สารส่องใจ Enlightenment

อนุปุพพิกถา (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๒๙




ต่อนี้ไปจึงตั้งใจฟังธรรม อย่าส่งใจไปทางอื่น
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์มีปรจิตตวิชาญาณ
ทรงรู้วาระจิตของบุคคลอื่น
พระองค์มีอาสยานุสยญาณ ทรงรู้อัธยาศัยหรือวาสนาบารมีของบุคคล
นัยว่าเมื่อพระองค์พิจารณาเห็นอุปนิสัยแห่งมรรคผลของบุคคล
ผู้ที่มาฟังมานั่งอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์แล้ว นั่นนะ
นั่นแหละพระองค์จึงทรงแสดงอนุปุพพิกถา
แล้วก็ทรงแสดงให้คฤหัสถ์ฟัง ไม่ได้ทรงแสดงให้บรรพชิต
นี้ก็พึ่งเข้าใจความมุ่งหมายของอนุปุพพิกถาเทศนา
ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในครั้งนั้น
ครั้งแรกก็ทรงแสดงแก่พระยสกุลบุตรนั่นเอง
เพราะว่าพระยสกุลบุตรนี้ ท่านเป็นสุขุมาลชาติ
เป็นลูกของมหาเศรษฐีในเมืองพาราณสี
มีปราสาทอยู่ตั้งสามหลังในสามฤดู เหมือนๆ กับพระพุทธเจ้า


ก็ด้วยอำนาจบุญวาสนาที่ท่านได้บำเพ็ญมาแต่อเนกชาติมันมาเต็มบริบูรณ์แล้ว
จึงบันดาลให้ท่านไม่ยินดีในการเสวยกามสุขสมบัติเหล่านั้นเลย
ท่านพิจารณาเห็นกามสุขสมบัตินั้นว่าเป็นของวุ่นวาย
มีแต่เรื่องขัดข้อง มีแต่เรื่องวุ่นวาย ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ
เมื่อมันเกิดความรู้สึกขึ้นในใจอย่างนี้แล้ว
ในคืนวันหนึ่งก็จึงได้โอกาสหนีออกไปจากปราสาทเหล่านั้น
ก็ด้วยอำนาจบุญวาสนาบารมีนั่นแหละเดินบ่นไป
ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ เดินไปแล้วก็บ่นไป
พอไปใกล้ที่ประทับของพระศาสดา
ซึ่งพระองค์ประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั่นแหละ



เมื่อพระองค์ได้ทรงฟังเสียงของยสกุลบุตรบ่นมาอย่างนั้น
พระองค์เจ้าทรงตรัสตอบว่า ดูกร ยสกุลบุตร ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง
ท่านจงมา แล้วจงนั่งลง เราจะแสดงธรรมให้ฟัง
เมื่อยสกุลบุตร ได้ฟังอย่างนั้นแล้วก็ดีอกดีใจมาก
ก็ถอดรองเท้า แล้วก็ถอดชฎาที่สวมอยู่บนศีรษะออกไป
แล้วก็นั่งกราบพระพุทธองค์ลงไปเรียบร้อย
เมื่อนั้นพระองค์ก็ทรงแสดงอนุปุพพิกถา อนุปุพพิกถานั้นมีอยู่ ๕ ข้อ
๑. ทานกถา ว่าด้วยเรื่องการให้การบริจาคทาน
๒. สีลกถา ว่าด้วยการรักษาศีลให้บริสุทธิ์
๓. สัคคกถา ว่าด้วยสวรรค์ อันเป็นผลของการให้ทานและรักษาศีลให้บริสุทธิ์นั้น
๔. กามาทีนวกถา ว่าด้วยเรื่องของโทษกามคุณ
จะเป็นกามคุณของมนุษย์ก็ตาม เป็นกามของเทพเจ้าเหล่าเทวาใดๆ ก็ตาม
ล้วนแต่มีโทษทั้งนั้นแหละ แล้วบัดนี้ก็แสดง
๕. เนกขัมมานิสังสัคคกถา
ทรงแสดงอานิสงส์แห่งการออกจากกามทั้งหลายดังกล่าวมานั้น


สุดท้ายก็ได้ทรงแสดง อริยสัจจธรรมทั้ง ๔ จบลง
ยสกุลบุตรก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา
แล้วก็ได้ปฏิญาณตนถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต
เมื่อปฏิญาณตนเสร็จแล้ว ก็ได้ขอบวชกับพระศาสดา
พระองค์ก็ทรงเหยียดพระหัตถ์ออกไป ทรงตรัสว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา
ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเราตรัสไว้ดีแล้ว
จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นไปจากทุกข์โดยชอบเถิด
พอพระองค์เจ้าตรัสเท่านี้จบลง
บริขาร ๘ อันเป็นทิพย์ก็เลื่อนลอยมา สวมเอายสกุลบุตรทันที
ผมเฝ้าหนวดเคราอะไร ปลิวไปหายไป
บัดนี้ก็เลยได้ชื่อใหม่เพิ่มเติมเข้าไปอีกว่า พระยสกุลบุตร เข้าไปแล้ว



นี่วิสัยของท่านผู้มีบุญมากเป็นอย่างนี้ ในการที่ได้เกิดร่วมพระพุทธเจ้า
แล้วเมื่อได้ออกบวชอย่างนี้ท่านไม่เอาบริขารอะไรติดตัวไปเลย
เมื่อมีศรัทธาอยู่ในป่าก็ขอบวชอยู่ในป่า
พระองค์ก็ทรงพระอนุญาตให้บวชเป็นภิกขุได้ ด้วยพระวาจาดังกล่าวแล้ว
บริขารอันเป็นทิพย์ก็เลื่อนลอยมาสวมเอาเลย
ไม่ใช่แต่พระยสกุลบุตรเท่านั้น แม้พระสาวกองค์อื่นๆ
ถ้าลงว่าพระศาสดาทรงตรัสเรียกว่า จงเป็นภิกขุมาเถิด
เท่านี้ล่ะ ก็เป็นอันว่า บริขาร ๘ อันเป็นทิพย์ก็เลื่อนลอยมาทันที


แต่ถ้าพระองค์พิจารณาดูว่า
คนผู้นี้ตั้งแต่อดีตชาติหนหลังไม่ได้ให้อัฐบริขารเป็นทานมา
อันทานอย่างอื่นนั้นได้ให้อยู่ แต่ว่าไม่ได้ให้อัฐบริขารเป็นทาน
อย่างนี้นะ ผลแห่งทานดังกล่าวนี้ก็จะไม่เกิดขึ้นแก่กุลบุตรผู้นี้
เมื่อพระองค์ทรงทราบอย่างนี้แล้ว ก็ทรงแนะนำให้ไปหาบริขาร ๘ เสียก่อน
แล้วจึงมาขอบวชใหม่ เป็นอย่างนั้น
แต่ถ้าหากว่าพระองค์ได้เหยียดพระหัตถ์ออก เรียกว่าเอหิภิกขุอุปสัมปทาแล้ว
เป็นอันว่าผู้นั้นมีบุญแท้ๆ ผู้นั้นได้ให้ทานอัฐบริขารมาแต่ชาติก่อน
ผลแห่งทานนั้นก็จะมาปรากฏในปัจจุบันนั้น
เช่นอย่างพระยสกุลบุตรดังกล่าวแล้ว


พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเรื่องทานนั้น
ก็คือว่าทรงแสดงถึงเรื่องความเป็นผู้ที่ไม่ให้เห็นแก่ตัว
นี่หากว่าเป็นคนบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทองข้าวของอย่างนั้นแล้ว
ก็อย่าไปเห็นแก่ความสุขส่วนตัว พึงเฉลี่ยความสุขส่วนตัวนั้นแก่คนยากคนจนข้นแค้นบ้าง
อย่างนี้จึงชื่อว่าเป็นความดีของผู้เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลาย
เป็นคุณธรรมของผู้เป็นบัณฑิต



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก พระธรรมเทศนา อนุปุพพิกถาใน ธรรมโอวาทหลวงปู่เหรียญ
โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน โดย ชมรมกัลยาณธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP