จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

มิจฉาทิฏฐิ ๓ ที่ห้ามมรรคและห้ามสวรรค์ (ตอนที่ ๒)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


118868867 357145951982737 1901749176505220862 n



(ต่อจากฉบับที่แล้ว)


ในฉบับที่แล้วได้กล่าวถึง มิจฉาทิฏฐิ ๓ ที่ห้ามสวรรค์และห้ามมรรค ได้แก่
อกิริยทิฏฐิ, อเหตุกทิฏฐิ และ นัตถิกทิฏฐิ
โดยได้กล่าวถึง “นัตถิกทิฏฐิ” ได้แก่ความเชื่อ ๑๐ อย่าง ได้แก่
(๑) ทานไม่มีผล (๒) การบูชาไม่มีผล (๓) การเซ่นสรวงไม่มีผล
(๔) ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี (๕) โลกนี้ไม่มี (๖) โลกหน้าไม่มี
(๗) มารดาไม่มี (๘) บิดาไม่มี (๙) สัตว์โอปปาติกะไม่มี
(๑๐) สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ กระทำโลกนี้ และโลกหน้าให้แจ้ง
ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ไม่มีในโลก
ซึ่งได้สนทนาในข้อที่ว่า (๗) มารดาไม่มี และ (๘) บิดาไม่มี ไปแล้ว
ในคราวนี้ เราก็จะมาสนทนาในเรื่องความเชื่อในข้ออื่น ๆ ที่เหลือครับ


ในข้อที่เชื่อว่า ทานไม่มีผลนั้น หากเชื่อเช่นนี้แล้ว ตนเองก็จะไม่ทำทาน
ไม่สนับสนุนให้ผู้อื่นทำทาน และไม่อนุโมทนาบุญในทานของผู้อื่น
ซึ่งก็ย่อมจะไม่ได้รับผลบุญแห่งทาน


ในข้อที่เชื่อว่า ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี
โดยหากเชื่อเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมทำชั่วอะไรก็ได้
เพราะไม่เชื่อว่ากรรมชั่วจะก่อให้เกิดโทษในอนาคต
และไม่เชื่อว่ากรรมดีจะก่อให้เกิดประโยชน์ในอนาคต
ซึ่งในข้อที่เชื่อว่าโลกนี้ไม่มี หรือโลกหน้าไม่มี ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน
กล่าวคือในเมื่อโลกนี้ไม่มี หรือโลกหน้าไม่มี ก็ย่อมจะทำกรรมชั่วอะไรก็ได้
และไม่ได้จำเป็นต้องทำกรรมดีเพื่อประโยชน์แห่งโลกนี้หรือโลกหน้า


ในข้อที่เชื่อว่า สัตว์โอปปาติกะไม่มี นั้น
ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
คำว่า “โอปปาติกะ” หมายถึง สัตว์เกิดผุดขึ้น คือ
เกิดผุดขึ้นมาและโตเต็มตัวในทันใด
ตายก็ไม่ต้องมีเชื้อหรือซากปรากฏ เช่น เทวดาและสัตว์นรก เป็นต้น
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%E2%CD%BB%BB%D2%B5%D4%A1%D0&original=1
เช่นนี้แล้ว การเชื่อว่า สัตว์โอปปาติกะไม่มี
ย่อมเท่ากับว่า เชื่อว่า เทวดาและสัตว์นรกไม่มี
และเท่ากับว่า เชื่อว่าสวรรค์และนรกไม่มี
จึงเป็นทำนองเดียวกับเชื่อว่า ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี


ในข้อที่เชื่อว่า สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ
กระทำโลกนี้ และโลกหน้าให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว
สอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ไม่มีในโลก ซึ่งเมื่อไม่เชื่อว่า
สมณะผู้ปฏิบัติชอบ และรู้แจ้งโลกด้วยปัญญาอันยิ่ง มีอยู่แล้ว
ย่อมไม่เชื่อในคำสอนของสมณะดังกล่าวนั้น
และยังอาจปรามาสสมณะดังกล่าวนั้นอีกด้วย


ในข้อที่เชื่อว่า การบูชาไม่มีผล
และข้อที่เชื่อว่า การเซ่นสรวงไม่มีผล นั้น
ขออธิบาย ๒ ข้อนี้ไปด้วยพร้อมกันครับ
คำว่า “บูชา” และคำว่า “เซ่นสรวง” มีความหมายแตกต่างกัน
ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
คำว่า “บูชา” หมายถึง ให้ด้วยความนับถือ,
แสดงความเคารพเทิดทูน
มี ๒ อย่าง คือ
อามิสบูชา และ ปฏิบัติบูชา
โดย “อามิสบูชา” หมายถึง การบูชาด้วยอามิส คือ
ด้วยสิ่งของมีดอกไม้ ของหอม อาหาร และวัตถุอื่น ๆ
และ “ปฏิบัติบูชา” หมายถึง การบูชาด้วยการปฏิบัติ คือ
ประพฤติตามธรรมคำสั่งสอนของท่าน,
บูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติกระทำสิ่งที่ดีงาม
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%BA%D9%AA%D2&original=1


ในขณะที่คำว่า “ยัญ” หมายถึง การเซ่น, การบูชา,
การบวงสรวงชนิดหนึ่งของพราหมณ์ เช่น
ฆ่าสัตว์บูชาเทพเจ้าเพื่อให้ตนพ้นเคราะห์ร้าย เป็นต้น
และคำว่า “บูชายัญ” หมายถึง การเซ่นสรวงเทพเจ้าของพราหมณ์
ด้วยวิธีฆ่าคนหรือสัตว์เป็นเครื่องบูชา
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%C2%D1%AD&original=1


ในเรื่องนี้ ในการที่จะเชื่อว่า การเซ่นสรวงมีผล นั้น
ไม่ได้หมายความว่า แนะนำให้ฆ่าสัตว์บูชาเทพเจ้าเหมือนดังพราหมณ์
เพราะหากทำเช่นนั้นแล้ว ย่อมเป็นการประพฤติผิดศีล
ซึ่งก็ย่อมจะมีผล แต่ว่าเป็นผลร้าย หรือเป็นโทษ มิใช่ผลดี
โดย “ยัญ” ตามพระธรรมคำสอนในพุทธศาสนาไม่เหมือนกับพราหมณ์
ใน “อุชชยสูตร” และ “อุทายสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูกรพราหมณ์ เรามิได้สรรเสริญยัญไปทุกอย่าง
และก็มิได้ติเตียนยัญไปทุกอย่าง ดูกรพราหมณ์ ในยัญชนิดใด
มีการฆ่าโค ฆ่าแพะ แกะ ฆ่าไก่ สุกร สัตว์ต่างชนิดถูกฆ่า
เราไม่สรรเสริญยัญเห็นปานนี้ แต่ในยัญชนิดใดไม่มีการฆ่าโค
ไม่มีการฆ่าแพะ แกะ ไม่มีการฆ่าไก่ สุกร สัตว์ต่างชนิดไม่ถูกฆ่า
เราย่อมสรรเสริญยัญเห็นปานนี้ ได้แก่นิจทาน อนุกุลยัญ”
“ถ้าบุคคลกระทำการบูชาในยัญ หรือในมตกทานตามสมควร
มีจิตเลื่อมใส บูชาในเนื้อนาอันดี คือ พรหมจารีบุคคลทั้งหลาย
ยัญที่บุคคลบูชาดีแล้ว เซ่นสรวงดีแล้ว สมบูรณ์แล้ว
อันบุคคลกระทำแล้วในทักขิเณยยบุคคลทั้งหลาย ย่อมเป็นยัญไพบูลย์
และเทวดาย่อมเลื่อมใส บัณฑิตผู้มีเมธาเป็นผู้มีศรัทธา มีใจอันสละแล้ว
บูชายัญอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลก อันปราศจากความเบียดเบียน เป็นสุข”
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=1129&Z=1153&pagebreak=0
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=1154&Z=1187&pagebreak=0


ในอรรถกถาของ “กูฏทันตสูตร” (ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค) ได้อธิบายว่า
คำว่า “นิจทาน” คือ ทานประจำ ได้แก่ นิตยภัตร
คำว่า “อนุกูลยัญ” คือ ทานอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขากระทำด้วยคิดว่า
พ่อและปู่เป็นต้นของพวกเราเคยทำมาแล้ว
ดังนี้ แม้เขาจะเป็นคนเข็ญใจในภายหลังก็ควรให้ทำต่อไป
ตามที่สืบต่อกันมาของตระกูล ได้ยินว่า ทานที่ถวายเจาะจงท่านผู้มีศีลเป็นประจำ
เห็นปานนี้ แม้พวกยากจนในตระกูล ย่อมไม่ตัดเสีย
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=199
ดังนี้แล้ว ในเรื่องของการเซ่นสรวงตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า
จึงไม่ได้หมายถึงการฆ่าสัตว์เพื่อเซ่นสรวง แต่หมายถึงการให้ทาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถวายทานแก่ทักขิเณยยบุคคลทั้งหลาย


ในขณะที่การบูชาก็ย่อมจะไม่ได้หมายถึงว่าจะบูชาใครก็ได้
เช่น ไม่ใช่ว่าเราสมควรจะไปบูชาโจร หรือบูชาคนพาล เป็นต้น
แต่ย่อมหมายถึงการบูชาต่อบุคคลที่ควรบูชา
ใน “จูฬกัมมวิภังคสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า
“บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตามเป็นคนกระด้าง เย่อหยิ่ง
ย่อมไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับ
ไม่ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง
ไม่สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือ
ไม่บูชาคนที่ควรบูชา เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น
อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนเกิดในสกุลต่ำ


บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตามเป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง
ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ
ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง
สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ
บูชาคนที่ควรบูชา เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น
อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนเกิดในสกุลสูง”
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=14&A=7623&Z=7798&pagebreak=0


ในส่วนของการบูชาด้วยอามิสนั้น ก็ได้มีตัวอย่างในหลายพระสูตร
ที่กล่าวถึงผลของอามิสบูชาแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า หรือพระสาวก ยกตัวอย่างเช่น
อาลัมพนทายกเถราปทานที่ ๑ ได้กล่าวถึงผลแห่งการถวายราวสะพาน
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=32&A=5277&Z=5290&pagebreak=0
อชินทายกเถราปทานที่ ๒ ได้กล่าวถึงผลแห่งการถวายท่อนหนัง
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=32&A=5291&Z=5306&pagebreak=0
เทวรัตนิยเถราปทานที่ ๓ ได้กล่าวถึงผลแห่งการถวายเนื้อ
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=32&A=5307&Z=5323&pagebreak=0
วกุลปุปผิยเถราปทานที่ ๖ ได้กล่าวถึงผลแห่งการบูชาถวายดอกพิกุล
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=32&A=5350&Z=5362&pagebreak=0
โสวรรณวฏังสกิยเถราปทานที่ ๗ ได้กล่าวถึงผลแห่งการถวายพวงมาลัย
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=32&A=5363&Z=5375&pagebreak=0
เอกวันทนิยเถราปทานที่ ๑๐ ได้กล่าวถึงผลแห่งการถวายบังคม
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=32&A=5400&Z=5421&pagebreak=0


อย่างไรก็ดี แม้ว่า “อามิสบูชา” หรือ การบูชาด้วยอามิส จะให้ผลก็ตาม
แต่ว่าเราพึงทราบว่า ใน “มหาปรินิพพานสูตร”
(พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค) นั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ปฏิบัติบูชา” คือการบูชาอย่างยิ่ง ว่า
“ดูกรอานนท์ ไม้สาละทั้งคู่ เผล็ดดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล
ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา
แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ
ดอกมณฑารพเหล่านั้น ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา
แม้จุณแห่งจันทน์อันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ
จุณแห่งจันทน์เหล่านั้น ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา
ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่าก็ประโคมอยู่ในอากาศ เพื่อบูชาตถาคต
แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ก็เป็นไปในอากาศเพื่อบูชาตถาคต
ดูกรอานนท์ ตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
นอบน้อมด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้หามิได้
ผู้ใดแล จะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม
เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมอยู่
ผู้นั้นย่อมชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยอด
เพราะเหตุนั้นแหละอานนท์ พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า
เราจักเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ดังนี้”
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=10&A=1888&Z=3915&pagebreak=0


(ขอคุยต่อในคราวหน้าครับ)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP