สารส่องใจ Enlightenment

สิ่งใดเป็นเครื่องวัดการปฏิบัติธรรมได้ว่าถูกทางแล้ว



วิสัชนาธรรม โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย




ข้าราชการผู้ใหญ่จากกระทรวงศึกษาคนหนึ่งถามว่า


ปุจฉา (๑) - มีสำนักปฏิบัติมากในสมัยนี้ เมื่อเข้าไปศึกษาแต่ละสำนักก็สอนไม่เหมือนกัน
เป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติลังเลใจไม่ทราบว่าจะปฏิบัติตามแบบสำนักไหนดีจึงจะถูกต้อง



วิสัชนา (๑) - น่าเห็นใจมาก สำหรับผู้ฟังเฉยๆ จะลังเลอยู่
เลยไม่ทราบจะปฏิบัติตามสำนักไหน
แต่สำหรับผู้ปฏิบัติมาแล้วย่อมได้รับรสชาติต่างๆ
แล้วเลือกเอาแต่สิ่งที่เห็นว่าสมควรเหมาะสมกับอัธยาศัยของตน
ยังจะเป็นประโยชน์ให้เพิ่มความรู้อีกด้วย
อาจารย์แต่ละองค์ท่านปฏิบัติมาแคล่วคล่องทางไหนก็สอนไปในทางนั้น
เพราะท่านเห็นว่าถูกที่สุดดีที่สุดแล้ว
ทั้งๆ ที่ท่านสอนอยู่นั้น (บางสำนักก็ไม่มีในคัมภีร์พุทธศาสนาด้วย)
สอนเอาตามความเห็นของท่าน
แต่ก็ยังดีมีคนปฏิบัติตามมากเหลือหลาย ทำให้คนละชั่วทำดีได้อักโข
แต่บางองค์หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ พอได้ศึกษาจากครูบาอาจารย์
ได้ความรู้ความเข้าใจเล็กๆ น้อยๆ หรือศึกษาจากตำราแล้วก็เอาไปสอนเลย
ตัวเองยังไม่ได้ฝึกหัดอบรมให้เป็นไป
หรือฝึกหัดอบรมพอเป็นไปบ้างแต่ยังไม่ชำนาญเพียงพอ
แล้วก็ไปตั้งสำนักฝึกหัดอบรมลูกศิษย์
พอลูกศิษย์เป็นสมาธิภาวนามีนิมิตเห็นสิ่งต่างๆ
ก็ชมเชยสรรเสริญว่านั้นถูกแล้วดีแล้วอะไรต่างๆ นานา
เลยทำให้เขาเกิดวิปริตเสียผู้เสียคนไปก็มาก



การฝึกหัดสมาธิภาวนาเป็นการฝึกหัดใจ
ซึ่งเป็นของไม่มีตัวไม่มีตน ไม่เหมือนการสอนหนังสือ
ต้องฝึกหัดด้วยตนเองให้ชำนิชำนาญ รู้จักเล่ห์กลมารยาของใจเสียก่อน
จึงจะฝึกหัดคนอื่นได้ถูกต้อง
เวลาลูกศิษย์เป็นไปต่างๆ จึงจะสามารถแก้ไขเขาได้
เพราะนิสัยของคนเราเป็นไม่เหมือนกัน
บางคนก็ชอบสงบซึมเซ่อ บางคนก็ชอบเห็นโน้นเห็นนี่
เมื่อเขาไปพูดให้อาจารย์ฟัง อาจารย์ก็เห็นเป็นของแปลกและน่าอัศจรรย์
อาจารย์ไม่เคยเป็นและไม่เคยเห็น ก็ชมเชยว่านั้นถูก ดีแล้ว อะไรไปตามทำนองนี้
ลูกศิษย์ก็ยิ่งได้ใจใหญ่ ทำให้เสียคน
เป็นเหตุให้คนอื่นซึ่งจะเริ่มทำหรือยังไม่เคยทำเลยก็กลัวกันใหญ่
พุทธศาสนานี้สอนให้คนดี มิใช่สอนให้คนเป็นบ้า
แต่ผู้สอนเองสอนไม่ถูกทางจึงทำให้คนเป็นบ้า
ไม่เหมือนสอนหนังสือ สอนผิดแล้วลบได้ เขียนใหม่




ปุจฉา (๒) - ท่านปฏิบัติอยู่นี้เชื่อว่าถูกหนทางอยู่แล้วหรือ มีอะไรเป็นเครื่องวัด


วิสัชนา (๒) - ผู้เขียนเชื่อว่าถูกทางแล้วเพราะปฏิบัติมา ๖๐ กว่าปียังไม่เคยท้อถอย
และครูบาอาจารย์ก็ปฏิบัติเช่นนี้มาหลายชั่วคนแล้ว
อนึ่ง การปฏิบัตินั้นก็ไม่ผิดจากศีล สมาธิ ปัญญา ตามแนวที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้
และการปฏิบัตินั้นก็มิใช่เพื่อเห็นแก่ตัว ปฏิบัติเพื่อละสิ่งที่ชั่วจริงๆ
แล้วตัวเองก็เห็นด้วยใจของตัวเองจริงๆ ว่าสิ่งที่ชั่วนั้นค่อยหายไปโดยลำดับ
แต่การที่ถูกมากถูกน้อยมันเห็นด้วยใจของตนเอง คนอื่นจะตัดสินให้ไม่ได้




ปุจฉา (๓) - ปฏิบัติแบบไหนที่เรียกว่าถูกแล้ว
แบบยุบหนอพองหนอ หรือสัมมาอรหัง หรืออานาปานสติ หรือพุทโธ



วิสัชนา (๓) - ถูกด้วยกันทั้งนั้น ขอให้ตั้งสติกำหนดอารมณ์ของบริกรรมนั้นๆ ให้มั่นคง
จนกระทั่งจิตเป็นหนึ่งอยู่ในอารมณ์นั้นๆ ก็ใช้ได้ทั้งนั้น
เมื่อจิตรวมลงเต็มที่แล้ว คำบริกรรมที่บริกรรมอยู่นั้นก็จะหายหมด
จะยังเหลือแต่จิตตัวเดียว
เพราะคำบริกรรมนั้นเป็นแต่เครื่องล่อให้จิตรวมเข้ามาเท่านั้น
การบริกรรมก็คือต้องการให้จิตรวมเข้าอยู่ที่เดียว
เมื่อรวมเข้ามาอยู่ในที่เดียวกับจิตได้แล้ว คำบริกรรมนั้นไม่มีปัญหา
จะใช้คำบริกรรมอื่นนอกเหนือจากนี้ก็ได้เหมือนกัน
ผู้ไม่เข้าใจถือเอาแต่คำบริกรรมนั้นเป็นหลัก จิตจึงไม่ก้าวหน้า




ปุจฉา (๔) - จิตที่ตั้งสติให้มั่นกำหนดให้เป็นอารมณ์อันเดียวอย่างที่ท่านว่านี้ เห็นท่านจะได้แล้ว


วิสัชนา (๔) - ถ้าผู้เขียนได้แล้วก็ไม่ต้องทำอย่างนั้นอีกต่อไป
ถ้าไม่เห็นการกระทำอย่างนี้อยู่นานตั้ง ๖๐ กว่าปี ก็ไม่มีประโยชน์อะไร
การภาวนามันพูดถึงเรื่องของจิต จิตเป็นของไม่มีตัวมีตน
ถ้าพูดว่าจิตเรา เรารักษาได้แล้ว ใครจะไปเชื่อ
มิใช่เหมือนกับวัวควายผูกจูงมาให้ดูกันได้
ถึงวัวควายก็เอาเถิด จะผูกจะจูงมาได้ก็แต่ตัวของมันเท่านั้น
ส่วนจิตใจของมันจะมาด้วยหรือเปล่าก็ไม่ทราบ
มันอาจจะหากินหญ้าอยู่ในทุ่งหญ้าที่ไหนก็ไม่ทราบ



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก ปุจฉาวิสัชนาในประเทศและต่างประเทศ
โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี).
กรุงเทพ : ชวนพิมพ์ ๕๐
, ๒๕๕๓.


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP