ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

นั่งสมาธิแล้วตัวโคลง


Answer

ถาม : สวัสดีค่ะอาจารย์ คือก่อนหน้านี้เราเคยฝึกแบบพองยุบมาก่อน รู้สึกว่าลมหายใจจะหนัก แล้วเวลาเราพองยุบ จะรู้สึกว่าจิตมันจะหนัก พอพยายามปล่อยวางไปเรื่อยๆ จิตก็จะหนีไปคิดถึงคนที่บ้าน เพราะจะมีความกังวลที่บ้านอยู่ ก็พยายามกลับมารู้สึกตัวอยู่ที่พอง คือจะติดพองยุบ คือเรารู้สึกว่าเราติดลมหายใจ สักพักหนึ่งในร่างกายเราจะรู้สึกความอุ่นเกิดขึ้น ความอุ่นความร้อนมันแผ่ซ่านไปทั้งตัว แล้วก็สักพักหนึ่งจะติดรู้สึกว่า มันจะโคลงๆ เราก็ไม่รู้ว่าสภาวะนี้คืออะไร ซึ่งก่อนหน้านี้สภาวะนี้จะติดตัวมาตลอดว่า นั่งสักพักหนึ่งจิตมันจะโคลงๆ หมุนๆ ขอให้อาจารย์ชี้แนะด้วย

พูดแบบรวมเลยก็แล้วกันนะ
เวลาที่คุณไปนั่งหลับตา หรือว่านั่งลืมตา อะไรก็แล้วแต่
แล้วเห็นว่ามีภาวะแปรปรวนเกิดขึ้นมากมาย
เดี๋ยวบางทีมันอุ่น เดี๋ยวบางทีมันฟุ้งซ่านแวบไปหาคนที่บ้านบ้าง
หรือว่าเกิดความรู้สึกอย่างโน้นอย่างนี้ขึ้นมา สลับไปไม่มีที่สิ้นสุด

ผมขอแนะนำอย่างนี้ว่า ให้บอกตัวเองนะครับ
ภาวะทางใจในขณะนั้นน่ะ มันยังมีอาการกระโดดอยู่
มันยังพร้อมจะเป็นคลื่นของความฟุ้งซ่าน
ไม่ใช่คลื่นของความสงบ
ดู บอกตัวเองอย่างนี้ก่อน

ขั้นแรก ยอมรับความจริงไปก่อนว่าจิตมันกำลังปั่นป่วน
อยู่ในภาวะพร้อมฟุ้ง ไม่ใช่พร้อมสงบ
ให้คุณยอมรับตามจริงไป แล้วคุณจะได้เห็น
ในขณะที่ฟุ้งซ่าน ถ้าเรายอมรับตามจริงว่ากำลังฟุ้งซ่านอยู่
อย่างน้อยที่สุดในขณะนั้นคุณจะฟุ้งซ่านโดยมีสติกำกับ
ไม่ใช่ฟุ้งซ่านซัดส่ายไปเรื่อยแบบเป็นอิสระ ในลักษณะสุ่มของจิต
แต่จะเป็นการฟุ้งซ่านอย่างมีสติกำกับ
สติตัวที่รู้ ตัวที่ยอมรับตามจริงว่ากำลังฟุ้งซ่านนั่นแหละ
ตัวนั้นแหละสติ

ต่อไปนะครับ ข้อสอง ก็คือว่า
คุณต้องรู้นะว่า ในขณะที่จิตฟุ้งซ่าน ยิ่งคุณรู้ไปเรื่อยๆ
ยิ่งรู้มากเท่าไหร่ ยิ่งฟุ้งซ่านเท่านั้น
อาการตามรู้ คุณจำไว้นะ
ในขณะที่จิตปั่นป่วน มีความฟุ้งซ่านอยู่
ยิ่งคุณดูมันมากเท่าไหร่
คุณจะยิ่งเห็นมันปั่นป่วน เห็นมันฟุ้งซ่านมากขึ้นเท่านั้น
นี่คือธรรมชาติข้อสองที่คุณต้องบอกตัวเองนะครับ

ถ้าหากว่าคุณกำลังนั่งสมาธิอยู่
นี่พูดถึงในแง่ของการนั่งสมาธิ
พบว่าตัวเองไม่สามารถจะหยุดฟุ้งซ่านได้ และก็ไม่สามารถรู้อะไรได้
คำแนะนำที่ดีที่สุดก็คือว่ากลับไปนับหนึ่งใหม่เลย
เริ่มต้นจากที่ผมบอกนั่นแหละ
แสดงแล้วว่าพื้นจิตพื้นใจของคุณมันยังไม่สบายพอ
ลองไปดูนะครับ เท้ามันวางราบกับพื้นสบายไหม
มีส่วนใดส่วนหนึ่งงองุ้มไหม
ส่วนใหญ่ถ้าหากว่าคุณกำลังฟุ้งซ่านอยู่
แล้วคุณลองสำรวจดู
นี่อย่างตอนนี้ ถ้าใครกำลังฟุ้งซ่านอยู่
ลองสำรวจตัวเองเข้ามาดู
ฝ่าเท้ามันจะมีอาการเกร็งๆ หรือว่างองุ้มอยู่
ฝ่ามือมันจะไม่สบาย
มีส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกายที่มันกำมันเกร็งอยู่
หรือใบหน้ามันอาจจะขมวดอยู่
มีอาการขมวดที่หว่างคิ้ว มีอาการตึงที่ขมับ หรืออะไรต่างๆ

ถ้าคุณหันเหจิตใจ แทนที่จะวิ่งไล่ตามความฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ
มาสำรวจอาการทางกายแทน
สิ่งที่ได้ในทันทีทันใดก็คือว่า ร่างกายที่สบายที่ผ่อนคลาย
มันจะเป็นพื้นฐานให้จิตมีความสบายตามไปด้วย
ตรงนั้นน่ะ ความฟุ้งซ่านมันจะลดลงแล้ว
พอความสบายเกิดขึ้น คุณค่อยดูว่า
เออ...ตอนนี้มันสบายนะ
สบายเพราะว่าร่างกายมันผ่อนพักเต็มที่ ทั่วพร้อมทั้งตัว
จากนั้นพอมันแวบ หรือว่าพอมันมีความร้อนความอุ่น
หรือว่าติดอาการพองยุบอะไรก็แล้วแต่นะ
คุณค่อยไปดู
แล้วสังเกต มันจะเห็นความแตกต่างนะ
จากตอนที่คุณไล่ดูไปเรื่อยๆ จากจุดหนึ่งกระโดดไปจุดหนึ่ง
คราวนี้พอมันมีหลัก มันมีที่ตั้ง
คุณรู้สึกถึงอาการนั่ง ที่มีความสบาย ที่มีอาการผ่อนพัก
ตัวนั้นน่ะมันจะเป็นหลัก
สตินะ มันมีที่ตั้ง มันมีศูนย์กลาง
อาการพองยุบหรืออาการอุ่นอะไรมันเกิดขึ้น
คุณจะรู้มาจากความรู้สึกที่สบาย
ไม่ใช่รู้ออกมาจากความรู้สึกที่ว้าวุ่น

จำผมพูดได้ไหม สามข้อนะ
ข้อแรก ยอมรับตามจริงไปว่าฟุ้งซ่าน

ถาม : ขออนุญาตแทรกตรงที่ว่า ยังไม่เข้าใจ ตรงที่ยอมรับความจริง

เอาง่ายๆ แค่บอกตัวเอง เหมือนพากย์กำกับไป ตอนนี้เราฟุ้งซ่านอยู่นะ
นั่นแหละเรียกว่ายอมรับตามจริง
ความแตกต่างในการเป็นนักเจริญสติที่ได้ผลหรือว่าที่ย่ำอยู่กับที่มันอยู่ตรงนี้แหละ
นักเจริญสติ ๙๙
% ผมบอกตัวเลขอย่างนี้เลย ๙๙% หรือมากกว่านั้น
จะเริ่มต้นฝึกเจริญสติด้วยการคาดหวังว่าตัวเองจะต้องได้เห็นอย่างโน้นอย่างนี้
หรือว่าจะไม่เกิดภาวะอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นในเรา

พอมันมีความคาดหวังปุ๊บ ใจมันอยากไปแล้ว อยากให้ได้ผล
หรืออะไรเสียๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันมันหายไป
ความอยากนั่นแหละครับที่มันไม่ใช่สตินะ
มันเป็นศัตรูของสติ
มันเป็นสิ่งที่เราจะเจริญสติเพื่อกำจัดมัน
ไม่ใช่ไปให้การสนับสนุนมัน

นักเจริญสติส่วนใหญ่ พอไม่รู้หลัก
ก็จะคิดว่า เอ๊ะ...นี่เรากำลังเกิดอะไรขึ้น
เรากำลังจะต้องทำอะไร เรากำลังจะไปทางไหนดี
มันมีเรา มีเรา แล้วก็อยากโน่นอยากนี่
ตัวอยากโน่นอยากนี่ นี่แหละ ตัวอาหารหล่อเลี้ยงความฟุ้งซ่าน
แต่ถ้าหากว่าเรายอมรับให้ได้ตรงๆ
แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็บอกนะ
วิธีกำจัดนิวรณ์น่ะ อยู่ในสติปัฏฐานสูตร
คือท่านเริ่มจากให้ไม่สร้างฐานของความฟุ้งซ่าน
ไม่ไปใช้ชีวิตอะไรที่ทำให้จิตมันซัดส่าย
แล้วก็อันที่เป็นหมัดฮุกเลย ที่จะน็อคมันได้จริงๆ
ก็คือว่า เมื่อไหร่ที่ฟุ้งซ่าน ยอมรับไปตามจริงว่ากำลังฟุ้งซ่านอยู่
ดูไปเถอะว่ามันกำลังฟุ้งมากหรือฟุ้งน้อย
ยอมรับมันไป
มันจะได้เห็นไงว่าภาวะตอนนี้กำลังฟุ้งซ่าน
ถ้าไม่อย่างนั้น พยายามไปสู้กับมันตรงๆ ทั้งๆที่ไม่มีพร้อมจะสู้
คุณไปพยายามระงับความคิด ระงับความฟุ้งซ่าน
ตรงนั้นมันยิ่งฟุ้งซ่านหนักเข้าไปใหญ่ เพราะมันมีความอยาก
อยากที่จะเลิกฟุ้งซ่าน แล้วมันไม่หาย มันไม่หายไปซักที
มันก็อยากไม่หยุด

อาการทะยานของใจนั่นแหละ
ตัวนั้นแหละที่ทำความไม่สงบให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
พอเราแค่ยอมรับไป อ้ะ...นี่ฟุ้งซ่าน โอเค
ภาวะตอนนี้ ไม่อยากให้มันสงบไปเดี๋ยวนี้
และก็ไม่คาดหวังว่ามันจะต้องเกิดอะไรขึ้นในทันที
บางคนไปคาดหวังว่า เออ...พอเรายอมรับปุ๊บ เดี๋ยวความฟุ้งซ่านมันหายไปเอง
ไม่ใช่...
คุณแค่มีหน้าที่ยอมรับตามจริงว่าว่ากำลังฟุ้งซ่านอยู่
แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น ค่อยดูผลต่อไป

ถ้าหากคุณยอมรับอย่างถูกต้อง
ธรรมชาติของใจมันจะแสดงตัวเองออกมา
ฟุ้งซ่านอยู่ รู้ว่าฟุ้งซ่าน ยอมรับว่าฟุ้งซ่าน
มันจะค่อยๆจางลงไป
ถ้าถามตัวเองว่า ตอนนี้กำลังฟุ้งซ่านมากหรือฟุ้งซ่านน้อย
มันตอบตัวเองได้ถูก อ้ะ...นี่ฟุ้งซ่านมาก มันเป็นกระจุกเลย
หรืออย่างของคุณที่เล่ามา
มันคืออาการที่มันไหลไปกระโดดไป จากเรื่องนี้ไปหาเรื่องโน้น
บางทีเดี๋ยวอุ่นบ้าง เดี๋ยวมีพองยุบบ้าง เดี๋ยวมีเรื่องญาติบ้าง
มันกระโดด มันไหลไปเรื่อย
ตรงนี้แค่ยอมรับตามจริงว่าเราฟุ้งซ่านแบบไหลไปเรื่อย
มันก็ไม่เกิดความอยากที่จะให้มันเป็นยังไงแล้ว
อันนั้นข้อแรก

ต่อมาข้อที่สอง
เรามาสำรวจ เท้าเรากำลังสบายอยู่หรือเปล่า
มือเรากำลังวางสบายอยู่หรือเปล่า
ทั่วทั้งใบหน้าเรายังเปิดอยู่หรือเปล่า
มีอาการตรงไหนที่มันเพ่ง มันเกร็ง มันงองุ้ม
แค่สำรวจไปใจมันก็สบายขึ้น
แค่ตรงนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นได้อย่างชัดเจนแล้วว่า
เออ นี่เรากำลังรู้ รู้อยู่แน่ๆแล้วว่ากายมันสบาย
แล้วพอกายมันสบาย ร่างกายมันก็ผ่อนคลายตาม
หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นก็ค่อยๆดูไป
มันจะมีศูนย์กลางของการดู
มันจะมีจุดยืนของการดู

จิตแบบที่คุณเล่ามานะ มันไม่มีจุดยืน
พอเกิดภาวะอะไรขึ้นมา มันไหลตามไปทันที
เพราะฉะนั้น เกิดกี่ภาวะมันก็ไหลไปเท่านั้น
จะเกิดสามสี่ภาวะ สิบภาวะ ร้อยภาวะ
คุณดูแบบนั้นน่ะมันเหนื่อย
จิตมันไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่ยืน
แต่พอคุณรู้ปั๊บ กายมันสบายอยู่ ยังอยู่ในท่านั่งอยู่
ไอ้ตรงนี้เริ่มมีจุดยืนแล้ว
เพราะร่างกายมันเป็นอะไรที่มันคงที่ มันคงเส้นคงวา

เวลาที่พระพุทธเจ้าให้ฝึกสติปัฏฐาน
ท่านก็ให้ดูลมหายใจ ดูอิริยาบถ
บางคนไม่เข้าใจว่าท่านให้ดูไปทำไม
ให้ดูเพราะอย่างนี้แหละ
มันมีที่ยืน มันมีจุดยืนของสติ
แล้วถ้าหากว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นในขอบเขตของกายใจ
ถ้าหากว่าเรายังมีศูนย์กลางแบบเดิมอยู่อย่างนี้นะ
มันก็สามารถเห็นได้ชัด
โดยที่ไม่ต้องมาถามตัวเองว่าเราจะตั้งสติไว้ที่ไหน

ถาม : ขออนุญาตอีกที หนูเคยไปส่งการบ้านอาจารย์ที่โรงพยาบาลบางบ่อ เมื่อเดือนเมษายนนะคะ อาจารย์บอกว่าจิตหนูฟุ้งซ่านมาก แล้วก็อาจารย์บอกไม่ให้หนูทำในรูปแบบ พอมานั่งสมาธิที่อาจารย์สอน แล้วอย่างนี้หนูควรจะเริ่มต้นทำได้หรือยังคะ เพราะว่าจิตมันฟุ้งซ่าน

ส่วนใหญ่พอเวลาที่เราฟังคำแนะนำอะไรมาเยอะๆนะ
มันจะมีความขัดแย้งอยู่ข้างใน มันจะมีปม
พอฟังอะไรที่มันต่างจากที่กำลังทำอยู่ปุ๊บ
มันจะรู้สึกทันทีเลยว่า เอ๊ะ...มันมีอะไรติดๆ
คือไม่ใช่ว่าต่อต้านหรือว่าไม่เชื่อ
แต่มันติด สงสัยอยู่ในใจว่าจะเอาอย่างไรดี

ผมขอแนะนำนะ ไม่ว่าคุณจะเคยฟังอะไรมาแค่ไหน
อันนี้ไม่พูดถึงกรณีเฉพาะเจาะจง แต่พูดถึงกรณีทั่วไปเลย
เวลาที่คุณเกิดความสงสัยขึ้นมา
ก็ให้รู้ไปตรงนั้นก่อนว่า มันมีความสงสัย
พระอาจารย์ปราโมทย์ท่านชอบสอนตรงนี้มากที่สุดเลยว่า
เวลาเกิดความสงสัย อย่าไปค้นหาคำตอบ
แต่ให้รู้ความสงสัยไปว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร
หน้าตามันมีอาการติด มันมีอาการวน
ถ้าตราบใดมันยังวนอยู่ คุณอย่าเพิ่งไปทำอย่างอื่น
เพราะมันจะถูกขังอยู่ในอาการวนแบบนั้นแหละ
ไม่ว่าคุณจะไปพยายามทำอะไรอย่างอื่นก็ตาม
มันจะยังติดอยู่ มันจะยังวนอยู่
ก็ให้รู้อาการวน
จนกระทั่งเห็นความไม่เที่ยงของอาการวนเสียก่อน
อาการที่ใจวนคิดวนติดอยู่
ตัวนั้นแหละตัวความสงสัย
ถ้าหากว่าความสงสัยถูกรู้ถูกดูว่าเป็นภาวะหนึ่งที่ไม่เที่ยง
พอมันหายไป ใจคุณก็จะรู้สึกโล่ง
แล้วก็เกิดความรู้สึกเชื่อมั่นขึ้นมา
เชื่อมั่นว่าเรากำลังรู้ภาวะทางใจในปัจจุบันอยู่

ของคุณ คือผมไม่ได้บอกไม่ให้ทำตามรูปแบบ ไม่ได้ไกด์แบบนั้น
แต่ให้อุบายไปง่ายๆ ถ้ากำลังไหลอยู่ อย่าไปไหลตามมัน เพราะมันไหลไม่หยุด
จิตตรงนั้นมันเหมือนกับไม่มีที่เกาะเลย
แล้วพอถูกคลื่นน้ำซัดไปทางไหน มันก็ไหลไปตามทางนั้น
แต่ถ้าหากว่าเราเข้ามาดู สำรวจอาการทางกายที่กำลังปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในขณะนั้น
มีอาการเกร็งอยู่ที่ตรงไหน เราคลายออกที่ตรงนั้น
ถ้ามันคลายออกทั่วทั้งตัวแล้วนะ

สามจุดง่ายๆเลยที่สังเกตก็คือ
ฝ่าเท้า ฝ่ามือ และใบหน้า
ฝ่าเท้าเป็นจุดพื้น จุดยืนของลักษณะจิตใจ
ถ้าหากว่ามันมีอาการงอ มันมีอาการงุ้มนะ
คุณลองสังเกต ลักษณะจิตมันจะไม่สบาย
แต่ถ้าหากว่าฝ่าเท้าวางผ่อนคลาย จิตมันจะสบายตาม เป็นพื้น
เท้าไม่ใช่แค่พื้นยืนของร่างกายนะ
แต่มันเป็นพื้นยืนของความรู้สึกทางจิตด้วย
ฝ่ามือก็เหมือนกัน ใบหน้าก็เหมือนกัน
จุดเชื่อมโยงหมดเลยนะ ของลักษณะความเป็นสภาวะจิตในปัจจุบันขณะนั้นๆ นะครับ
ถ้าสำรวจได้แล้ว ผ่อนคลายมันออก ใจคุณจะสบายขึ้นมาเองนะ
อันนี้ไม่ใช่ทำตามรูปแบบ

ถาม : สุดท้ายแล้วค่ะ รู้สึกตื่นเต้น ตอนนี้หายตื่นเต้นแล้วค่ะ

เข้าถึงความเป็นธรรมดานั่นแหละ คือที่สุดของการเจริญสติ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP