จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

คุยเรื่องการทำแท้ง


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



277 destination



ที่ผ่านมานั้น กฎหมายไทยได้กำหนดห้ามการทำแท้งไว้
โดยในประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๒ ลักษณะ ๑๐ หมวด ๓
ได้กำหนดความผิดฐานทำให้แท้งลูกในมาตรา ๓๐๑ ถึง ๓๐๕
โดยกำหนดโทษจำคุกหญิงที่ทำให้ตนเองแท้งลูก
หรือยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก
รวมถึงบุคคลอื่นที่ทำให้หญิงแท้งลูกด้วย
ยกเว้นแพทย์สามารถทำแท้งให้แก่หญิงได้เฉพาะใน ๒ กรณี ดังนี้
๑. กรณีที่จำเป็นต้องทำแท้ง เพราะเหตุจากสุขภาพของหญิงนั้น
หรือ ๒. หญิงนั้นมีครรภ์เนื่องจากถูกข่มขืน


ในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา
ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา
ในเรื่องความผิดฐานทำให้แท้งลูก ในมาตรา ๓๐๑ และมาตรา ๓๐๕
ซึ่งมาตรา ๓๐๑ บัญญัติว่า “หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก
หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี
หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
และมาตรา ๓๐๕ บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา ๓๐๑
และมาตรา ๓๐๒ นั้นเป็นการกระทำของนายแพทย์ และ
(๑) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ
(๒) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้
ในมาตรา ๒๗๖ ฯลฯ ผู้กระทำไม่มีความผิด”


ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า มาตรา ๓๐๑ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
แต่มาตรา ๓๐๕ ดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
และวินิจฉัยต่อไปว่า ทั้งมาตรา ๓๐๑ และมาตรา ๓๐๕ นี้
สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์
โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติดังกล่าว
และกำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่วินิจฉัยว่า
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๐๑ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้
มีผลเมื่อพ้น ๓๖๐ วันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย


เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐก็จะไปดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
เพื่อยกเลิกข้อจำกัดห้ามมิให้หญิงทำแท้งลูกต่อไป
เท่ากับว่าต่อไปในอนาคต ในประเทศไทยจะเปิดให้ทำแท้งได้เสรีมากขึ้น
ซึ่งในส่วนนี้ก็ย่อมจะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนะครับ


ถ้าหากเราจะพิจารณาว่า ตามสภาพการณ์ในปัจจุบัน
ประเทศไทยสมควรที่จะเปิดให้ทำแท้งได้โดยเสรีแล้วหรือยัง
ก็ควรจะต้องพิจารณาในหลาย ๆ มุม หลาย ๆ ด้าน
เช่น สังคม การศึกษา การแพทย์ วิทยาศาสตร์ ศาสนา เศรษฐกิจ เป็นต้น
ซึ่งก็ย่อมจะถกเถียงกันได้หลากหลายนะครับ
โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
แก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติดังกล่าวให้สอดคล้องกับสภาพการณ์
ซึ่งหน่วยงานรัฐก็ต้องไปพิจารณากันต่อไปว่าสภาพการณ์เป็นอย่างไร


ประเด็นสำคัญของบทความนี้ที่จะมุ่งหมายนำเสนอก็คือ
การทำแท้งในมุมมองของพระธรรมคำสอนหรือพระวินัย
ซึ่งคำถามที่น่าสนใจก็คือว่า การทำแท้งเด็กในครรภ์
จะถือว่าเป็นการทำปาณาติบาตหรือไม่


ในพระวินัยได้กำหนดว่า “ปาราชิก” เป็นชื่ออาบัติหนัก
ที่หากภิกษุต้องเข้าแล้ว ย่อมขาดจากความเป็นภิกษุ โดยมี ๔ อย่าง
ได้แก่ เสพเมถุน ลักของเขา ฆ่ามนุษย์ อวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%BB%D2%C3%D2%AA%D4%A1&original=1
โดยในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ ได้ระบุ
เรื่องที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงวินิจฉัยไว้ ดังนี้



เรื่องหญิงมีครรภ์กับชู้

โดยสมัยนั้นแล สตรีคนหนึ่ง สามีเลิกร้างไปนาน จึงมีครรภ์กับชายชู้
นางได้บอกเรื่องนี้กะภิกษุกุลุปกะว่า นิมนต์เถิดเจ้าขา
ขอท่านจงรู้เภสัชที่ทำให้ครรภ์ตก ภิกษุนั้น รับคำว่า ดีละน้องหญิง
แล้วได้ให้เภสัชที่ทำให้ครรภ์ตกแก่หญิงนั้น ทารกได้ถึงแก่ความตาย
เธอมีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว



เรื่องหญิงร่วมสามี

โดยสมัยนั้นแล บุรุษคนหนึ่งมีภรรยา ๒ คนๆ หนึ่งเป็นหมัน
อีกคนหนึ่งมีปกติคลอด หญิงหมันได้เล่าเรื่องนี้กะภิกษุกุลุปกะว่า
ท่านเจ้าข้า ถ้านางคนนั้นคลอดบุตร จักได้ครอบครองทรัพย์สินทั้งมวล
นิมนต์เถิดเจ้าข้า ท่านจงรู้เภสัชที่ทำให้ครรภ์ตกแก่นาง
ภิกษุนั้นรับคำว่า ดีละน้องหญิง แล้วได้ให้เภสัชที่ทำให้ครรภ์ตกแก่หญิงนั้น
ทารกได้ถึงแก่ความตาย แต่มารดาไม่ตาย
เธอมีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว



เรื่องฆ่าสองมารดาบุตรตาย

โดยสมัยนั้นแล บุรุษคนหนึ่งมีภรรยา ๒ คน คนหนึ่งเป็นหมัน
อีกคนหนึ่งมีปกติคลอด หญิงหมันได้เล่าเรื่องนี้กะภิกษุกุลุปกะว่า
ท่านเจ้าข้า ถ้านางคนนั้นคลอดบุตร จักได้ครอบครองทรัพย์สินทั้งมวล
นิมนต์เถิดเจ้าข้า ท่านจงรู้เภสัชที่ทำให้ครรภ์ตกแก่นาง
ภิกษุนั้นรับคำว่า ดีละน้องหญิง แล้วได้ให้เภสัชที่ทำให้ครรภ์ตกแก่หญิงนั้น
มารดาและบุตรได้ตายทั้ง ๒ คน
เธอมีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว



เรื่องให้รีด

โดยสมัยนั้นแล หญิงมีครรภ์คนหนึ่ง ได้บอกเรื่องนี้กะภิกษุผู้กุลุปกะว่า
นิมนต์เถิดเจ้าข้า ท่านจงรู้เภสัชที่ทำให้ครรภ์ตก
ภิกษุนั้นบอกว่า น้องหญิง ถ้าเช่นนั้นท่านจงรีด นางจึงได้รีดให้ครรภ์ตกไป
เธอมีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว



เรื่องให้ร้อน

โดยสมัยนั้นแล หญิงมีครรภ์คนหนึ่ง ได้บอกเรื่องนี้กะภิกษุผู้กุลุปกะว่า
นิมนต์เถิดเจ้าข้า ท่านจงรู้เภสัชที่ทำให้ครรภ์ตก
ภิกษุนั้นบอกว่า น้องหญิง ถ้าเช่นนั้นท่านจงทำให้ครรภ์ร้อน
นางจึงทำให้ครรภ์ร้อน ทำให้ครรภ์ตกไป
เธอมีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=1&A=7852&Z=8519&pagebreak=0



จากพระวินัยในหลายเรื่องที่ได้ยกมาข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า
การที่ภิกษุไปช่วยทำให้ครรภ์ตกไป หรือช่วยทำแท้งให้แก่หญิงนั้น
ไม่ว่าจะโดยการใช้เภสัชก็ดี สอนให้รีดครรภ์ก็ดี สอนให้ทำให้ครรภ์ร้อนก็ดี
แล้วได้ทำให้ครรภ์ตกไปตามนั้นแล้ว ย่อมทำให้ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาราชิก
จึงเท่ากับว่าในพระวินัยนั้น การทำให้ครรภ์ตกไป หรือทำแท้งเท่ากับ
เป็นการฆ่ามนุษย์ ซึ่งเป็น ๑ ใน ๔ เรื่องที่ทำให้ภิกษุต้องปาราชิก


แม้ว่าในทางพระวินัยจะได้บัญญัติไว้เช่นนั้นก็ตาม
แต่โดยสภาพการณ์ในทางโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย
สังคมก็อาจมีมุมมองที่แตกต่างกันไปได้ เนื่องจากสภาพการณ์ในเรื่องต่าง ๆ
เช่น สังคม การศึกษา การแพทย์ วิทยาศาสตร์ ศาสนา เศรษฐกิจ เป็นต้น
ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และจำต้องต้องแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสม
กับสภาพการณ์นั้น ๆ โดยที่ศาสนาไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียว
ในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในเรื่องนี้


ในเรื่องนี้ ถึงแม้ว่าในอนาคตจะได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย
เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถทำแท้งได้โดยเสรีมากขึ้นก็ตาม
กฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่จะมายกเว้นกฎแห่งกรรมได้
ดังนี้แล้ว ในส่วนของเรา ๆ ท่าน ๆ ที่เป็นผู้มีศรัทธานั้น
ก็พึงที่จะงดเว้นไม่มีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องในการทำแท้งใด ๆ
และพึงสอนเพื่อป้องกันบุตรหลานไม่ให้ต้องทำแท้ง
ซึ่งวิธีการที่จะป้องกันให้ไม่ต้องทำแท้ง ก็คือรู้จักที่จะวิธีคุมกำเนิด
และรู้จักยับยั้งห้ามใจ โดยไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนเวลาอันสมควร
ก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้ต้องมามีปัญหาเรื่องการทำแท้งในอนาคตครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP