ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

พลสูตร ว่าด้วยกำลัง ๔ กับภัย ๕


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๒๐๙] ภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๔ ประการนี้
๔ ประการเป็นไฉน คือ กำลังคือปัญญา ๑ กำลังคือความเพียร ๑
กำลังคือการงานอันไม่มีโทษ ๑ กำลังคือการสงเคราะห์ ๑.


ภิกษุทั้งหลาย ก็กำลังคือปัญญาเป็นไฉน
ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล
ธรรมเหล่าใดมีโทษ นับว่ามีโทษ ธรรมเหล่าใดไม่มีโทษ นับว่าไม่มีโทษ
ธรรมเหล่าใดดำ นับว่าดำ ธรรมเหล่าใดขาว นับว่าขาว
ธรรมเหล่าใดไม่ควรเสพ นับว่าไม่ควรเสพ ธรรมเหล่าใดควรเสพ นับว่าควรเสพ
ธรรมเหล่าใดไม่สามารถทำความเป็นอริยะ นับว่าไม่สามารถทำความเป็นอริยะ
ธรรมเหล่าใดสามารถทำความเป็นอริยะ นับว่าสามารถทำความเป็นอริยะ
ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันบุคคลเห็นแจ้ง พิจารณาได้ด้วยปัญญา
นี้เรียกว่ากำลังคือปัญญา.


ภิกษุทั้งหลาย ก็กำลังคือความเพียรเป็นไฉน
ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล ธรรมเหล่าใดมีโทษ นับว่ามีโทษ
ธรรมเหล่าใดดำ นับว่าดำ ธรรมเหล่าใดไม่ควรเสพ นับว่าไม่ควรเสพ
ธรรมเหล่าใดไม่สามารถทำความเป็นอริยะ นับว่าไม่สามารถทำความเป็นอริยะ
บุคคลยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร
ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อละธรรมเหล่านั้น
ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล ธรรมเหล่าใดไม่มีโทษ นับว่าไม่มีโทษ
ธรรมเหล่าใดขาว นับว่าขาว ธรรมเหล่าใดควรเสพ นับว่าควรเสพ
ธรรมเหล่าใดสามารถทำความเป็นอริยะ นับว่าสามารถทำความเป็นอริยะ
บุคคลย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร
ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อได้ธรรมเหล่านั้น
นี้เรียกว่ากำลังคือความเพียร.


ภิกษุทั้งหลาย ก็กำลังคือการงานอันไม่มีโทษเป็นไฉน
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วย
กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันหาโทษมิได้
นี้เรียกว่า กำลังคือการงานอันไม่มีโทษ.


ภิกษุทั้งหลาย ก็กำลังคือการสงเคราะห์เป็นไฉน
สังควัตถุ ๔ ประการนี้คือ ทาน ๑

เปยยวัชชะ (ถ้อยคำอันเป็นที่รัก) ๑ อัตถจริยา ๑ สมานัตตตา ๑
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทานเลิศกว่าทานทั้งหลาย
การแสดงธรรมบ่อย ๆ แก่บุคคลผู้ต้องการ ผู้เงี่ยโสตลงสดับ
นี้เลิศกว่าการพูดถ้อยคำอันเป็นที่รัก
การชักชวนคนผู้ไม่มีศรัทธาให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในสัทธาสัมปทา
ชักชวนผู้ทุศีลให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในสีลสัมปทา
ชักชวนผู้ตระหนี่ให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในจาคสัมปทา
ชักชวนผู้มีปัญญาทรามให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในปัญญาสัมปทา
นี้เลิศกว่าการประพฤติประโยชน์ทั้งหลาย
พระโสดาบันมีตนเสมอกับพระโสดาบัน
พระสกทาคามีมีตนเสมอกับพระสกทาคามี
พระอานาคามีมีตนเสมอกับพระอนาคามี
พระอรหันต์มีตนเสมอกับพระอรหันต์
นี้เลิศกว่าความมีตนเสมอทั้งหลาย
นี้เรียกว่ากำลังคือการสงเคราะห์
ภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๔ ประการนี้แล.


ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยกำลัง ๔ ประการนี้แล
ย่อมก้าวล่วงภัย ๕ ประการ ภัย ๕ ประการเป็นไฉน คือ
อาชีวิตภัย ๑ อสิโลกภัย ๑ ปริสสารัชชภัย ๑ มรณภัย ๑ ทุคติภัย ๑
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกนั้นแลพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
เราไม่กลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยความเป็นอยู่
ไฉนเราจักกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยความเป็นอยู่เล่า
เรามีกำลัง ๔ ประการ คือ กำลังคือปัญญา กำลังคือความเพียร
กำลังคือการงานอันไม่มีโทษ กำลังคือการสงเคราะห์
คนที่มีปัญญาทรามแลจึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยความเป็นอยู่
คนเกียจคร้านจึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยความเป็นอยู่
คนที่มีการงานทางกาย ทางวาจา และทางใจที่มีโทษ
จึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยความเป็นอยู่
คนที่ไม่สงเคราะห์ใครจึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยความเป็นอยู่
เราไม่กลัวต่อภัยคือการติเตียน ไฉนเราจักกลัวต่อภัยคือการติเตียนเล่า
เรามีกำลัง ๔ ประการ คือ กำลังคือปัญญา กำลังคือความเพียร
กำลังคือการงานอันไม่มีโทษ กำลังคือการสงเคราะห์
คนที่มีปัญญาทรามแลจึงกลัวต่อภัยคือการติเตียน
คนเกียจคร้านจึงกลัวต่อภัยคือการติเตียน
คนที่มีการงานทางกาย ทางวาจา และทางใจที่มีโทษ
จึงกลัวต่อภัยคือการติเตียน
คนที่ไม่สงเคราะห์ใคร จึงกลัวต่อภัยคือการติเตียน


เราไม่กลัวต่อภัยคือความสะทกสะท้านในบริษัท
ไฉนเราจักกลัวต่อภัยคือความสะทกสะท้านในบริษัทเล่า
เรามีกำลัง ๔ ประการ คือ กำลังคือปัญญา กำลังคือความเพียร
กำลังคือการงานอันไม่มีโทษ กำลังคือการสงเคราะห์
คนที่มีปัญญาทรามแลจึงกลัวต่อภัยคือความสะทกสะท้านในบริษัท
คนเกียจคร้านจึงกลัวต่อภัยคือความสะทกสะท้านในบริษัท
คนที่มีการงานทางกาย ทางวาจา และทางใจที่มีโทษ
จึงกลัวต่อภัยคือความสะทกสะท้านในบริษัท
คนที่ไม่สงเคราะห์ใคร จึงกลัวต่อภัยคือความสะทกสะท้านในบริษัท


เราไม่กลัวต่อภัยคือความตาย ไฉนเราจักกลัวต่อภัยคือความตายเล่า
เรามีกำลัง ๔ ประการ คือ กำลังคือปัญญา กำลังคือความเพียร
กำลังคือการงานอันไม่มีโทษ กำลังคือการสงเคราะห์
คนที่มีปัญญาทรามแลจึงกลัวต่อภัยคือความตาย
คนเกียจคร้านจึงกลัวต่อภัยคือความตาย
คนที่มีการงานทางกาย ทางวาจา และทางใจที่มีโทษ
จึงกลัวต่อภัยคือความตาย
คนที่ไม่สงเคราะห์ใคร จึงกลัวต่อภัยคือความตาย


เราไม่กลัวต่อภัยคือทุคติ ไฉนเราจักกลัวต่อภัยคือทุคติเล่า
เรามีกำลัง ๔ ประการ คือ กำลังคือปัญญา กำลังคือความเพียร
กำลังคือการงานอันไม่มีโทษ กำลังคือการสงเคราะห์
คนที่มีปัญญาทรามแลจึงกลัวต่อภัยคือทุคติ
คนเกียจคร้านจึงกลัวต่อภัยคือทุคติ
คนที่มีการงานทางกาย ทางวาจา และทางใจที่มีโทษ จึงกลัวต่อภัยคือทุคติ
คนที่ไม่สงเคราะห์ใคร จึงกลัวต่อภัยคือทุคติ


ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยกำลัง ๔ ประการนี้แ
ย่อมก้าวล่วงภัย ๕ ประการนี้.



พลสูตร จบ



(พลสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๗)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP