ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ทำอย่างไรให้เลิกคิดอิจฉาริษยาผู้อื่น



ถาม – เราจะกำจัดความคิดอิจฉาริษยาผู้อื่นออกไปจากหัวได้อย่างไรครับ



มันอดไม่ได้ มันรู้สึกว่าเป็นสิ่งรบกวนนะ
เพราะความคิดอิจฉาริษยาเนี่ยมันเป็นความร้อน
แล้วคนที่เจริญสติหรือว่าคนที่เข้ามาอยู่ในเส้นทางบุญเนี่ยนะ
จะอยากได้ความเย็นมากกว่า
เพราะฉะนั้นเนี่ยพอเกิดความอิจฉาริษยาร้อนๆ ขึ้นมาจะรำคาญตัวเองนะ
อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา ก็เหมือนกับคนที่ฟุ้งซ่านเนี่ยแล้วรำคาญ
ฟุ้งซ่านในระดับที่มันหนัก หนักเป็นเครื่องรบกวนนะ
แล้วก็เกิดเป็นความรำคาญขึ้นมาเนี่ย
ฉันใดก็ฉันนั้น อันนี้ความริษยามันยิ่งกว่าความฟุ้งซ่าน
เพราะมันมีความร้อนเข้ามาด้วยนะครับ


วิธีที่จะเลิกอิจฉาริษยาคนอื่นนะ
ประการแรกนะคุณต้องเข้าใจการทำงานของนิสัยทางความคิด

ที่มันเพ่งคนอื่นที่เขาดีกว่า มีมากกว่าหรือว่ามีสิ่งที่เราอยากได้
มันจะเป็นเหมือนกับบูมเมอแรง เราขว้างออกไป เดี๋ยวมันกลับมาใหม่นะ
มันไม่มีการดับหายไปเฉยๆ หรอก มันจะติดความเคยชิน มันจะติดเป็นนิสัยนะ
ทีนี้พอเราเข้าใจว่ามันจะมีรอบของความคิดที่ย้อนกลับมาเสมอ
เราไปห้ามไม่ได้ หยุดไม่ได้
หรือถอดออกจากหัวเหมือนกับเป็นอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่มันบกพร่องไม่ได้นะ
แต่เราจะสามารถรู้ว่ามันกลับมาเมื่อไหร่
นี่ความคิดชุดเดิม ความรู้สึกอิจฉาริษยาร้อนๆ แบบเดิมเนี่ย เราสามารถรู้ได้นะ
มันรู้ไม่ยากหรอก ก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งนะ คนเดิมๆ หรือว่าเรื่องเดิมๆ ที่ซ้ำไปซ้ำมา
ที่มันเป็นความรู้สึกว่า แหม! อยากได้ ทำไมชีวิตเรามันไม่ได้ น้อยใจนะ
คนนี้เราไม่ชอบหน้ามัน แต่ทำไมมันได้นะ
ความไม่ชอบใจเนี่ยมันมีผลเสียอย่างนี้นะ เมื่อไหร่เขาได้ดีขึ้นมาเราจะเป็นทุกข์นะ


ก็มองเห็นว่ารอบของความคิดเนี่ยมันกลับมาเมื่อไหร่
มันคิดแบบนี้ซ้ำๆ แล้วบางทีเนี่ยเป็นคำเดิมๆ เป๊ะเลยนะ
เหมือนกับวัฏจักรของอะไรบางอย่าง
วัฏจักรของนรกทางใจที่มันย้อนกลับมา ย้อนกลับมาๆ
มันเหมือนกับหายไปแล้ว แล้วก็เหวี่ยงกลับมาอีกๆ
คือเมื่อไหร่ที่คุณรู้สึกได้ว่านี่เป็นเหมือนกับบูมเมอแรงที่ย้อนกลับมา
รู้สึกจริงๆ นะ ไม่ใช่รู้สึกแค่ว่านี่สักแต่เป็นการคิดอีกแล้วอะไรอย่างนี้
แต่รู้สึกเหมือนกับอะไรบางอย่างที่มันเหวี่ยงกลับมา ย้อนกลับมาเนี่ย
พอเห็นได้นะ คุณจะรับรู้ว่ารอบของการเหวี่ยงกลับมาเนี่ย มันจะมีความแตกต่างไปเรื่อยๆ
ถ้าคุณมีอาการทางใจไปตรึกนึก
ครั้งไหนที่มันย้อนกลับมาแล้วไปจับไว้ ยึดไว้ มาคิดมาค้นไปเยอะๆ เนี่ยนะ
มากกว่า ๑ นาทีขึ้นไปเนี่ย มันจะย้อนกลับมาถี่ขึ้นนะ
คุณเป็นนักสังเกตอย่างนี้


ถ้าครั้งไหนที่มันย้อนกลับมาแล้วคุณนึกตามนะ เอาตามมัน เล่นตามเกมของมัน
ยอมตกเป็นเบี้ยล่างของความคิดอิจฉาริษยาเนี่ย
ยิ่งนานเท่าไหร่นะ มันก็จะยิ่งย้อนกลับมาถี่ขึ้นเท่านั้น
แต่ถ้าหากว่าพอมันย้อนกลับมาแล้วเนี่ย คุณมีสติรู้
แล้วก็ เออ ความคิดแบบนี้จิตแบบนี้ไม่อยากได้ ไม่อยากเอานะ มันร้อนๆ
สังเกตดูมันจะย้อนกลับมาน้อยลง
คือมันจะทิ้งระยะห่าง แล้วก็ย้อนกลับมาเนี่ย จำนวนรอบที่ย้อนกลับมาเนี่ยน้อยลง
สังเกตอย่างนี้ สังเกตอย่างนี้นะ อย่าไปพยายามกำจัดออก
แต่เอาแค่สังเกตว่าถ้าคุณเล่นกับมัน มันจะมาบ่อย
ถ้าคุณไม่เล่นกับมัน มันจะมาทิ้งระยะห่าง


เนี่ยพอเห็นแบบนี้ไป คุณจะเริ่มมีความรู้สึกขึ้นมาว่าอาการทางใจหรือว่าความคิดเนี่ย
จริงๆ เนี่ยมันไม่ใช่ของของคุณนะ มันไม่ใช่ตัวคุณนะ
มันจะมีความรู้ขึ้นมาว่าจริงๆ แล้วเป็นสภาวะอะไรอย่างหนึ่ง
ที่ไหลเข้าไหลออกไม่ต่างกับลมหายใจ

แต่มันต่างกับลมหายใจตรงที่ว่าลมหายใจเนี่ยเราต้องหายใจอยู่เรื่อยๆ ใช่ไหม
แต่ความคิดไม่จำเป็นต้องมาอยู่เรื่อยๆ มันขึ้นอยู่กับว่าคุณเล่นกับมันหรือเปล่า
ถ้าเล่นกับมันนะ มันมาจังเลย แต่ถ้าไม่เล่นกับมัน เดี๋ยวมันค่อยๆ ทิ้งระยะไป
แล้วมันจะค่อยๆ ทิ้งระยะห่างออกไปเรื่อยๆ

เนี่ยดูโดยความเป็นแบบนี้นะ เพื่อให้เห็นความไม่เที่ยง
แล้วก็รู้ รู้ทันว่าจริงๆ แล้วเนี่ยความคิดอิจฉาริษยาอะไรเนี่ยนะ
มันเป็นแค่ภาวะที่มันเคลื่อนมาครอบงำเราได้ก่อน
ความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น แล้วเป็นไม่ได้ ดีไม่ได้ แบบคนอื่นเขาเนี่ย
มันจะมีรอบของมัน แล้วก็แต่ละครั้งเนี่ยมันครอบเราได้ไหม
ถ้ามันครอบเราได้เนี่ย เราจะตกเป็นเบี้ยล่าง ตกเป็นข้าทาสของมัน


แต่ถ้าเราเห็นมันเป็นภาวะเหวี่ยงมาเหวี่ยงไปย้อนมาย้อนไป
เนี่ยมันจะค่อยๆ มีอำนาจน้อยลง ครอบงำเราได้น้อยลงนะครับ
จนในที่สุดเนี่ย พอถึงจุดหนึ่งนะ พอมันจะสลัดทิ้งนะ
มันรู้สึกว่า เอ๊! เนี่ยเป็นภาวะไร้สาระ เป็นภาวะที่มันไม่มีตัวความเป็นเราอยู่ในนั้น
หรือว่าไม่มีความน่าสนใจที่เราควรจะไปเล่นกับมันเลยเนี่ย
คือถึงจุดนั้นเนี่ย มันคลิกเดียวนะ มันหลุดผลัวะออกไปทั้งกะบิเลย
แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย หรือถ้ากลับมาเราก็ไม่รู้สึกอะไรเลย
คือรู้สึกแค่เป็นภาวะความคิดที่ย้อนกลับมา
เป็นภาวะอนัตตา เป็นภาวะที่ไม่ใช่ตัวตนที่พยายามย้อนกลับมาครอบงำเรา
แต่เราไม่ยอมให้ครอบงำอีกต่อไป
เนี่ยตัวนี้แหละที่คุณจะรู้สึกว่าคุณไม่เป็นทาสมันอีกแล้ว



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP