สารส่องใจ Enlightenment

อนุปุพพิกถา (ตอนที่ ๒)


 

พระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๒๙



อนุปุพพิกถา (ตอนที่ ๑) (คลิก)



แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงว่าธรรมดาผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีปัญญา
ผู้เปี่ยมไปด้วยเมตตากรุณาก็ย่อมไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นและสัตว์อื่น
ย่อมสำรวมกายวาจาของตนด้วยดี
ไม่ให้ไปกระทบกระทั่งกับบุคคลอื่นและสัตว์อื่นอย่างนี้
เมื่อพระองค์เจ้าทรงแสดงมาถึงบทนี้ ก็แสดงว่าเป็นผู้สำรวมในศีลนั้นเองแหละ
ความมุ่งหมายผู้ฟังก็ย่อมรู้ได้ ก็ย่อมมีศรัทธามั่นในศีลลงไป
พยายามรักษาเจตนาในใจตนไว้เสมอว่า
ไม่ให้มีเจตนาคิดเบียดเบียนบุคคลอื่นและสัตว์อื่นเลย
เมื่อบุคคลได้มาบำเพ็ญทานการกุศล
พร้อมด้วยการวิรัติละเว้นจากบาปโทษมลทินต่างๆ ดังกล่าวมาเช่นนี้แล้ว
ก็ย่อมจะได้รับอานิสงส์ผลทั้งในปัจจุบันและเบื้องหน้า



ในปัจจุบันนี้ก็เป็นผู้มากไปด้วยบริษัท บริวาร มิตร ญาติ สหาย
ไม่มีใครแสดงตนเป็นศัตรูเลย เพราะว่าเป็นผู้มีใจคอกว้างขวาง
ไม่ตระหนี่ในสมบัติข้าวของที่ได้มา แบ่งสันปันส่วนให้คนยากคนจนไป
เพราะฉะนั้นมันจึงไม่มีใครคิดอิจฉาเบียดเบียนเลย
ก็ย่อมอยู่ด้วยความเป็นผู้ไม่มีเวรไม่มีภัย
อันนี้เป็นอานิสงส์ในปัจจุบันซึ่งมองเห็นได้ชัดๆ
เมื่อละโลกนี้ไปแล้วก็ย่อมบันเทิงในสวรรค์
ย่อมได้เสวยผลแห่งบุญกุศลที่ทำมาไว้ในชาตินี้
โดยไม่ต้องได้ทำไร่ไถนา ไม่ได้ทำการค้าขาย เหมือนอย่างโลกมนุษย์อันนี้
บุญกุศลหากเนรมิตสมบัติพัสถานต่างๆ ให้ตามต้องการ


เมื่อพระองค์ทรงแสดงอานิสงส์ผลแห่งทาน ศีล
เป็นการฟอกจิตของยสกุลบุตรนั้นแหละให้ขาวสะอาด
เหมือนกับสบู่หรือว่าผงซักฟอกสำหรับซักฟอกผ้าผ่อนที่มัวหมองด้วยฝุ่นละอองธุลี
ให้ผ้านั้นขาวสะอาดดีนี้ฉันใด
ข้อปฏิบัติคือทาน ศีล และอานิสงส์แห่งทาน ศีลเหล่านี้
ยสกุลบุตรได้ฟังแล้วก็มีจิตใจแช่มชื่นเบิกบาน
คิดว่าตนนั้นเป็นผู้มีบุญแหละถึงได้เกิดมาในตระกูลเศรษฐีอย่างนี้
แล้วตนก็ไม่ได้เบียดเบียนบุคคลใดและสัตว์จำพวกใดเลย
เมื่อมาตรวจดูกาย วาจา ใจของตนอย่างว่ามานี้แล้ว
ก็เห็นแต่ความบริสุทธิ์ ปราศจากบาปโทษมลทิน
ดังนั้นจึงได้มีจิตใจเบิกบานผ่องใส


เมื่อพระองค์พิจารณาเห็นว่ายสกุลบุตรมีจิตใจผ่องใสอยู่ด้วยบุญด้วยกุศลด้วยดีแล้ว
จึงได้ทรงแสดงธรรมขั้นสูงขึ้นไปกว่านั้น
เพื่อให้ผู้ฟังนั้นได้มีความรู้ความคิด ความคิดเห็นเลื่อนขั้นขึ้นไป
ก็ได้แสดงโทษแห่งกามคุณให้ยสกุลบุตรฟัง
โดยทรงยกอุปไมยอุปมาว่า กามทั้งหลายนั่นเหมือนอย่างร่างของสัตว์ที่ตายแล้ว
บรรดาพวกแร้งก็ดี กาก็ดี สุนัขจิ้งจอกก็ดี ยื้อแย่งกันกิน
ตัวไหนมีกำลังมากตัวนั้นก็กินมาก ตัวไหนมีกำลังน้อยตัวนั้นก็ได้กินน้อย
แต่กว่าจะกินได้ก็ต้องสู้กันอย่างสุดเหวี่ยง แสนทุกข์ แสนยาก แสนลำบาก
อันนี้ฉันใด ผู้บริโภคกามทั้งหลายก็เป็นเช่นกันกับซากศพ
ที่บรรดาสัตว์ทั้งหลายยื้อแย่งกันกินนั้นเอง อันนี้ก็นับว่าเป็นความจริงเหลือเกิน
อันนี้ก็ดี ดังที่เราคงรู้คงได้ยินได้ฟังกันมาแหละ
ไอ้เรื่องเบียดเบียนกัน ฆ่ากันตายอยู่ในโลกอันนี้
มันก็ล้วนแต่แย่งกามคุณกันนี้เอง ไม่ใช่อย่างอื่นใด
แล้วกามทั้งหลายเปรียบเหมือนอย่างหอก ดาบ แหลน หลาว
คอยแต่ละทิ่มแทงให้เจ็บปวดรวดร้าวเวทนาอยู่อย่างนั้น


กามทั้งหลายเปรียบเหมือนอย่างเขียงหั่นชิ้นเนื้อ
ธรรมดาเขียงนี้มีแต่สึกหรอเรื่อยไป ไม่มีหรอกมันจะงอกขึ้นมาอีก
อันนี้ฉันใดก็เหมือนกันแหละ ผู้บริโภคกามทั้งหลายนี่ก็มีตั้งแต่เสื่อมลงไปเลย
ทั้งร่างกายก็ทรุดโทรมลงไป ทางจิตใจก็เสื่อมลงไปจากคุณความดี
ผู้มัวเมาในกามคุณนะ เสื่อมไปจากบุญจากกุศลเป็นอย่างนั้น


กามทั้งหลายเปรียบเหมือนอย่างต้นไม้ที่มีผล
ธรรมดาต้นไม้ที่มีผลนี่ นอกจากพวกนกพวกสัตว์ต่างๆ มากินกันแล้ว
หมู่มนุษย์ก็ไปตัดไปลานกิ่งก้านของมันลงเพื่อจะเอาผลมันมาบริโภค
ก็ต้องได้ถูกรบกวน ต้นไม้ที่มีผลน่ะ
ฉันใดบุคคลผู้ยินดีในกามคุณทั้งหลาย เมื่อได้รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสนั้นมาแล้ว
ก็มีผู้อยากมายื้อแย้งเอาไปอยู่อย่างนั้นแหละ
ต้องได้รักษา ต้องได้กังวลห่วงใยอยู่อย่างนั้นแน่ะ
มีเงินทองข้าวของมาแล้ว ยิ่งมีคนพยายามจะมายื้อแย้งเอาไป
ถ้ามีเมียสวยๆ งามๆ ยิ่งแล้วใหญ่ ยิ่งเป็นเวร
ดีไม่ดีเขาฆ่าตัวตายซ้ำเลย อันนี้ก็มีอยู่ถมไป นี่แหละ
เพราะฉะนั้นพระองค์เจ้าจึงได้เปรียบกามคุณไว้เหมือนกันกับต้นไม้ที่มีผล


ทรงเปรียบว่ากามทั้งหลายนั้นเปรียบเหมือนอย่างหลุมมูตรหลุมคูถ
เมื่อบุคคลใดตกลงไปในหลุมมูตรหลุมคูถนั้นแล้ว
ก็มีแต่อัปยศอดสูได้รับแต่ความไม่สบายใจเลย
เพราะว่ามันสกปรกโสมม มีกลิ่น ก็กลิ่นอะไรต่ออะไรอย่างนี้แหละ
ทรงเปรียบกามทั้งหลายเหมือนกับยืมสิ่งของของคนอื่นมา
เมื่อถึงเวลาแล้วก็ต้องส่งคืนเขา อันนี้ฉันใดก็อย่างนั้นแหละ
บรรดารูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส อันเป็นที่น่ารักใคร่พอใจต่างๆ ตนได้มาครอบครอง
อยู่ไปๆ ถึงเวลาแล้วมันก็ต้องแตกดับทำลายไป
ก็เท่ากับว่าเป็นของยืมเขามาใช้ชั่วคราวเท่านั้นเอง
อันนี้แหละ บรรดาว่าโทษแห่งกามคุณทั้งหลาย
ที่พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงให้พุทธบริษัททั้งหลายฟังไว้


เมื่อยสกุลบุตรได้ฟังโทษแห่งกามคุณนี้แล้วก็มีจิตใจเบื่อหน่ายในกามทั้งหลาย
เมื่อพระองค์พิจารณาเห็นจิตของยสกุลบุตรเบื่อหน่ายในกามทั้งหลายอย่างนั้นแล้ว
ก็จึงได้ทรงแสดงอานิสงส์แห่งการออกจากกาม
ว่าเมื่อบุคคลเมื่อหากว่ามีจิตใจไม่ฝักใฝ่ในกามทั้งหลายแล้ว
ก็ย่อมถึงซึ่งความสงบระงับ มีจิตใจเบิกบานผ่องแผ้ว
ทั้งมีสติ มีปัญญา รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์
รู้จักประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน
เมื่อยสกุลบุตรได้ฟังเช่นนั้นแล้วจิตใจก็คลายจากกามคุณ กามตัณหาทั้งหลายออกไป
มีจิตใจสงบระงับเป็นอย่างดี


(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

จาก พระธรรมเทศนา “อนุปุพพิกถา” ใน ธรรมโอวาทหลวงปู่เหรียญ
โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน โดย ชมรมกัลยาณธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP