิดด้วยการศึกษาธรรม
ทำลายความตระหนี่ด้วยทาน
ทำลายความสกปรกทางจิตด้วยศีล
พูดง่ายๆว่า ต้องผ่านอุปสรรคยุ่งยากกันทั้งนั้น


<<< หวังมรรคผล ให้ทำวิปัสสนา
อย่ามัวแต่ทำสมถะ >>>
ข้อเท็จจริง คือ ต้องดีทั้งสมถะและวิปัสสนา
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอากังเขยยสูตรว่า
ถ้าหวังเป็นโสดาบันบุคคล
ให้บริบูรณ์ในศีล
ประกอบธรรมเครื่องระงับจิต (สมถะ)
ไม่ทำฌานให้เหินห่าง
ประกอบด้วยวิปัสสนา
เพิ่มพูนสุญญาคาร
(จิตว่างจากความฟุ้งและความหลง)


<<< สมัยนี้ไม่มีทางทำฌานได้
เพราะสิ่งยั่วยุเยอะ >>>
ข้อเท็จจริง คือ ไม่ได้อยู่ที่ยุคสมัย
แต่อยู่ที่การประพฤติตัวและวินัย
ใครมีวินัย ยังกายให้วิเวกได้
จิตก็วิเวกเป็นเงาตามตัวได้
แต่เมื่อปักใจเชื่อเรื่องยุคสมัยและสิ่งแวดล้อม
ก็ไม่มีกำลังใจตั้งแต่แรก
ยิ่งถ้าคล้อยตามและเผยแพร่ความเห็นผิด
ก็ยิ่งจะเกิดวิบาก ส่งผลให้จิตอ่อน
ตั้งสมาธิไม่ได้ไปอีกหลายชาติด้วย


<<< ร่างกายไม่สำคัญ ขอแค่ใจนิ่งก็พอ >>>
ข้อเท็จจริง คือ สมาธิจิตเป็นของเปราะบาง
ตั้งยาก ล้มง่าย
ต้องการร่างกายที่แข็งแรงเป็นพื้นฐานรองรับ
สังเกตได้ว่า พวกไม่ออกกำลังกาย
นั่งสมาธิจะโงกง่วงเสมอ


<<< ต้องมีครูคอยกำกับ >>>
ข้อเท็จจริง คือ ครูสอนไม่เป็นก็มี
ครูสอนผิดก็มี
นักเรียนเริ่มเห็นกายใจเป็นรูปนามแล้ว
แต่สั่งให้กลับมายึดคำบริกรรมต่อก็มี
ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญกว่าครูกำกับ
คือ แนวทาง ความเข้าใจที่เป็นสัมมาทิฏฐิ
ดังเช่นอานาปานสติสูตร และสติปัฏฐานสูตร
ซึ่งพระพุทธเจ้ายกให้เป็นศาสดาแทนพระองค์
เมื่อเข้าใจแนวทางแม่นๆ
ก็จะเหมือนมีแผนที่ประกันการหลงทางไว้แต่แรก
แม้ลองผิดลองถูกเอง
ในที่สุดก็ต้องจับทางถูกได้


<<< เข้าใจว่าฟังและทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง
ก็ต้องได้สมาธิกันเลย >>>
ข้อเท็จจริง คือ
ถ้าศีล ๕ ไม่สะอาด จิตก็ไม่สะอาดพอจะนิ่งใส
ถ้านิวรณ์ ๕ ยังมาก จิตก็รกรุงรังเกินกว่าจะสงบ
(นิวรณ์ คือ อยากในกาม ผูกใจพยาบาท
ปล่อยใจฟุ้งซ่านจัด ง่วงงุนซึมเซา และขี้สงสัย)
หากจะเข้าทางอย่างถูกต้อง
อย่างน้อยต้องมีจิตตวิเวก
อันเกิดจากการรักษาศีล ละนิวรณ์ได้บ้างแล้ว
ถ้าขยันสร้างเหตุให้จิตฟุ้งยุ่งเหยิง
ก็ไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมทำตามวิธีที่ถูกแล้ว
ยังไม่อาจสงบได้เลยสักที


<<< เข้าใจว่าทำสมาธิได้แล้ว คือได้เลย >>>
ข้อเท็จจริง คือ สมาธิจิตเหมือนไข่แตกง่าย
เตาะเบาๆก็แตกแล้ว
เพียง ๕ นาทีหลังออกจากสมาธิดีๆ
ถ้าตั้งจิตไว้แย่ ก็เข้าสมาธิไม่ได้อีกเลย
อาจจะตลอดทั้งชีวิตที่เหลือ


<<< เข้าใจว่า ‘นิมิตสมาธิ’
เช่น แสงสวรรค์ เป็นเรื่องน่าเอา >>>
ข้อเท็จจริง คือ อยากได้อะไร
ความอยากนั้นก็ขวางสมาธิตั้งแต่ต้นทางแล้ว


<<< เข้าใจว่า ‘นิมิตสมาธิ’ เป็นเรื่องน่ารังเกียจ >>>
ข้อเท็จจริง คือ เราไม่สามารถตั้งจิตเป็นสมาธิได้
ถ้าขาดนิมิตเป็นตัวตั้ง
หรือขาดนิมิตเป็นตัวประคองจิตไว้
คนที่ทำสมาธิสำเร็จจริงๆ คือคนที่เข้าใจจุดสำคัญนี้
เช่น เริ่มขึ้นมา หลับตา คอตั้งหลังตรง
เกิดความรู้สึกถึงอิริยาบถนั่ง
แค่นั้นก็คือเกิด ‘นิมิตกายนั่ง’ ปรากฏขึ้นมาในใจแล้ว
หากรู้อิริยาบถนั่งก่อน
แล้วค่อยหายใจเข้าออกโดยไม่ลืมอิริยาบถนั่งนั้น
ในที่สุดก็เกิด ‘นิมิตรูปนั่งหายใจ’ คงค้าง
ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่าจิตนิ่ง รู้ชัด เป็นสมาธิแล้ว


<<< เข้าใจว่านั่งอย่างเดียว ไม่ต้องเดินก็ได้ >>>
ข้อเท็จจริง คือ นั่งมากไปจะขี้เกียจ ติดสงบ
ผู้ที่ปฏิบัติได้ถึงขั้นแยกขันธ์
ขนาดบรรลุธรรมได้นั้น
ส่วนใหญ่กำลังลืมตา
มีสติอยู่ในชีวิตประจำวันกันเกือบทั้งสิ้น
ซึ่งที่จะมีสติและสมาธิเพียงพอเช่นนั้น
ก็ต่อเมื่อเอาสมาธิที่ได้จากการนั่ง
ไปฝึกรู้เนื้อรู้ตัวด้วยการเดินจงกรมกันสม่ำเสมอ


<<< เข้าใจว่าสมาธิแช่แข็ง คือ ฌาน
เมื่อถึงแล้ว แปลว่าบรรลุเป้าหมายอันเป็นสุดยอดแล้ว >>>
ข้อเท็จจริง คือ สมาธิแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ไม่รู้ว่าอยู่ในอิริยาบถไหน
ไม่รู้ว่าจิตว่างสักแต่เป็นจิตดวงหนึ่ง
เป็นสมาธิที่เอามาใช้เจริญสติต่อไม่ได้
ยังไม่ได้ขึ้นทางสมาธิแบบพุทธเลยด้วยซ้ำ
อย่าว่าแต่บรรลุเป้าหมายแบบพุทธ


<<< เข้าใจว่าทำสมาธิได้ คือได้ปัญญา >>>
ข้อเท็จจริง คือ ส่วนใหญ่คนที่ทำสมาธิได้
จะหลงสำคัญผิดหนักกว่าเก่า
หรือถึงขั้นหลงตัวแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
เพราะมีตัวตนใหม่เจ๋งๆโผล่ขึ้นมาซ้อนตัวตนเดิม
ความเข้าใจที่ถูกต้องก่อนได้สมาธิ
จึงสำคัญสูงสุด สำคัญกว่าการได้สมาธิเสียอีก
หากคุณมีข้อมูลในหัวว่า
กายใจไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน
ให้อุ่นใจว่ามีประกันทางปัญญาแบบพุทธไว้
และยิ่งหากเกิดสมาธิแล้วไม่หลงลืม
ยังคงเอาสมาธินั้นมารู้อิริยาบถปัจจุบัน
เห็นว่าทุกความรู้สึกนึกคิดในอิริยาบถนั้นไม่เที่ยง
คงสภาพเดิมเป็นตัวไหนๆไม่ได้
นั่นแหละ! ค่อยอุ่นใจว่าคุณกำลังเดินมรรค
เพื่อถึงเป้าหมายแบบพุทธแล้ว!


ดังตฤณ
พฤษภาคม ๒๕๖๔







review


พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย

ถึงการตอบคำถามแก่พวกเดียรถีย์ เกี่ยวกับธรรมทั้งปวง
รายละเอียดติดตามได้ในคอลัมน์"ธรรมะจากพระสูตร"
ตอน "มูลสูตร ว่าด้วยธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล มีนิพพานเป็นที่สุด"


ผู้ปฏิบัติธรรมจะมีวิธีในการพิจารณาขันธ์ ๕ อย่างไร
เพื่อจะได้เจริญก้าวหน้าในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป
ติดตามได้จากวิสัชนาธรรม โดย หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
เรื่อง"อุบายในการพิจารณาขันธ์ ๕"


กรรมใดในอดีตที่ส่งผลให้คนบางคนกว่าจะได้สิ่งใดมา
ก็ยากเย็นแสนเข็ญเป็นอย่างยิ่ง
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ทำไมบางคนกว่าจะได้อะไรสักอย่างถึงได้ยากเย็นเหลือเกิน"


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP