สารส่องใจ Enlightenment

ทุกขสัจจ์ (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย หลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู




ทุกขสัจจ์ (ตอนที่ ๑)(คลิก)



จิตของเราเมื่ออบรมไปแล้วมันลง มันสงบ มันหมดเรื่องความเว้า
อันนั้นแหละมันจึงรู้ว่า เราจะเอาสัญญานี่
เราเอาสัญญานี่แหละพิจารณาร่างกายของเรา
พิจารณาไปๆ มันจึงจะเกิดญาณทัศนะ
ความรู้ความเห็นตามความเป็นจริง มันแจ้งประจักษ์




เบื้องต้นเราก็พิจารณาใช้สัญญานั่นแหละ
ท่านเจ้าคุณอุบาลีท่านว่ามันจะต้องเอาโลกีย์นั่นมาใช้เสียก่อน
พระพุทธเจ้าก็เอาโลกีย์นี่แหละใช้เสียก่อน มันจึงได้สำเร็จถึงโลกุตระพอดี
โลกียะเป็นเหตุ โลกียะเป็นรากเป็นเค้า
ค้นคว้าสังขารร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
ค้นคว้าพิจารณาไม่ให้ขาด ให้มีสติสัมปชัญญะประจำ ให้มันรู้จิต
มีราคะก็ให้มันรู้ หายราคะก็ให้มันรู้ เอาประจำอยู่นั่นแหละ
จิตมีโทสะก็ให้มันรู้ จิตหายโทสะก็ให้มันรู้ หายโมหะก็ให้มันรู้
จิตหดหู่ก็ให้มันรู้ จิตผุดผ่องก็ให้มันรู้ มันเกิดขึ้นเพราะเหตุใด
จิตเราเป็นสมาธิ ได้ฌาน ฌานอุปจาระ ฌานขนิกะสมาธิ อุปจารสมาธิ
จิตเป็นรูปาวจรก็ให้รู้ จิตไม่เป็นก็ให้รู้ ให้มีฌาน
จิตเป็นอิสระไม่เป็นอิสระก็ให้รู้
จิตมีฌาน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานก็ให้มันรู้
จิตเป็นสมาธิก็ให้มันรู้ จิตไม่เป็นสมาธิก็ให้รู้
จิตอยู่ในภพในชาติ ยังไม่หลุดพ้นก็ให้มันรู้ จิตหลุดพ้นก็ให้มันรู้
ให้กำหนดจิต พิจารณาจิต เอาประจำอยู่อย่างนี้ มันก็บ่พ้นไปได้ดอก



ครั้นเราตั้งใจอยู่แล้ว ได้หนึ่งเดือน สองเดือนบ่พอ ให้มันตายเสีย
ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน ให้รู้จัก ทำความเพียรเอามันอยู่นั่นแหละ
บทมันรู้ มันจะรู้ปู๊น จตุตถฌานไปซื่อๆ นู่น จะรู้เมื่อมันสงบ
มันบ่มีต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์ ธรรมชาติภูเขาที่ไหนไม่มี
มีแต่แผ่นดินกับครอบฟ้าจางปางอยู่ฮั่น
อันนั้นแหละจิตมันรวม บริสุทธิ์แล้ว
ครั้นมันเห็นอย่างนั้นแล้ว มันบ่มีคน บ่มีหยัง บ่มีหยังหมดสัญญาแล้ว
อากาสานัญจายตนะนี้ เลยขึ้นไปบ่มี มันจะกลับ มันจะเอากันอีก



อยู่บ้านผือ ไปมันทุกมื้อ ไปพรหมโลกนั่นแหละ ไปสวรรค์ก็ไปมื้อนั้นแหละ
ไปมันทุกวัน อยากวันไหนก็ไปวันนั้นแหละ
อันนี้มันสุดแต่คนแล้ว เห็นแจ้งชัด มันจะขึ้นไป ความทุกข์มันจะเห็นไม่มี
เหมือนกันกับจุดตะเกียงเจ้าพายุ แดงโร่อยู่ยังงั้นแหละ มันสงบลงไปแล้ว ไม่มีหยังแล้ว
แต่เราไปเกิดแต่วิญญาณมันก็บ่ดีแล้ว แล้วบ่เป็นหยัง บ่มีหยัง ว่ายังงั้นมันก็บ่ดีแล้ว
มันต้องค้นคว้า จิตเราสงบ มันสงบดีแล้ว บ่มีหยังๆ ว่ายังงั้นมันก็ไม่ถูก
มันต้องค้นคว้า มันสว่างเต็มโลกแน่ะ มันสว่างก็เห็น ก็ค้นคว้าหาสิ่งของได้
ไม่จุดไฟมันมืด ไม่มีดวงไฟมันก็มืด บ่เห็นหยัง
จะเก็บข้าวเก็บของ เราต้องจุดไฟเจ้าพายุขึ้น เราจึงหาเจอะ บ่จุดมันก็ตะเกียงซื่อๆ
นี่ก็เข้าใจว่าดวงไฟมันมืดคือขี้เขม่า มืดก็ต้องขัดเอาเขม่าออก
บ่ขัดออก จุดไปนานๆ มันก็มัวหมองไม่สว่างแล้ว
จิตของเราครั้นไม่สงบแล้วก็มืด
ถ้าไม่มีสิ่งที่หมักหมมให้มันเศร้าหมองขุ่นมัว มันก็สว่าง สว่างแล้วเราก็ค้นคว้า



ท่านจึงว่าจิตเดิมธรรมชาติเลื่อมประภัสสร
แต่อาศัยอาคันตุกะกิเลสเข้ามาหมักหมม จิตมันจึงขุ่นมัวไป
จะเปรียบเหมือนกับแก้วหรือเพชรนิลจินดาที่เกลือกกลั้วอยู่กับฝุ่นธุลีกับพื้นแผ่นดิน
บุคคลผู้ฉลาดมาตรวจว่ามีเพชรพลอย มีบ่อทองคำที่นี่
เขาจะมาขุดขึ้น เอามาเจียระไน จึงเป็นทองคำธรรมชาติ เป็นเพชรเป็นพลอยอันใส
เราต้องตั้งต้นตรงนี้เสียก่อน ธุลีมันก็มีอยู่ จิตเดิมมันมีอยู่ ตั้งใจอยู่
แต่ว่ามันเอาสมมุติเข้าไปใส่
มันหยิบหนังสือขึ้นมาแล้วแต่ละมันมืดมันดันมีแต่ฝุ่นธุลี
มีโคลนมีตมมาเกลือกกลั้วอยู่ ใช้การบ่ได้
ก็เห็นตัวอยู่ชัดๆ จิตของเราก็อย่างนั้นแหละ
เมื่อจิตของเราขัดเกลาดีแล้ว เพื่อไม่ให้มันหลง
ขัดอยู่ทุกวี่ทุกวัน ไม่ให้ทุกข์เข้ามาขุ่นมัวหัวใจ รักษาใจให้มันสว่างอยู่

จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ จิตขัดดีแล้ว อบรมดีแล้ว มีแต่ความสุข
มันสุขก็แม่นจิตเท่านั้นแหละ มันจะรู้สึกได้
กายมันเป็นไปตามเรื่องของมันนั่นแหละ มันก้อนพยาธิม๊ดทั้งก้อน ไม่มีดีสักก้อน
ใจมันไปหมักหมมกับอะไรต่ออะไร เอามาเป็นอารมณ์
อยู่แต่มันอันเดียวเท่านั้น บ่ยึดอันใด
ถ้ามันเห็นโทษแล้ว เวลาไม่มีอะไรมาเกลือกกลั้วปะปนแล้ว มันก็ใสอยู่นั่น
ก็เป็นพระนิพพานเท่านั้นแล้ว ใจอยู่ตามธรรมชาติก็เป็นอย่างนั้น ก็ใสอย่างนั้น


เวทนา ร่างกายมันเป็นธรรมดา มันเป็นรังของโรค เป็นก้อนโรคตั้งแต่ไหนแต่ไรมา
มันเป็นอย่างใดก็ไม่มีความหวั่นไหว
พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ก็ไม่มีความหวั่นไหวเวลามันจะเป็นไป
ร่างกายแล้วแต่มันจะเป็นไปตามเรื่องของมัน หน้าที่ของเขา ทุกขังอยู่นั่น เวทนาอยู่นั่น
เกิดเวทนาก็ให้ฝึกหัดพิจารณาโลกธรรม
รูปอันนี้เราได้มาดีแล้ว เมื่อมันชำรุดทรุดโทรมไป พระพุทธเจ้าก็ไม่มีความหวั่นไหวต่อมัน
มันจะเสื่อมลาภให้มันเสื่อมไปตามวิสัย ใจเราไม่เสื่อม
ความนินทาก็มันลมปาก ครั้นรู้เท่าแล้วจิตไม่กระวนกระวาย
จิตไม่มาเกี่ยวข้องกับร่างกายแล้ว มันก็สุขเท่านั้นแหละ



ความทุกข์กายเกิดขึ้นถ้ารู้เท่าแล้วจิตก็ไม่หวั่นไหว
อโสกํ วิรชํ
ไม่มีกิเลสเครื่องมลทินจะตามได้ ไม่มีความโศกเศร้าต่อความเสื่อมของร่างกาย
ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ความนินทา ความสรรเสริญ มีความรู้สึกเป็นปกติ
นี้ชื่อว่าเป็นผู้รู้เท่าโลก รู้เท่าแล้วไม่มีความทุกข์ใจ
ครั้นไม่รู้เท่าความเปลี่ยนแปลงของร่างกายแล้วก็มีความหวาดเสียว
มีความสะดุ้งอยู่ กลัวอยู่ บ่รู้เท่า ยั่นมันก็บ่หายดอก
ไม่รู้เท่าแล้วมันก็มาเกิดอีก ถ้ามันมาเกิดเป็นมนุษย์มันได้สร้างบารมี
ถ้ามันไปเกิดเป็นอื่นละ โอ เป็นอสุภะอสุภัง กลับชาติเป็นมนุษย์
พระพุทธเจ้าสร้างบารมี ท่านขึ้นไปอยู่พรหมโลกปู๊น
ไปอธิษฐานให้มันดับเสีย ครั้นอธิษฐานให้มันดับแล้ว
มันนอนอยู่ชั่วกัปป์ชั่วกัลป์ มันนอนไม่ได้มาสร้างบารมี
ครั้นอธิษฐานว่าดับเสีย มันไม่ได้เกิดมาสร้างบารมี มีแต่มนุษย์เท่านั้นแหละ
มนุสฺสปฏิลาโภ เกิดเป็นมนุษย์นี่เป็นลาภอันประเสริฐ เพราะได้สร้างบารมี
เกิดเป็นมนุษย์แล้วมาสร้างบาปเฉยๆ มันก็บ่มีลาภแล้ว
อย่าสร้างบาปใส่ตน เกิดมาเป็นลาภแล้ว รีบสร้างบารมีเสีย



ไปอยู่ที่ใด ยั่นมันจะตายเสีย เราตั้งใจแล้วเราตั้งสัตย์อธิษฐานแล้ว
ยังไงมันก็จะให้เป็นชาติสุดท้ายในชาตินี้
การเกิดของเรานี่ เป็นหรือไม่เป็นก็ตาม เราจะทำความเพียรอยู่นั่นแหละ
แม้มันจะตายก็เทียวไปเทียวมาอยู่นี่ ทำมันอยู่นั่นแหละจนตาย ถ้ายังไม่พ้นทุกข์
ก้อนนี้ก้อนตาย เกิดมาก็มาพากันตายเสีย แบกทุกข์อยู่อย่างเรานี่
เข้าป่าเข้าดงไปซื่อๆ เกิดมามีแต่ตายเท่านั้นแหละ
เราไม่ประมาท ได้ตั้งใจทำคุณงามความดีแล้ว ตายมันจะไปทุกข์รึ



อย่าทำบาปทำชั่ว อย่าเห็นแก่ปากแก่ท้อง อย่าเห็นแก่หลับแก่นอน
เราสร้างความดีใส่ตนไว้
ความทุกข์ยากลำบากบ่มีความสบายใจก็แม่นเราสร้างให้ตน ผู้อื่นบ่ได้สร้างให้
จะดีก็แม่นตนสร้างใส่ตนเอง จะชั่วก็สร้างใส่ตนเองดอก
พระพุทธเจ้าสอนให้ทำดี ให้กายดี วาจาดี ใจดี
อย่าเป็นกายสกปรก ใจสกปรก ให้ใจสะอาด กายสะอาด นั่นแหละให้รักษาศีล
ให้นึกว่าเราเป็นอะไร เราเป็นพระเน้อ เราเป็นเณรเน้อ
ได้มาเจอศาสนาธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เป็นของเย็น อยู่เย็นเป็นสุขนะ



ไปอยู่อำเภอท่าน้อยนั่น บ้านผือนั่นแหละ เราจะตายอยู่นั่น
ตากแดด ตากฝุ่น ตากลมอยู่นั่น ให้มันตายอยู่นั่น ที่อำเภอนั่น
เราพูดว่าเป็นแต่พระ ให้พากันตายอยู่นอกสมมุติ อย่าให้มันตายในสมมุติ
นอกสมมุติหมายถึงพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านั่น
ผู้ปฏิบัติตามก็มีความเยือกเย็น ไม่มีความเดือดร้อน
ตายอยู่ป่าชาด ป่ากุง ป่าแก มันฮ้อน ตามตัวก็มีแต่หนอน
ตายอยู่ป่าชาดป่ากุง มีแต่ทิ้งเสียนั่นแหละ



อย่าลืมตน ให้สำนึกตน ให้ดูตน อย่าไปดูผู้อื่น
อย่าเพ่งโทษผู้อื่น ใครทำไม่ดีก็เป็นโทษของเขา โทษของผู้อื่น
จะได้รับความทุกข์ก็แม่นตน ได้รับความสุขก็แม่นตน
เขาทำดี เขาก็ได้รับความสุขของเขาเอง
ให้ดูตน ดูทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ให้ฝึกตน ให้มีสติกับตน
ให้เร่งทำเมื่อร่างกายให้โอกาส เมื่อร่างกายยังดีอยู่ ยังแข็งแรงอยู่ ทำความเพียรก็ได้อยู่
ครั้นแก่มากครือเรานี่ก็บ่ทันแล้ว ได้รับทุกข์ยากทั้งหลายก็ไม่ได้
เครื่องมันเก่าแล้วจะทิ้ง ครือมันไปกับเจ้าของซื่อๆ ก็ทำท่าจะล้มแล้ว
แต่น้อยแต่หนุ่มก็กำหนด เดี๋ยวนี้เราเป็นพระ เดี๋ยวนี้เราเป็นเณรแล้ว
ต่างจากฆราวาสธรรมดาแล้วเพราะมีผ้าเหลืองนั่น
เราต้องมีความสำรวมมีความระวัง อย่าให้ใจคะนอง สนุกสนานไปในอารมณ์
มีกามารมณ์ ต้องหักห้าม มีสติ อย่าไปปล่อยตามอารมณ์
ให้ขะมักเขม้นทำความเพียรภาวนา พุทโธแล้วให้มีสติสำรวมใจอยู่ เอาอิทธิบาทสี่



ตอนเช้าให้มีความสำรวม กายสุจริตัง
กลางวันให้มีสติระวัง กายให้เป็นสุจริต ให้วาจาเป็นสุจริต ให้ใจเป็นสุจริตอยู่
ค่ำมาก็ให้กายวาจาใจเป็นสุจริตอยู่
ให้เดินจงกรม นั่งสมาธิ ให้ชำระนิวรณธรรม
คืออารมณ์ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทัจจะ-กุกุจจะ
ให้ชำระอันนั้นเสีย ให้ใจบริสุทธิ์ ยามใดก็ชำระอันเดียวนั่นแหละ
ครั้นชำระอันนี้แล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์
ไม่มีราคะ โทสะ โมหะมาเกลือกกลั้ว จิตไม่เศร้าหมองแล้ว จิตบริสุทธิ์ผุดผ่อง
จิตบริสุทธิ์แล้วอยู่ที่ใดก็มีความสุข ทำการงานอยู่ก็มีความสุข
ความสุขติดตามผู้นั้นไป เหมือนกันกับเงาตามตนไปอยู่ทุกอิริยาบถ
ยืน เดิน นั่ง นอนเพราะชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์
ใจเศร้าหมองไม่ดีละก็มันก็เป็นทุกข์อยู่นั่น ความทุกข์ติดตามผู้นั้นไป
ทำการงานก็ไม่มีความสุข พูดอยู่ก็ไม่มีความสุข
ความทุกข์ย่อมติดตามเขาไปเหมือนกับกงล้อติดตามรอยเท้าโคไป แอกก็ทับคอมันไป



มนสา เจ ปทุฏฺเฐน มนะคือใจ
ครั้นราคะ โทสะ โมหะ โลภะ ประทุษร้ายแล้ว ผู้นั้นจะพูดอยู่ก็ดี จะทำการงานอยู่ก็ดี
ความทุกข์ย่อมติดตามเขาไปเหมือนกงล้อติดตามรอยเท้าโคไปอยู่
มนสา เจ ปสนฺเนน จิตใจของผู้ใด อันโทษไม่ได้ประทุษร้ายแล้ว จิตใจผ่องใสแล้ว
ความสุขย่อมติดตามเขาไปอยู่เหมือนเงาเทียมตน
ถ้าหากเราไม่มีธุระ ไม่มีการงานอันหยัง
ชำระจิตใจของตนอยู่นั่นแหละ อย่าให้มันไปจองเวรกับเขา
ได้ชื่อว่าผู้ชนะใจ อย่าให้มันมีความกำหนัดกับกายตัวนี้แหละ
ครั้นมีความกำหนัดกับกายแล้ว ได้ชื่อว่าจิตไม่บริสุทธิ์ จิตเบียดเบียน
เบียดเบียนตนให้เดือดร้อน แล้วก็เบียดเบียนผู้อื่น



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก พระธรรมเทศนา “ทุกขสัจจ์” ใน "อนาลโยวาท" ฉบับพิมพ์ปี ๒๕๔๓


Kesara
About the author:


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP