สารส่องใจ Enlightenment

ไม่มีอะไรตาย (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙




ไม่มีอะไรตาย (ตอนที่ ๑) (คลิก)



ข้อสำคัญก็คือความเห็นโทษแห่งความเป็นอยู่ด้วยความหลง
ความเพลิดเพลินเลื่อนลอยบังอยู่ด้วยความหลง
คือความประมาทนอนใจ ไม่มีสติปัญญาคิดประโยชน์ใส่ตน
ยืนอยู่ด้วยความหลง นอนอยู่ด้วยความหลง เดินไปด้วยความหลง
ในอิริยาบถทั้งสี่เป็นไปด้วยความหลง ความใฝ่ฝันลมๆ แล้งๆ
การมาเกิดก็มาด้วยความหลง มาอยู่ในโลกก็มาอยู่ด้วยความหลง
จะไปข้างหน้าภพหน้าก็ไปด้วยความหลง
ความเห็นโทษสิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นเครื่องเตือนใจตนได้ดี
เพื่อไม่ให้ประมาทนอนใจ ใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญอยู่เสมอ
จะมีทางเห็นโทษสิ่งเหล่านี้ขึ้นเรื่อยๆ
อันเป็นหนทางให้เกิดความอุตส่าห์พยายามพิจารณาแยกแยะสิ่งเหล่านี้ออกจากใจ
พอมีทางเล็ดลอดไปได้ตามกำลังความสามารถ



อย่างไรก็อย่าลืมคำว่า “พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ”
จะอยู่ในสภาพใดอิริยาบถใดก็ตาม ให้ระลึกถึงท่านเสมอ
ทั้งฝ่ายเหตุฝ่ายผลที่พระองค์ได้ทรงดำเนินมาก่อนแล้ว
และทรงได้รับผลเป็นที่พอพระทัยมาแล้ว
จึงทรงนำมาประกาศสอนโลกทั้งหลาย ว่าพระพุทธเจ้าทรงดำเนินอย่างไร
ความทุกข์ความลำบากก็ไม่มีใครจะเกินพระพุทธเจ้าไปได้
เพื่อความรู้ความเห็นในธรรมทั้งหลาย จนทรงรู้แจ้งเห็นชัด ไม่มีสิ่งใดปิดบังลี้ลับ
นำธรรมที่เปิดเผยในพระทัยนั้นมาสั่งสอนโลก
เพื่อได้ทำตามพระองค์ ที่เรียกว่า “ตามเสด็จ”


“ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ” ไม่มีอันใดจะประเสริฐเลิศยิ่งกว่า “ธรรม”
ในบรรดาโลกทั้งสาม คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก ธรรมเป็นธรรมชาติประเสริฐสุด
ที่ควรยึดถือเป็นสรณะทั้งฝ่ายเหตุและฝ่ายผล ไม่มีทางปลีกและเป็นอย่างอื่น
นอกจากนำผู้ปฏิบัติให้ถึงแดนแห่งความเกษมโดยถ่ายเดียว
สมนามว่า “ธรรมเป็นของประเสริฐ” ทั้งโดยสมมุติและโดยหลักธรรมชาติ


ดังนั้นการปฏิบัติตนตามธรรมแม้จะยากลำบากเพียงไร
ก็ควรถือว่านี้คืองานอันประเสริฐเพื่อความพ้นจากกองทุกข์
ไม่ใช่งานเพื่อความล่มจมฉิบหาย
อย่าถือเอาความกลัวตายเพราะความพากเพียรมาเป็นใหญ่
จะมากีดขวางทางเดินเพื่อความหลุดพ้นแล้วก้าวไม่ออก
เพราะกลัวลำบาก กลัวแต่จะตาย เพราะความอ่อนแอฉุดลากให้เป็นไป



“สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” ให้ระลึกถึงพระสงฆ์สาวกท่าน
ท่านเป็นคนเหมือนกันกับเรา ออกมาจากตระกูลต่างๆ
เวลาออกมาท่านก็เป็นเหมือนเราๆ ท่านๆ นี้แล
เมื่อมาบวชเป็นพระแล้ว ก็คือคนเป็นพระนั่นเอง
แต่ท่านอุตส่าห์พยายามดำเนินอย่างไรบ้าง
จึงได้เป็น “สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” ของพวกเรา
ท่านก็เป็นคนเหมือนกัน ทำไมท่านเลิศท่านประเสริฐยิ่งกว่าเรา เรายึดนี้เป็นหลัก
หากว่าท่านไม่มีความอุตส่าห์พยายามฝ่าฝืนอย่างจริงจัง
ท่านจะเป็นผู้วิเศษวิโสและเป็นสรณะของโลกได้อย่างไร
ขอให้ยึดท่านเป็นหลักใจจะได้มีกำลังใจ
เวลากิเลสตัวขี้เกียจอ่อนแอ ตัวขี้สงสัย
ตัวตำหนิตนว่า “บุญน้อยวาสนาน้อย” ไม่มีความเพียรเกิดขึ้น
เพราะ “สรณะทั้งสาม” เป็นเครื่องประกันมรรคผลนิพพานอย่างมั่นใจอยู่แล้ว


จะเอาความตายเข้ามาฝังไว้ในใจ ทั้งๆ ที่ใจนั้นคือความรู้ไม่เคยตายเลย
ทำไมจึงเอาความตายเข้าไปฝังไว้ในหัวใจเรา
เอาป่าช้าไปทับถมใจเราซึ่งไม่เคยตายทำไม
?
นั่นเป็นความเห็นผิดอย่างยิ่ง จะทำอะไรกลัวแต่จะตาย
ไม่ทราบว่า “ความตาย” มีความหมายกว้างแคบขนาดไหน อะไรเป็นผู้ตาย?


ใจเคยเป็นอย่างนี้ ไม่เคยตายแต่ไหนแต่ไรมา
เป็นแต่เพียงเปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่าง เปลี่ยนสถานขั้นภูมิกำเนิดไปตามบุญตามกรรมเท่านั้น
ที่โลกว่า
“เกิด” ว่า “ตาย” แต่ก็คือเวลาตายแล้วก็ไปถือ “ปฏิสนธิวิญญาณ”
“วิญญาณ” เกิดใหม่เรื่อยๆ สูงๆ ต่ำๆ ลุ่มๆ ดอนๆ ตามยถากรรม
หรือตามบุญตามกรรมที่ตนได้สร้างสมอบรม อบรมมามากน้อยนั่นเอง
ส่วนใจไม่เคยตาย จึงไม่ควรเอาความตายไปผูกมัดจิตใจ
พูดง่ายๆ ไม่ต้องเอา “ความตาย” ไปแขวนคอหัวใจ
จะเป็นการสร้างอุปสรรคสร้างความท้อถอย ความอ่อนแอ หมดความพากเพียรให้แก่ตน
แทนที่จะผ่านไปได้ แต่ความกลัวตายไปกีดกั้นทางเดินเสียก็ไปไม่ได้
สิ่งไม่มีอย่าไปหาเรื่องใส่ให้มีขึ้น มันเกิด โทษแก่ตนเอง


คำว่า “สิ่งไม่มี” คืออะไร? คือความตายนั่นแหละไม่มีอยู่ใน “จิต”
จิตเป็นธรรมชาติไม่ตาย แม้มีกิเลสตัณหาอาสวะปกคลุมอยู่มากน้อยก็ตาม
จิตเป็นผู้ทนทานต่อสิ่งเหล่านี้เรื่อยมา ทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์
แต่ไม่ยอมฉิบหายสลายตัวไปเพราะถูกทุกข์ทั้งหลายบีบคั้นทำลายเลย
เป็นความรู้อยู่เช่นนั้น เป็นจิตอยู่เช่นนั้น แม้จะตกนรกอเวจีก็ไม่ตาย
หากทนทุกข์ทรมานไปตามความหนักเบาแห่งกรรมที่ตนทำมาเท่านั้น
จึงไม่มีอะไรในโลกจะเหนียวแน่นทนทานเหมือนใจเลย


มาเป็นมนุษย์เป็นสัตว์เป็นอะไร ก็คือจิตดวงไม่ตายนี้แลไปเกิดและมาเกิด
เป็นเจ้าของแห่ง
“ภพกำเนิด” นั้นๆ ขณะนี้ใจก็อยู่ในธาตุขันธ์ที่เราเห็นอยู่นี้
ธาตุขันธ์อันนี้เป็นของเรา ร่างกายนี้เป็นของเรา จิตมาอาศัยธาตุขันธ์นี้อยู่ไปชั่วกาล
แล้วก็เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติไปตามความจำเป็นที่
“วิบากกรรม” จะพาให้เป็นไป


เพราะฉะนั้นการพิจารณาทุกข์ มีทุกขเวทนาเป็นต้นที่เกิดขึ้นภายในขันธ์ ก็กลัวจะตาย
นี่ก็เพราะสร้างขวากสร้างหนามกีดกันทางดำเนิน
ให้เดินเพื่อความรู้จริงเห็นจริงในเวทนาไม่ได้
ความจริงมีอยู่ไม่ยอมเดินให้เข้าถึงความจริง เพราะความหลงมันบังคับนั่นเอง
“ความหลงบังคับ” คืออะไร ก็ความกลัวตาย
ทั้งๆ ที่ความตายไม่มีอยู่ภายในจิตแต่ก็กลัวตายนี้แล
เราเคยเชื่อ “กิเลส” ในคำว่า “ตายๆ” นี้มานาน จะทำอะไรก็กลัวแต่จะตายๆ
ธรรมท่านจึงสอนให้รู้เข้าไปถึงตรงนี้
ให้เข้าถึงความจริงว่า “จิตไม่ตาย” นี้คือความจริงแท้!


สิ่งเหล่านั้นสลายตัวลงไปตามสภาพของมันมันก็ไม่ตาย
ทุกขเวทนาจะเกิดขึ้นมากน้อยภายในธาตุในขันธ์
ให้กำหนดพิจารณาตามความจริงของมัน
เพราะมันเป็นความจริงแต่ละอย่างๆ อยู่แล้ว
หากไม่พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว
จิตเราไม่เว้นที่จะหวั่นไหว ที่จะเป็นทุกข์ลำบากลำบนไปนาน
ซึ่งแม้ปัจจุบันที่ร่างกายจะสลายตัวไปที่เรียกว่า
“ตาย” นั้น
บางรายถึงกับไม่มีสติประคองตัวเลย
ตายไปแบบ “ไม่เป็นท่า” ราวกับสัตว์ตาย ไม่มีสติสตังเอาเลย
นี่เพราะความไม่ได้ฝึกหัดให้รู้เรื่องต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัว
มีทุกขเวทนาเป็นต้นนั่นเอง
ถ้าจิตพิจารณาตามธรรม เชื่อพระพุทธเจ้า ก็ไม่ควรจะเอา “ป่าช้า” เข้ามาตั้งภายในจิต
ไม่ควรจะเอา “ป่าช้า” เอาความกลัวตายไปมัดจิตซึ่งไม่ใช่ผู้ตาย
ให้กลายเป็นความอ่อนแอท้อถอยไปได้
ซึ่งเป็นการสร้างขวากหนามไว้กีดกั้นทางเดินตัวเองให้หาทางออกไม่ได้


ความจริงมีอย่างใดให้พิจารณาไปตามความจริง ตามหลักธรรมท่านสอนไว้
“เอ้า ทุกข์จะเกิดขึ้นมากน้อยภายในธาตุขันธ์ จะหมดทั้งตัวนี้ก็ให้ทราบ
ทุกข์นี้มีอยู่รอบตัว แต่ไม่ใช่จิต

แม้จิตจะเป็นทุกข์ก็เป็นเวทนาอย่างหนึ่งต่างหาก
ไม่ใช่จิตเป็นเวทนา ไม่ใช่เวทนาเป็นจิต“เวทนา อนิจฺจา” “เวทนา อนตฺตา” นั่น!
ฟังซิ ท่านบอกว่าเป็น “จิต” ไหมล่ะ?
แต่จิตหลงไปยึดเวทนามาเป็นตนต่างหาก จึงเป็นทุกข์ไม่มีประมาณจนดับไม่ลง
และตายไปกับความสำคัญว่า “เวทนาเป็นตน” ตนเป็นเวทนาอย่างไม่รู้ตัว


“เวทนา อนิจฺจา” คืออะไร?
มันมีเกิดขึ้น มีตั้งอยู่ มีดับ มีสลายไป นี่เป็นอนิจฺจาหรืออนิจฺจํ
“เวทนา อนตฺตา” มันเป็นสภาพอันหนึ่งที่ปรากฏตัวขึ้นมาเท่านั้น
โดยมันเองก็ไม่ได้สำคัญว่า ตนเป็นอนตฺตา หรืออตฺตา หรือเป็นอะไร
แต่เป็นความปรากฏขึ้นแห่งสภาพธรรมอันหนึ่งเท่านั้น
ให้จิตผู้เป็น “นักรู้” อยู่ตลอดเวลาได้รู้สิ่งนี้ตามความเป็นจริงของมัน
ไม่ใช่สิ่งเหล่านี้จะมาประหารจิตให้ฉิบหาย
จึงไม่เป็นสิ่งน่ากลัว แต่เป็นสิ่งที่จะพิจารณาให้รู้
ที่ท่านเห็นความจริงของทุกขเวทนาที่มาปรากฏตัวนั้น ท่านรู้ท่านเห็นอย่างที่อธิบายมา


“สัญญา” ก็หลอกว่า “อันนั้นเป็นเรา อันนี้เป็นของเรา”
“อันนี้ทุกข์มากขึ้นแล้วนี่” “ทุกข์มากอย่างนี้”
“เดี๋ยวตายนะถ้าไม่หยุดภาวนา” มันหลอกจงทราบไว้
“สัญญา” นั้นก็เกิดมาจาก “จิต” นั่นแหละ เป็นอาการของจิต
แต่กลับมาหลอกจิตให้เอนเอียงให้หวั่นไหวไปได้
ถ้าจิตไม่มีปัญญาไม่มีสติ ไม่ทราบความจริงของสัญญาว่า “อนิจฺจา อนตฺตา”
ความจริง “สญฺญา อนิจฺจา” จะมาทำลายจิตใจเราได้อย่างไร?
“สญฺญา อนตฺตา” มันก็เป็นสภาพอันหนึ่ง เช่นเดียวกับขันธ์ทั้งหลาย ไม่มีอะไรผิดกัน
“รูปํ อนตฺตา” นั่นฟังซิ รูปํ มันก็เป็น อนตฺตา จะอาศัยมันได้ที่ไหน
จะว่าเป็น “เรา” เป็น “ของเรา” ได้ที่ไหน เป็นความจริงอันหนึ่งเท่านั้น!


จงอย่าฝืนความจริง อย่าไปแย่งความจริงของเขา
ความจริงจงหาเอาด้วย
“สติ ปัญญา” ของเราเอง
จะไม่ยุ่งไม่แย่งเขา จะสบายใจหายห่วงไม่มีบ่วงผูกมัดจิตใจต่อไป


(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก พระธรรมเทศนา "ไม่มีอะไรตาย"
ใน ธรรมชุดเตรียมพร้อม โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP