จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ติเตียนผิด


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



282 destination



ในช่วงที่ไวรัส Covid-19 ระบาดนี้
เราคงได้พบเห็นข่าวปลอม (Fake News) ออกมามากมาย
เราจึงควรต้องใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสาร
และไม่สมควรที่จะรีบเชื่อหรือแชร์ข่าวใด ๆ เร็วเกินไป
โดยที่ยังไม่ได้ตรวจสอบหรือใช้วิจารณญาณให้เหมาะสม
เพราะย่อมจะส่งผลกระทบเสียหายแก่สังคมส่วนรวมครับ


อีกเรื่องหนึ่งที่เรามักจะเห็นกันบ่อย ๆ ก็คือ
กรณีที่ข่าวยังไม่มีความชัดเจน หรือยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน
แต่เราได้ไปตำหนิติเตียนบุคคลที่เกี่ยวข้องไปแล้ว
ซึ่งอาจจะเป็นการตำหนิติเตียนผิดไปก็ได้


ยกตัวอย่างเช่น กรณีดราม่าในข่าวของสัตวแพทย์ท่านหนึ่ง
ที่โดนจับช่วงระหว่างเคอร์ฟิว และอ้างว่าตนเองออกไปผ่าตัด
ซึ่งก็มีคนจำนวนมากที่รับทราบข่าวสารในช่วงแรก
แล้วก็ได้ตำหนิติเตียนการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐว่าบกพร่อง
ว่าไม่ควรจับสัตวแพทย์ เพราะถือเป็นบุคลากรทางการแพทย์เช่นกัน
แต่ต่อมาก็ปรากฏความจริงว่า สัตวแพทย์รับสารภาพว่าตนเองผิดจริง
โดยตนเองไม่ได้มีเหตุฉุกเฉินที่ต้องไปผ่าตัดอะไรดังที่กล่าวอ้าง
และตนเองได้ฝ่าฝืนช่วงเคอร์ฟิวมา ๒ ครั้งติดกันแล้ว
https://www.thairath.co.th/news/society/1815148


อีกกรณีหนึ่ง กรณีดราม่าในข่าวเรื่องพนักงานเปลโรงพยาบาล
ที่ได้อาสาไปช่วยกดถอนเงิน
จำนวน ๕,๐๐๐ บาทจากตู้เอทีเอ็ม
ให้คุณป้าป่วยโรคไตท่านหนึ่ง แต่ตู้เอทีเอ็มได้เกิดขัดข้องในระหว่างถอนเงิน
ทำให้ตัดบัญชีโดยอัตโนมัติ และไม่ได้รับเงินสดออกมา
คุณป้าป่วยโรคไตจึงได้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดี
โดยคนจำนวนมากที่รับทราบข่าวสารในช่วงแรก
แล้วก็ได้ตำหนิประณามรุนแรงต่อพนักงานเปลดังกล่าว
แต่ต่อมาก็ปรากฏความจริงว่า ธนาคารได้ออกมายอมรับว่า
เกิดระบบขัดข้องขณะที่กดเงินจากตู้เอทีเอ็มจริง
ทำให้ตัดเงินในบัญชีอัตโนมัติ
และธนาคารได้โอนเงินจำนวน ๕,๐๐๐ บาทคืนให้คุณป้าเรียบร้อยแล้ว
โดยพนักงานเปลดังกล่าวไม่ได้โกงเงินคุณป้าที่ป่วยโรคไต
คุณป้าที่ป่วยโรคไตจึงได้ไหว้ขอโทษพนักงานเปลดังกล่าว
และยังขอบคุณและชื่นชมหนุ่มพนักงานเปลที่คอย
ดูแลช่วยเหลือเวลาไปฟอกไตที่โรงพยาบาล
และยังมีน้ำใจไปกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มให้อีกด้วย
https://mgronline.com/local/detail/9630000043503


จากกรณีตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น
หากเราด่วนเชื่อหรือสรุปข่าวเร็วเกินไป
ทั้งที่ข่าวยังไม่มีความชัดเจน หรือยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน
แล้วเราก็ไปตำหนิติเตียนบุคคลอื่นไปแล้ว
ทั้งที่บุคคลนั้นไม่สมควรถูกติเตียน เท่ากับว่าเราติเตียนผิด
ซึ่งย่อมก่อให้เกิดบาปอกุศลแก่เราในการที่ติเตียนผิดนั้น


ใน “โกกาลิกสูตร” พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
“ก็วาจาหยาบเช่นกับขวาน เกิดในปากของบุรุษแล้ว
เป็นเหตุตัดรอนตนเองของบุรุษผู้เป็นพาลผู้กล่าวคำทุพภาษิต
ผู้ใดสรรเสริญคนที่ควรนินทา
หรือนินทาคนที่ควรสรรเสริญ
ผู้นั้นย่อมก่อโทษเพราะปาก ย่อมไม่ได้ความสุขเพราะโทษนั้น”
https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/item.php?book=25&item=387&items=1&preline=0&pagebreak=1


เช่นนี้แล้ว เมื่อเราได้รับทราบข่าวสารในเรื่องใด ๆ
และหากต้องการจะตำหนิติเตียนบุคคลใดแล้ว
พึงใช้วิจารณญาณตรวจสอบข่าวสารให้แน่นอนเสียก่อน
และให้มั่นใจว่าข่าวสารนั้นมีข้อสรุปถูกต้องแล้ว
แต่ถ้าจะให้มั่นใจและปลอดภัยจริง ๆ แล้ว
ก็ไม่ควรไปตำหนิติเตียนบุคคลใดก็จะปลอดภัยที่สุดครับ
เพราะว่าข่าวปลอม (Fake News) ในยุคนี้
ระบาดรุนแรงยิ่งกว่าไวรัส Covid-19 เสียอีกครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP