ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

กุสินาราสูตร ว่าด้วยภิกษุผู้ประสงค์จะโจทก์ผู้อื่น พึงพิจารณาธรรม ๕ ประการในตน


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์เป็นที่นำไปทำพลีกรรม
ใกล้กรุงกุสินารา ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย.
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทก์ผู้อื่น
พึงพิจารณาธรรม ๕ ประการในตน พึงเข้าไปตั้งธรรม ๕ ประการไว้ในตน แล้วจึงโจทก์ผู้อื่น
ธรรม ๕ ประการอันภิกษุพึงพิจารณาในตนเป็นไฉน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทก์ผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า
เราเป็นผู้มีกายสมาจารอันบริสุทธิ์ เราเป็นผู้ประกอบด้วยกายสมาจารอันบริสุทธิ์
ไม่ขาด ไม่บกพร่องหรือหนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ
ภิกษุทั้งหลาย หากว่าภิกษุมิได้เป็นผู้มีกายสมาจารอันบริสุทธิ์
มิได้เป็นผู้ประกอบด้วยกายสมาจารอันบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่บกพร่องไซร้
จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นว่า “เชิญท่านจงศึกษาความประพฤติทางกายเสียก่อนเถิด”
จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้น ดังนี้.


อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทก์ผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า
เราเป็นผู้มีวจีสมาจารบริสุทธิ์ เราเป็นผู้ประกอบด้วยวจีสมาจารอันบริสุทธิ์
ไม่ขาด ไม่บกพร่องหรือหนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ
ภิกษุทั้งหลาย หากว่าภิกษุมิได้เป็นผู้มีวจีสมาจารบริสุทธิ์
มิได้ประกอบด้วยวจีสมาจารอันบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่บกพร่องไซร้
จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นว่า “เชิญท่านจงศึกษาความประพฤติทางวาจาเสียก่อนเถิด”
จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้น ดังนี้.


อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทก์ผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า
เราเข้าไปตั้งเมตตาจิตไม่อาฆาตไว้ในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายแล้วหรือหนอ
ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ ภิกษุทั้งหลาย
หากว่าภิกษุมิได้เข้าไปตั้งเมตตาจิตไม่อาฆาตไว้ในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายไซร้
จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นว่า “เชิญท่านจงเข้าไปตั้งเมตตาจิต
ไว้ในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายเสียก่อนเถิด” จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้น ดังนี้.


อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทก์ผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า
เราเป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจ
แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงหรือหนอ
ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ
ภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุไม่เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ
ไม่เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจ
แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงไซร้
จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นว่า “เชิญท่านจงเล่าเรียนคัมภีร์เสียก่อนเถิด”
จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้น ดังนี้.


อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นโจทก์ประสงค์จะโจทก์ผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า
เราจำปาติโมกข์ทั้งสองได้ดีแล้ว จำแนกดีแล้ว ให้เป็นไปดีแล้ว โดยพิสดาร
วินิจฉัยดีแล้วโดยสูตรโดยอนุพยัญชนะหรือหนอ
ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ
ภิกษุทั้งหลาย หากว่าภิกษุเป็นผู้ไม่จำปาติโมกข์ทั้งสองได้ดีแล้ว
มิได้จำแนกดีแล้ว มิได้ให้เป็นไปดีแล้ว โดยพิสดาร
มิได้วินิจฉัยด้วยดีโดยสูตรโดยอนุพยัญชนะ ภิกษุนั้นถูกถามว่า
ท่านผู้มีอายุ สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วในที่ไหน ดังนี้ แก้ไม่ได้
จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นว่า “เชิญท่านศึกษาวินัยเสียก่อนเถิด”
จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้น ดังนี้
ธรรม ๕ ประการนี้ อันภิกษุเป็นโจทก์พึงพิจารณาในตน.


ธรรม ๕ ประการ อันภิกษุผู้เป็นโจทก์พึงให้เข้าไปตั้งไว้ในตนเป็นไฉน คือ
จักกล่าวโดยกาลอันควร จักไม่กล่าวโดยกาลอันไม่ควร ๑
จักกล่าวด้วยคำจริง จักไม่กล่าวด้วยคำไม่จริง ๑
จักกล่าวด้วยคำอ่อนหวาน จักไม่กล่าวด้วยคำหยาบ ๑
จักกล่าวด้วยคำอันประกอบด้วยประโยชน์
จักไม่กล่าวด้วยคำอันไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
จักมีเมตตาจิตกล่าว จักไม่เพ่งโทษกล่าว ๑
ธรรม ๕ ประการนี้ อันภิกษุผู้เป็นโจทก์พึงเข้าไปตั้งไว้ในตน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทก์ผู้อื่น
พึงพิจารณาธรรม ๕ ประการนี้ในตน
พึงเข้าไปตั้งธรรม ๕ ประการนี้ไว้ในตน แล้วจึงโจทก์ผู้อื่น.


กุสินาราสูตร จบ



(กุสินาราสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๘)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP