กระปุกออมสิน Money Literacy

การออมและการลงทุน ความเหมือนที่แตกต่าง


Money Literacy

โดย Mr.Messenger

การออม (Saving) ก็คือการสะสมเงินได้ ไว้ใช้ในยามที่เราต้องการ หรือเวลาฉุกเฉิน ซึ่งโดยส่วนใหญ่ เราจะใช้ศัพท์ว่า การออมกับการฝากเงินในธนาคาร ผ่านบัญชีออมทรัพย์ หรือบัญชีเงินฝากประจำของธนาคาร เนื่องจากความปลอดภัยที่สูง และความสะดวกสบายในการฝากและถอนเงิน

ส่วนการลงทุน (Investment) คือ การนำเงินที่เรามีอยู่เป็นทุนในการสร้างผลกำไร หรือทำให้เงินนั้นงอกเงยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากการลงทุนประสบความสำเร็จก็จะได้รับผลตอบแทนในรูปของกำไรที่สูงขึ้น จากเงินลงทุนแรกเริ่ม แต่ถ้าเกิดกลับข้างกัน การลงทุนนั้นล้มเหลวขึ้นมา ผู้ลงทุนก็ต้องยอมรับผลขาดทุน (สูญเสียเงินต้น) ไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ โอกาสที่สามารถเป็นไปได้ทั้งกำไรและขาดทุนนี้ เรารู้จักกันชื่อว่า “ความเสี่ยง” (Risk) นั้นเองครับ

ความเหมือนของการออม และการลงทุนก็คือ เราต้องมีเงินเหลือเก็บก่อน สำหรับใครที่ทำงานมาทั้งเดือน พอครบสิ้นเดือนปั๊
จ่ายหนี้บัตรเครดิตปุ๊ เงินในบัญชีก็หายวับไปกับตา นั้นแปลว่า คุณไม่สามารถจะออม หรือลงทุนได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ก็อาจต้องเริ่มจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของเราเสียก่อนนะครับ สำรวจว่ารายจ่ายอันไหนที่ไม่เป็นประโยชน์ และเกินความจำเป็น ก็ตัดทิ้งเสีย อย่าไปเสียดายมัน เพราะอนาคตที่ดีกว่ากำลังรอเราอยู่

ส่วนความแตกต่างก็คือ เจ้าตัวที่เรียกว่า “ความเสี่ยง” นี้ล่ะครับ การออมผ่านการฝากธนาคาร ไม่มีความเสี่ยงก็จริง แต่ก็ให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย ซึ่งต้อยต่ำเหลือเกิน ถ้าเราคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น เราก็ต้องลงทุน พอเราเริ่มลงทุนปั๊
สิ่งที่ตามเรามาก็คือความเสี่ยงนี้ล่ะครับ

การลงทุนในปัจจุบันแบ่งออกเป็นหลายประเภทด้วยกัน มีทั้งที่เสี่ยงน้อย เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงมาก ผลตอบแทนของการลงทุนก็มากน้อยตามความเสี่ยงที่แตกต่างกันไปครับ มีอะไรบ้าง น่าสนใจยังไง ค่อยมาดูกันอีกที

คราวนี้พอได้ยินคำว่า
ความเสี่ยง ในความหมายภาษาไทย มันดูเหมือนโอกาสขาดทุนเพียงอย่างเดียวแต่จริงๆแล้ว ความเสี่ยงหมายถึงโอกาสที่จะได้ทั้งกำไรที่สูงขึ้น หรือ ขาดทุนจากเงินต้น ถ้าเปรียบเทียบไปก็คงเหมือนกับการเจริญวิปัสสนาด้วยวิธีดูจิตนั้นล่ะครับ เราปล่อยให้จิตใจทำงานของมันไป ถ้าจิตไประลึกรู้อารมณ์ได้ สติก็เกิด หากยังจำไม่ได้ สติก็ไม่เกิด ตอนที่สติไม่เกิดเนี่ย เราก็มีโอกาสเกิดอกุศลจิต และเกิดกิเลสขึ้นได้ ส่วนการทำสมถะ นั้นก็คือการรักษาจิตไว้ในอารมณ์เดียวนานๆ โอกาสเกิดอกุศลจิตก็แทบไม่มี แต่ตัวสติก็เกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน เปรียบไป การลงทุน ก็เหมือนการเจริญวิปัสสนา ส่วนการออม ก็เหมือนกับการทำสมถะ นั้นล่ะครับ

เพื่อผลกำไรที่สูงขึ้น ต้องไม่กลัวขาดทุน อยากมีสติ ก็ต้องไม่กลัวเกิดกิเลส

สุดท้าย การลดความเสี่ยงในการขาดทุน ก็คือ มีวินัยในการลงทุน และต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เรากำลังลงทุนอะไร ความเสี่ยงของการลงทุนประเภทนั้นมีอะไร เราจะมีวิธีจัดการกับความเสี่ยงยังไง พร้อมเมื่อไหร่ ประตูแห่งโลกการลงทุน ก็พร้อมเปิดรับเสมอครับ

เป็นยังไงครับ สนใจลงทุนบ้างหรือยัง ถ้ายัง... ติดตามต่อได้ในฉบับหน้าครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP