ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

กายสูตร ว่าด้วยธรรมที่ละด้วยกายวาจาไม่ได้ แต่ละได้ด้วยปัญญา


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๒๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย
ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา มีอยู่
ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยวาจา มิใช่ด้วยกาย มีอยู่
ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้ มีอยู่
ภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา เป็นไฉน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติบางส่วนอันเป็นอกุศลด้วยกาย
เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้ว ได้กล่าวกะภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า
ท่านผู้มีอายุเป็นผู้ต้องแล้วซึ่งอาบัติบางส่วนอันเป็นอกุศลด้วยกาย
เป็นการดีหนอ ที่ท่านผู้มีอายุจงละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต ดังนี้
ภิกษุนั้นอันเป็นเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้ว
ว่ากล่าวอยู่ ย่อมละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ เรียกว่า อันบุคคลพึงละด้วยกาย ไม่ใช่ด้วยวาจา.


ภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยวาจา มิใช่ด้วยกาย เป็นไฉน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติบางส่วน อันเป็นอกุศลด้วยวาจา
เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้ว ได้กล่าวกะภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า
ท่านผู้มีอายุเป็นผู้ต้องอาบัติบางส่วน อันเป็นอกุศลด้วยวาจา
เป็นการดีหนอ ที่ท่านผู้มีอายุจงละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ดังนี้
ภิกษุนั้นอันเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้ว
ว่ากล่าวอยู่ ละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ เรียกว่า อันบุคคลพึงละด้วยวาจา มิใช่ด้วยกาย.


ภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ละด้วยวาจาไม่ได้
พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้ เป็นไฉน
ภิกษุทั้งหลาย โลภะอันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้
พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้.
โทสะ (ความประทุษร้าย) อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้
พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้.
โมหะ (ความหลง) อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้
พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้.
โกธะ (ความโกรธ) อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้
พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้.
อุปนาหะ (ความผูกโกรธ) อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้
พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้.
มักขะ (ความลบหลู่) อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้
พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้.
ปฬาสะ (ความตีตนเสมอ) อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้
พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้.
มัจฉริยะ (ความตระหนี่) อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้
พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้.
ภิกษุทั้งหลาย ความริษยา (ความไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นได้ดี) อันชั่วช้า
อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้.


ภิกษุทั้งหลาย ก็ความริษยาอันชั่วช้าเป็นไฉน
ภิกษุทั้งหลาย คฤหบดีหรือบุตรแห่งคฤหบดีในโลกนี้ ย่อมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์
ย่อมสมบูรณ์ด้วยข้าวเปลือก เงินหรือทอง ทาสหรือคนเข้าไปอาศัยของคฤหบดี
หรือบุตรแห่งคฤหบดีผู้ใดผู้หนึ่ง ย่อมคิดอย่างนี้ว่า
โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรแห่งคฤหบดีนี้ ไม่พึงสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ข้าวเปลือก เงินหรือทอง ดังนี้
อนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยแก่คนไข้
สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่ง ย่อมคิดอย่างนี้ว่า
โอหนอ ท่านผู้มีอายุนี้ ไม่พึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยแก่คนไข้ ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าความริษยาอันชั่วช้า
ภิกษุทั้งหลาย ความริษยาอันชั่วช้า อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้
พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้.


ภิกษุทั้งหลาย ความปรารถนาอันชั่วช้า อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้
พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงจะได้
ภิกษุทั้งหลาย ก็ความปรารถนาอันชั่วช้าเป็นไฉน
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา
ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้มีศรัทธา,
เป็นผู้ทุศีล ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้มีศีล,
เป็นผู้ได้สดับน้อย ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้ได้สดับมาก,
เป็นผู้มีความยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ย่อมปรารถนาว่า
คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้ชอบสงัด,
เป็นผู้เกียจคร้าน ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้ปรารภความเพียร,
เป็นผู้มีสติหลงลืม ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้มีสติตั้งมั่น,
เป็นผู้มีใจไม่ตั้งมั่น ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้มีใจตั้งมั่น,
เป็นผู้มีปัญญาทราม ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้มีปัญญา,
เป็นผู้ยังไม่สิ้นอาสวะ ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้สิ้นอาสวะ,
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าความปรารถนาอันชั่วช้า
ภิกษุทั้งหลาย ความปรารถนาอันชั่วช้า อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้
ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้.


ภิกษุทั้งหลาย หากว่าโลภะครอบงำภิกษุนั้นเป็นไป
หากว่าโทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ มัจฉริยะ
ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ครอบงำภิกษุนั้นเป็นไป
ภิกษุนั้นอันบุคคลพึงรู้อย่างนี้ว่า
โลภะย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้หารู้ฉันนั้นไม่
เพราะฉะนั้น โลภะจึงครอบงำท่านผู้มีอายุนี้
โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ มัจฉริยะ
ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า
ย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้หารู้ฉันนั้นไม่
เพราะฉะนั้น โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ มัจฉริยะ
ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า จึงครอบงำท่านผู้มีอายุนี้.


ภิกษุทั้งหลาย หากว่าโลภะไม่ครอบงำภิกษุนั้นเป็นไป
หากว่าโทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ มัจฉริยะ
ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ย่อมไม่ครอบงำภิกษุนั้นเป็นไป
ภิกษุนั้นอันบุคคลพึงรู้อย่างนี้ว่า
โลภะย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้ย่อมรู้ชัด ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น โลภะจึงไม่ครอบงำท่านผู้มีอายุนี้
โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ มัจฉริยะ
ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า
ย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้ย่อมรู้ชัด ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ มัจฉริยะ
ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า จึงไม่ครอบงำท่านผู้มีอายุนี้.


กายสูตร จบ



(กายสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๘)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP