จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๘๕ เหยื่อล่อ



285 talk



คุณจะเข้าใจ
คำว่า ‘เหยื่อล่อ’ ได้อย่างชัดเจน
ก็เมื่อเจอสิ่งล่อใจให้ทำผิด
ล่อให้น้ำลายไหล
ล่อให้ภายในแด่วดิ้นเหมือนจะลงแดง
ยิ่งย้ำคิดว่าชาตินี้ยังไงก็ไม่มีทางได้
ยิ่งทรมานเหมือนจะตายให้ได้เดี๋ยวนี้


เหยื่อล่อนั้น
อาจเป็นดารา
ที่เข้ามาเป็นวิมานลอยในหัว
หรืออาจเป็นคนตัวเป็นๆ
ที่ต้องเจอกันจริงๆเกือบทุกวัน
คุยเกือบทุกวัน ประทับใจเกือบทุกวัน
ต้องกัดปากเกร็งเกือบทุกวัน


เหยื่อล่อนั้น
อาจไม่เห็นหัวคุณ เมินคุณ
หรืออาจอยากเล่นด้วย
แต่เล่นไม่ได้ ติดภารกิจ
ติดใบทะเบียนสมรส
หรือติดห่วงว่าอยู่ด้วยกันแล้ว
จะไม่มีกินไปด้วยกัน


ชีวิตหนึ่ง
คุณเจอเหยื่อล่อได้หลายครั้ง
แต่ละครั้งจะชวนคุณสำรวจใจตัวเองว่า
ชีวิตมาถึงไหน
หลักลอย ยอมทำผิดทุกอย่างเพื่อให้ได้มา
หรือมีหลักแล้ว มีจุดยืนแล้ว
ยอมตายดีกว่าผิดศีล


แรงทะยานที่บีบคั้นให้ผิดศีลข้อ ๓ ในยุคนี้
มักรุนแรงเกินห้ามใจ
เพราะสิ่งแวดล้อมยั่วยุและหว่านล้อมให้หลงผิด
คิดว่าใครๆเขาก็ทำกัน
ผู้คนจึงหลงเชื่อเสียงเรียกร้องจากมารในตนได้มาก
ยิ่งถูกหลอกหลอนกันซ้ำๆด้วยคำว่า
‘ชาตินี้ไม่มีทางได้’ มากขึ้นเท่าไร
หัวใจยิ่งถูกบีบคั้นให้อยากได้สิ่งต้องห้ามหนักขึ้น
เหมือนยอมเสพเฮโรอีนเกินขนาดให้ตายดับ
ดีกว่าไม่ได้เสพแล้วขาดใจตายอยู่ดี


เมื่อไม่มีสุขอื่นให้เปรียบเทียบ
ไม่มีเครื่องต่อรองกับมารภายใน
คุณจะหน้ามืด
ลืมหมดว่าตัวเองเคยด่าคนอื่นไว้อย่างไร
เคยท่องว่าจะห้ามใจไม่ผิดศีลข้อไหนบ้าง
ใจจะเหมือนกระทิงเปลี่ยว
อยากพุ่งเข้าชนเป้าให้ได้ท่าเดียว


แต่หากคุณได้ดี
มีสุขทางธรรม
มีสุขอื่นที่ประณีตกว่า
คุณจะพบข้อแลกเปลี่ยนที่โลกภายใน
เปรียบเทียบได้ บอกตัวเองถูกว่า
จะสละเหยื่อล่อที่เป็นสุขหยาบๆ
เป็นสุขลมๆแล้งๆชั่วคราว
เพื่อแลกมากับเป้าหมายใหม่แบบไหน
อะไรคุ้มกว่ากัน ยั่งยืนกว่ากัน
จับต้องได้จริงกว่ากัน


ยุคเรา
เป็นยุคนรกล่อใจได้สวยหวาน
จึงเป็นยุคที่ทุกคนควรรู้จักรสหวานชื่น
จากการมีสมาธิ มีสติที่เจริญแล้วกันให้ได้
ไม่อย่างนั้นก็เหมือนไม่มีภูมิคุ้มกัน
ไม่มีเครื่องป้องกันตัว
ขณะต้องอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยโรคร้ายระบาดหนัก!


ดังตฤณ
มิถุนายน ๒๕๖๓





review


พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย
เกี่ยวกับเหตุที่ทำให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ
รายละเอียดติดตามได้ในคอลัมน์"ธรรมะจากพระสูตร"
ตอน "สัมโพธิสูตร ว่าด้วยเหตุเจริญแห่งโพธิปักขิยธรรม"


ถ้าทำสิ่งที่ดีแต่กลับทำให้บุพการีไม่พอใจ
จะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไรจึงเหมาะสมที่สุด
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "หากเลือกความถูกต้อง
แต่ก็ต้องทำให้คุณพ่อโกรธหรือเสียใจ ควรจะทำอย่างไรดี"


การเจริญเมตตาจิตและละโทสะทำได้อย่างไร
และเมื่อถูกกระทบด้วยถ้อยคำของผู้อื่น ควรปฏิบัติเช่นใด
ติดตามได้เรื่องราวที่คุณงดงามบอกเล่าไว้
ในคอลัมน์ "จุดหมายปลายธรรม" ตอน "เจริญเมตตาจิต ละโทสะ"



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP