จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการเรี่ยไร


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



287 destination



เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีข่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับไลฟ์โค้ช (Life Coach) ชื่อดังท่านหนึ่ง
ซึ่งได้ดำเนินการเรี่ยไรเงินผ่านเพจของตนเอง เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือดับไฟป่า
แล้วถูกตั้งข้อสงสัยว่าไม่ได้นำเงินที่เรี่ยไรไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์
หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐก็ได้ออกมาให้ข่าวว่า
การเรี่ยไรของไลฟ์โค้ชชื่อดังนั้นไม่ได้ขออนุญาตตามกฎหมาย


หลาย ๆ ท่านที่ได้อ่านข่าวดังกล่าวแล้วอาจจะเกิดสงสัยว่า
การเรี่ยไรเงินจะต้องขออนุญาตตามกฎหมายอะไรด้วยหรือ
เพราะที่ผ่านมาในอดีตถึงปัจจุบันนั้น
หลาย ๆ ท่านก็ย่อมจะเคยเห็นการเรี่ยไรมามากมาย
เช่น ในอดีตก็จะเรี่ยไรกันด้วยการแจกซองบอกบุญ
ต่อมาเมื่ออินเตอร์เน็ตเริ่มเป็นที่นิยมแพร่หลาย
ก็มีการเรี่ยไรผ่านอีเมล ผ่านเว็บไซต์ ผ่านเว็บบอร์ด
ผ่านระบบส่งข้อความต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดีย
ผ่านเฟสบุ๊คเพจ ผ่านแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เป็นต้น


ในคราวนี้ เราก็จะมาสนทนากันในเรื่องข้อควรรู้ในการเรี่ยไร
ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่ญาติธรรมหลาย ๆ ท่านที่ดำเนินการเรี่ยไร
เพื่อประโยชน์ต่อพระศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะครับ


ในประเทศไทย เรามีกฎหมายควบคุมเกี่ยวกับการเรี่ยไร ได้แก่
พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. ๒๔๘๗
ซึ่งสังเกตว่าเป็นกฎหมายเก่าที่ออกมานานกว่า ๗๖ ปีแล้ว
ตามกฎหมายฉบับนี้ “การเรี่ยไร” จะหมายความรวมถึง
การซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการ
ซึ่งมีการแสดงโดยตรงหรือโดยปริยาย
ว่ามิใช่เป็นการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการธรรมดา
แต่เพื่อรวบรวมทรัพย์สินที่ได้มาทั้งหมดหรือบางส่วน
ไปใช้ในกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นด้วย
ดังนี้ การเรี่ยไรก็ย่อมจะรวมถึงการจำหน่ายวัตถุมงคล หรือสิ่งบูชาต่าง ๆ
เพื่อรวบรวมเงินหรือทรัพย์สินไปใช้ในกิจการใดกิจการหนึ่งด้วย


ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ มีหลายประการ
ในมาตรา ๖ กำหนดว่า การเรี่ยไรซึ่งอ้างว่าเพื่อประโยชน์แก่ราชการ
เทศบาล หรือสาธารณประโยชน์ จะจัดให้มีได้
ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรแล้ว
ทั้งนี้ ยกเว้นกรณีการเรี่ยไรซึ่งกระทรวง ทบวงหรือกรมเป็นผู้จัดให้มี
(อย่างไรก็ดี ในการเรี่ยไรของหน่วยงานราชการนั้น
ก็จะต้องปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ
พ.ศ.๒๕๔๔ ด้วย ซึ่งเราจะไม่คุยรายละเอียดเรื่องดังกล่าวในที่นี้ครับ)


ในมาตรา ๘ กำหนดว่า การเรี่ยไรในถนนหลวง หรือในที่สาธารณะ
การเรี่ยไรโดยโฆษณาด้วยสิ่งพิมพ์ ด้วยวิทยุกระจายเสียง
หรือด้วยเครื่องเปล่งเสียง จะจัดให้มีหรือทำได้
ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว
ทั้งนี้ ยกเว้นในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) การเรี่ยไรซึ่งได้รับอนุญาตหรือได้รับยกเว้นตามมาตรา ๖ ที่กล่าวแล้ว
(๒) การเรี่ยไรเพื่อกุศลสงเคราะห์ในโอกาสที่บุคคลชุมนุมกันประกอบศาสนกิจ
(๓) การเรี่ยไรโดยขายสิ่งของในงานออกร้าน หรือในที่นัดประชุมเฉพาะแห่ง
อันได้จัดให้ขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้ได้รับอนุญาตให้มีการออกร้าน
หรือผู้จัดให้มีการนัดประชุมเป็นผู้จัดให้มีขึ้น


ในมาตรา ๘ นี้เป็นข้อกำหนดที่มีขอบเขตกว้างมาก
ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นการเรี่ยไรผ่านเครื่องกระจายเสียง
ผ่านวิทยุ หรือโทรทัศน์ หรือใช้ยานพาหนะแห่ขบวนเรี่ยไร
หรือการเรี่ยไรต่าง ๆ ในพื้นที่สาธารณะ ก็ถือว่าเข้าเกณฑ์มาตรานี้
โดยจะต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าก่อน


อนึ่ง กรณีมีข้อพิจารณาว่า การเรี่ยไรผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
เช่น ผ่านเว็บบอร์ด ผ่านเว็บไซต์ ผ่านเฟสบุ๊คเพจ เป็นต้น
จะถือว่าเข้าเกณฑ์ตามมาตรา ๘ นี้ด้วยหรือไม่
เราพึงทราบนะครับว่ามาตรา ๘ นี้ได้ร่างมาตั้งแต่ปี ๒๔๘๗
สังเกตว่ามาตราได้กล่าวถึงวิทยุกระจายเสียง แต่ไม่ได้กล่าวถึงโทรทัศน์
เนื่องจากในเวลานั้น โทรทัศน์ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเลย
แต่เราย่อมจะพิจารณาได้ว่า การเรี่ยไรผ่านระบบต่าง ๆ
ที่สามารถไปถึงผู้คนจำนวนมากได้ ย่อมจะอยู่ในวัตถุประสงค์
และขอบเขตของบทบัญญัติมาตรา ๘ นี้
โดยไม่ต่างจากการเรี่ยไรผ่านระบบวิทยุกระจายเสียง
หรือการเรี่ยไรในที่สาธารณะเลย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว
การเรี่ยไรผ่านเฟสบุ๊คเพจบางเพจยังจะเข้าถึงผู้คนจำนวนมากกว่า
การมาเรี่ยไรในถนนหลวงบางแห่งหรือในพื้นที่สาธารณะบางแห่งเสียอีก


โดยที่ข้อยกเว้นในมาตรา ๘ นั้นก็มีเพียงแค่ ๓ กรณีเท่านั้น
ซึ่งส่วนใหญ่ที่ได้เรี่ยไรกันในชีวิตจริงนั้น ก็จะไม่เข้าเกณฑ์ ๓ ข้อดังกล่าว
เท่ากับว่าการเรี่ยไรส่วนใหญ่ที่เราเห็นกันนั้น
ก็ถือว่าจะต้องขออนุญาตตามมาตรา ๘ กันทั้งนั้น
แต่เราก็ต้องยอมรับกันว่าในทางปฏิบัติชีวิตจริงนั้น
ย่อมจะมีอยู่จำนวนน้อยมากที่จะขออนุญาตตามกฎหมายดังกล่าว
ซึ่งในกรณีที่ฝ่าฝืนมาตรา ๘ นั้น กฎหมายกำหนดระวางโทษไว้ว่า
อาจต้องโทษปรับไม่เกิน ๒๐๐ บาท
หรือจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ


ในการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ อีก เช่น
มาตรา ๑๒ กำหนดว่า บุคคลผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการเรี่ยไร
ต้องมีใบอนุญาตติดตัวอยู่ในขณะทำการเรี่ยไร พร้อมให้บุคคลอื่นตรวจดูได้
มาตรา ๑๓ กำหนดว่า ในการรับเงินหรือทรัพย์สินที่เรี่ยไรได้
ต้องออกใบรับให้แก่ผู้บริจาคกับมีต้นขั้วใบรับไว้เป็นหลักฐาน
และให้ผู้จัดให้มีการเรี่ยไรประกาศยอดรับ และจ่ายเงินและทรัพย์สิน
ให้ประชาชนทราบเป็นครั้งคราวตามสมควร
และเมื่อได้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินนั้นหมดไปแล้ว
ให้ประกาศยอดบัญชีอีกครั้งหนึ่ง
มาตรา ๑๔ ห้ามมิให้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่เรี่ยไรได้มานั้น
ในกิจการอย่างอื่นนอกวัตถุประสงค์แห่งการเรี่ยไรตามที่ได้แสดงไว้
เว้นแต่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายพอสมควรในการเรี่ยไรนั้นเอง


เราพึงสังเกตว่า ในทางปฏิบัติในปัจจุบันนี้
รายละเอียดบางเรื่องตามกฎหมายฉบับนี้ ก็เป็นสิ่งที่จะทำไม่ได้แล้ว
เช่น ข้อกำหนดเรื่องให้ออกใบรับให้แก่ผู้บริจาค
ซึ่งในปัจจุบันที่มีการรับบริจาคผ่านบัญชีธนาคารนั้น
บางทีผู้เรี่ยไรก็ไม่ทราบด้วยซ้ำว่าผู้บริจาคเป็นใครบ้าง เป็นต้น


ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้เรี่ยไรเป็นวัด พระภิกษุ หรือ สามเณร
หรือมอบหมายหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำการเรี่ยไรแล้ว
ก็ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดใน
คำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.๒๕๓๙ อีกด้วยนะครับ
ซึ่งเราก็จะไม่คุยรายละเอียดเรื่องดังกล่าวในที่นี้ครับ


ในส่วนของญาติธรรมหลาย ๆ ท่านที่ดำเนินการเรี่ยไรในขณะนี้
หากสามารถอยู่ในวิสัยที่จะขออนุญาตตามกฎหมายฉบับนี้ได้
ผมก็แนะนำให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายนะครับ
แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม
ก็ขอแนะนำว่าเพื่อความปลอดภัยแล้ว
อย่างน้อยก็ควรจะดำเนินการ ดังต่อไปนี้


๑. บัญชีธนาคารที่จะรับเรี่ยไรนั้น ควรจะเป็นบัญชีแยกต่างหากโดยเฉพาะ
ไม่รวมกับรายได้หรือรายจ่ายอื่น ๆ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ง่าย


๒. การให้ข้อมูลในการเรี่ยไรนั้น ควรจะต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนครบถ้วน
ว่าจะนำเงินที่เรี่ยไรไปใช้ในวัตถุประสงค์อะไรบ้าง
ในกรณีที่จะต้องหักค่าใช้จ่าย หรือนำเงินที่เรี่ยไรบางส่วน
มาใช้เป็นค่าใช้จ่ายแล้ว ก็ควรจะแจ้งให้ชัดเจนล่วงหน้า
และควรต้องเป็นจำนวนที่พอสมควร สามารถอธิบายได้


อนึ่ง ในกรณีที่นำเงินเรี่ยไรไปใช้ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์
หรือยักยอกเงินเรี่ยไรไปใช้เผื่อประโยชน์ส่วนตนแล้ว
ย่อมจะถือว่าเป็นการผิดกฎหมายอาญาในฐานฉ้อโกงประชาชน
ซึ่งจะเป็นคดีอาญาที่มีโทษสูง และนับความผิดหลายกรรมแยกกัน
ทำให้โทษที่จะได้รับเป็นโทษทวีคูณครับ


๓. ควรทำบัญชีรายรับและรายจ่ายให้ครบถ้วน
และเก็บหลักฐานรายรับและรายจ่ายทั้งหมดให้ครบถ้วน
เผื่อไว้สำหรับให้ตรวจสอบได้
โดยจะเก็บไว้ในรูปแบบไฟล์เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้


๔. ควรเปิดเผยยอดรายรับ และรายจ่ายให้ทราบตามที่เหมาะสม
โดยอาจจะไม่ได้จำเป็นต้องเปิด Bank Statement ทั้งหมด
เพราะอาจจะมีข้อยุ่งยากบางประการ
แต่อย่างน้อยก็ควรเปิดยอดรายรับรวม และยอดรายจ่ายรวม
ว่าเรี่ยไรได้ทั้งหมดตามวัตถุประสงค์หรือไม่
และได้นำเงินไปใช้จ่ายครบถ้วนตามวัตถุประสงค์หรือไม่
โดยหากมีเงินส่วนที่เหลือแล้ว ได้นำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายอย่างไร


ในยุคสังคม Social Media นี้ เราก็ต้องยอมรับว่าอยู่ไม่ง่ายนะครับ
เพราะก็มีทั้งคนดีและคนไม่ดีหลากหลายแยกกันได้ยาก
บางที ก็อาจมีคนไม่ดีมาเรี่ยไร เพื่อตั้งใจหลอกเอาเงินคนใจบุญก็มี
หรือบางที คนที่มาเรี่ยไรเป็นคนดี และนำเงินไปทำกิจงานตามที่เรี่ยไรจริงก็มี
แต่หากไม่ได้ทำบัญชีให้เรียบร้อย หรือไม่ได้เก็บหลักฐานใช้จ่ายไว้ให้ครบถ้วน
ต่อมาภายหลังเกิดตกเป็นเหยื่อโซเชียลมีเดีย และถูกตรวจสอบขึ้นมา
ตนเองก็อาจจะมีปัญหาในการทำโครงการเรี่ยไรดังกล่าวได้ครับ
ดังนี้แล้ว ถ้าหากญาติธรรมจะทำโครงการเรี่ยไรใด ๆ แล้ว
ก็ควรต้องคำนึงถึงเรื่องการแจ้งวัตถุประสงค์ การทำบัญชี
และการเก็บข้อมูลหลักฐานให้ครบถ้วนด้วยครับ
เพราะการที่ไม่ได้ขออนุญาตให้ถูกต้องนั้น น่าจะเป็นปัญหาเล็ก
แต่หากใช้จ่ายเงินไม่ตรงวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้
หรือไม่สามารถพิสูจน์รายจ่ายได้แล้ว จะเป็นปัญหาใหญ่มากครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP