จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๘๖ คู่ปรับกับพยาบาท คือเมตตา



286 talk



ในชีวิตหนึ่ง
ทุกคนต้องเคยมีประสบการณ์ประมาณว่า
สุขเหลือเกิน อยากให้ทั้งโลกเป็นสุขตามไปด้วย
ไม่อยากถือสาใครเลย
ไม่อยากเห็นใครเป็นทุกข์เลย


แต่ความถี่บ่อยของประสบการณ์ชนิดนั้น
แตกต่างห่างชั้นกัน
เหมือนกับที่โลกนี้
มีคนรวยล้นฟ้าน้อย
แล้วมีคนจนติดดินมาก


สุขล้นๆ
บางคนเกิดมาเคยรู้รสแค่ครั้งสองครั้ง
บางคนรู้รสได้ปีละเกือบสิบครั้ง
ขณะที่บางคนรู้รสแทบทุกวัน ทุกชั่วโมง


คนที่รู้รสสุขล้นๆ
จนอยากเผื่อแผ่ให้คนอื่นได้ทุกวัน
เป็นพวกรู้ทางมาทางไป

รู้ว่าสุขจากการยินดีที่ได้ของขวัญถูกใจ
แบบนั้นอายุสั้น และนานทีปีหนถึงจะได้


รู้ว่าสุขจากการเดินทางไปแจกของแด่คนยาก
แบบนั้นอายุยาว แต่อาทิตย์สองอาทิตย์ถึงจะมีโอกาส


รู้ว่าสุขจากการไม่เบียดเบียนจิตคนอื่น
และสุขจากการไม่เบียดเบียนจิตตนเอง
แบบนั้นนั่นแหละ
สุขเบา สุขสบาย สุขสดชื่นได้ตลอดเวลา
ตั้งแต่นาทีนี้เลย


ความสุขอันเกิดจากการไม่เบียดเบียนจิต
เป็นสิ่งฝึกได้ตามแนวแผ่เมตตาแบบพุทธ
คือ ตอนโกรธ ให้มีสติรู้ว่า
จิตกำลังยับเยิน จิตกำลังมีไข้ขึ้นสูง
สติ ณ เวลานั้นจะช่วยให้รู้ว่า
แค่ไม่หวงความโกรธไว้
ก็เท่ากับเลิกเบียดเบียนจิตตัวเอง
แค่ไม่ปล่อยความโกรธให้ลุกลามออกไป
ก็จะไม่เบียดเบียนจิตคนอื่น


ความไม่เบียดเบียนนั่นแหละ
สุขแท้หนอ ว่างจากพยาบาทดีแท้หนอ


ความว่างอันเป็นสุข
เป็นธรรมชาติที่แผ่ผายออกไปเองได้
เมื่อรู้ชัดว่าสุขนี้
ไม่จำกัดอยู่ในกายอันทึบหนักแล้ว
ก็นั่นแหละ เมตตาที่แผ่ไปให้ผู้อื่นรู้สึกไปด้วยได้


พระพุทธเจ้าตรัสว่า
คู่ปรับกับพยาบาท คือเมตตา
ความหมายคือ
ถ้าแผ่เมตตาอยู่เรื่อยๆ
ความพยาบาทจะตั้งอยู่ไม่ได้
เพราะจิตจะฉลาดเลือกแบบไม่ต้องคิดเลยว่า
จะให้ที่ยืนกับความสุขหรือความทุกข์ดี!


ดังตฤณ
กรกฎาคม ๒๕๖๓






review


พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย

เกี่ยวกับกำลัง ๔ ประการที่จะทำให้พ้นจากภัยทั้ง ๕ ประการได้
รายละเอียดติดตามได้ในคอลัมน์ "ธรรมะจากพระสูตร"
ตอน "พลสูตร ว่าด้วยกำลัง ๔ กับภัย ๕"


ในการทำบุญให้แก่ผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว
ต้องอาศัยเงื่อนไขใดบ้าง เขาจึงจะได้รับส่วนกุศลนั้น
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "เมื่อเจริญสติแล้วอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
จะทำให้เขามีความสุขขึ้นได้หรือไม่"


หากคู่ครองที่เคยไว้ใจได้เคยนอกใจไปมีอีกคน
แม้เลือกที่จะให้อภัยและรักษาชีวิตคู่เอาไว้
แต่จะเยียวยาหัวใจที่เจ็บปวดได้อย่างไร
ติดตามได้จากกรณีศึกษาใน "โหรา (ไม่) คาใจ" ตอน "รอยแผลในหัวใจ"


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP