สารส่องใจ Enlightenment

หน่ายกาม



โอวาทของธมฺมวิตกฺโกภิกขุ (พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต)
วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร




กามฉันท์หรือกามตัณหา เกิดขึ้นจากความไม่ฉลาด
หลงคิดเห็นอารมณ์ต่างๆ เป็นที่ถูกใจและน่ายินดี
สามารถข่มไว้ได้ด้วยวิธีทั้ง ๖ ดังต่อไปนี้



๑. เพ่งใจให้เห็นอสุภารมณ์ คือ อารมณ์ที่ปฏิกูลน่าเกลียดไม่งามของสังขารร่างกาย
จนให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายความรักใคร่ หายความกำหนัดยินดี



๒. เพ่งพินิจพิจารณาความปฏิกูลของร่างกาย
(แยกออกเป็นอาการ ๓๒ ที่เรียกว่ากายคตาสติภาวนา
มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เอ็น กระดูก เป็นต้น)



๓. ใช้สติสำรวมอินทรีย์ เฝ้าระวังทวารทั้ง ๖ (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เมื่อได้ประสบพบเห็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมมารมณ์
อย่าให้ความรักใคร่ กำหนัด ยินดียินร้าย เกิดขึ้นภายในจิตใจ)



๔. ให้รู้จักประมาณการบริโภคอาหาร อย่าให้อิ่มมากจนเกินไป
จะเป็นเหตุให้เกิดความกำหนัดทางกายและลุกลามเข้าไปถึงจิตใจ
ให้เกิดความเศร้าหมองด้วยฉันทะราคะ



๕. ทำความวิสาสะคบหาสมาคม สนทนาปราศรัย สนิทสนมคุ้นเคยกับกัลยาณมิตรเพื่อนผู้ดีงาม
ที่จะชักชวนให้สนทนาไปในทางที่จะให้เสื่อมคลายหายความรักใคร่กำหนัดยินดีและยินร้าย
ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์



๖. ฝึกฝนปฏิบัติตนในทางที่ถูกตรงตามไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
.๑. พยายามกำจัดตัดกิเลสเครื่องเศร้าหมองอย่างหยาบ
ที่ล่วงออกมา ทาง กายวาจา ด้วยศีล


.๒. พยายามกำจัดตัดกิเลสเครื่องเศร้าหมองอย่างกลาง
คือ นิวรณ์ ทั้ง ๕ มี กามฉันท์ พยาบาท ถีนะมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา
ด้วยสมาธิ (ย่นย่อ นิวรณ์ ๕ ลงเป็น ๓ คือ ๑. ราคะโลภะ ๒. โทสะ ๓. โมหะ)


...๑. กามฉันท์นิวรณ์ ความพอใจในกามเป็นฝ่ายราคะโลภะ
...๒. พยาบาทนิวรณ์ ความขึ้งเคียดโกรธเคือง เป็นฝ่ายโทสะ ที่เหลืออีก ๓ คือ
...๓. ถีนะมิทธะ ความหดหู่ง่วงเหงา
...๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญ และ
...๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ทั้งสามนี้เป็นฝ่ายโมหะ


.๓. พยายามกำจัดตัดกิเลสอย่างละเอียด ที่เกิดทางทิฏฐิความเห็นด้วยปัญญา
ด้วยการพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงของสังขาร
ซึ่งมีลักษณะเกิดขึ้น เสื่อมสิ้น ดับไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา



กามฉันท์หรือกามตัณหานี้ สลัดกำจัดตัดได้อย่างเด็ดขาด
ต่อเมื่อเข้าสู่กระแสพระอนาคามิมรรค บรรลุถึงพระอนาคามิผล



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก พระธรรมเทศนาใน รวมพระธรรมเทศนา ๑๐๘ กัณฑ์ เล่ม ๑
จัดพิมพ์โดย ชมรมพุทธศาสตร์ เอสโซ่ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๒๖



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP