จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๙๖ รู้ลมหายใจถูกต้อง?



296 talk



เริ่มต้นขึ้นมาวันแรก
เมื่อหัด ‘รู้’ ลมหายใจ
ในแบบอานาปานสติ
ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า
คุณจะเพ่งจ้องเกินไปเสมอ
เนื่องจากจิตที่ฟุ้งซ่านแบบคนทั่วไป
เมื่อตั้งใจดูอะไร
จะดูแบบคนถลึงตาจ้องปลายนิ้ว
ซึ่งเป็นจุดเล็กๆคับแคบ


ก่อนฝึกอานาปานสติ
ให้ลองใช้สายตาจ้องปลายนิ้วตัวเองดู
แล้วทำความรู้สึก ‘เข้าไปที่กลางอก’ ว่า
ใจคับแคบอย่างไร
จากนั้นทอดตามองมุมกว้าง
อาจจะให้เห็นทั้งผนัง
หรือมองท้องฟ้านอกหน้าต่าง
แล้วทำความรู้สึก ‘ออกมาจากกลางอก’ ว่า
ใจเปิดกว้าง ต่างไปจากเดิมประมาณไหน


โดยยังไม่ต้องปิดตาลง
ให้ดูตามจริงว่า
เมื่อรู้ลมหายใจเข้าออก
ใจของคุณคับแคบหรือเปิดกว้าง
อย่าสนเรื่องผิดเรื่องถูก
ให้สนแค่ว่ามันกำลังเป็นอย่างไร


การใส่ใจเปรียบเทียบ
ภาวะทางใจที่กว้างหรือแคบตามจริง
คือการมีสติรู้เฉพาะหน้า


ส่วนการเอาถูกเอาผิด
คือการอยากเอาดีเข้าตัว
ประสาปุถุชนที่พร้อมจะใจแคบ


นี่จะโยงไปให้เห็นได้ด้วยว่า
หากเดิมคุณมีต้นทุนหนาแน่น
คือ เป็นคนมีน้ำใจคิดช่วยผู้อื่น
ใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นผู้อื่น
ใจสะอาด ไม่คิดสกปรก ไม่ชอบเบียดเบียนใคร
ก็จะฝึกรู้ลมได้ง่ายไปด้วย


เมื่อทราบว่า
ใจแคบ เป็นผลของการเพ่งเกิน
ใจกว้าง เป็นผลของการรู้พอดี
ก็ให้สังเกตใจไปเรื่อยๆว่ากว้างหรือแคบ
ไม่ว่าจะเปิดตาหรือปิดตา
อย่าเกี่ยงว่า อานาปานสติ
ต้องฝึกแบบหลับตาตอนนั่งสมาธิเท่านั้น


เมื่อฝึกอยู่เรื่อยๆ
จิตจะเข้าที่แบบหนึ่ง
คล้ายเบ่งบานออกมาจากใจกลางชีวิต
ที่ทำให้คุณรู้สึกได้
ถึงความเป็นจิตผู้รู้เอง เห็นเอง
เป็นอัตโนมัติ ไม่มีการฝืนใจบังคับ
ดวงจิตผู้รู้ที่เกิดขึ้นนั้น
ว่างจากการเพ่งยึดเอาเข้าตัว
เปิดกว้างพ้นจากเครื่องขวางคับแคบ
แม้ความคิดเกิดขึ้นในหัว
ก็ไม่มีอิทธิพลพอจะก่อตัวเป็นความฟุ้งซ่าน
จิตจะรู้กลุ่มความคิดโดยความเป็นเปลือก
ที่เคลื่อนผ่านมา แล้วเคลื่อนผ่านไป
ไม่มียางเหนียวเกาะจิตให้อยากยึดตาม
และไม่แผ่เงาครอบงำใจให้หลงสำคัญไปว่า
ความคิดเป็นตัวคุณ
ใจจึงมีความปลอดโปร่ง
หรือกระทั่งเป็นสุญญากาศจากความนึกคิด
พิจารณาได้ง่ายว่า
ลมหายใจไม่ใช่ตัวคุณ
และแม้ความรู้สึกนึกคิดก็ไม่ใช่ตัวคุณ
มีแต่ภาวะไม่เที่ยงต่างๆ
ปรากฏแสดงให้จิตเห็นเฉยๆ
นั่นแหละ! ผลพวงของ
การฝึกอานาปานสติแบบ ‘รู้ลม’
ไม่ใช่หลงทำอานาปานสติแบบ ‘จ้องลม’!


ดังตฤณ
พฤศจิกายน ๒๕๖๓






review


พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่พระภิกษุทั้งหลาย
เกี่ยวกับสัมปทา ๘ ประการ
ซึ่งจะนำความสุขมาให้แก่ผู้ประพฤติปฏิบัติทั้งในปัจจุบันและภายภาคหน้า
รายละเอียดติดตามได้ในคอลัมน์ "ธรรมะจากพระสูตร"
ตอน "ฉัฏฐปฏิปทาสูตร ว่าด้วยปฏิปทาคือสัมปทา ๘"


เมื่อได้ชี้แนะในสิ่งที่ดีให้กับผู้อื่น แต่ต้องหดหู่ใจที่เขาไม่ทำตาม
ทำอย่างไรจิตใจจึงจะไม่เศร้าหมองเพราะความผิดหวังนี้
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ทำอย่างไรให้ปล่อยวางความผิดหวัง
เมื่อให้คำแนะนำกับผู้อื่นแล้วเขาไม่ทำตาม"


หากงานประจำที่ทำอยู่ก่อให้เกิดอกุศลแทบทุกวัน
การเลือกเส้นทางใหม่ให้กับตนเองด้วยการทำธุรกิจส่วนตัว
จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมหรือไม่
ติดตามได้จากกรณีศึกษาในคอลัมน์ "โหรา (ไม่) คาใจ"
ตอน "ผู้ประกอบการมือใหม่ หัวใจเต็มร้อย"



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP