สารส่องใจ Enlightenment

พิจารณาทุกขเวทนา (ตอนที่ ๔)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙



พิจารณาทุกขเวทนา (ตอนที่ ๑) (คลิก)
พิจารณาทุกขเวทนา (ตอนที่ ๒) (คลิก)
พิจารณาทุกขเวทนา (ตอนที่ ๓) (คลิก)



แต่การพิจารณาเพื่อถึงความจริงต้องมีความกล้าหาญ
เมื่อจะเอาชัยชนะเข้าสู่ตน ไม่มีความกล้าหาญไม่ได้ เดี๋ยวแพ้
เพราะเรากําลังดําเนินมรรคอยู่ ต้องมีความกล้าหาญหรืออาจหาญ
ไม่พรั่นพรึงหวั่นไหวกับสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น
สิ่งใดที่ผ่านเข้ามาต้องพิจารณาให้รู้ให้เข้าใจทั้งนั้น ไม่มีความท้อถอยอ่อนกําลัง
เพื่อตั้งหน้ารู้เห็นตามความจริงของมัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในกระแสความรู้
ชื่อว่า
“นักรบ” ในสงครามระหว่างจิตกับขันธ์ หรือระหว่างธรรมกับกิเลสทั้งหลาย


ความกล้าหาญอย่างนี้เป็นความถูกต้อง
เมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ความกลัวก็หายไป ความกล้าก็หายไป
เพราะเข้าถึงชัยชนะอันสมบูรณ์แล้ว ความกลัวความกล้าก็หมดปัญหาไป



เวลานี้ความกลัวความกล้าเป็นปัญหาอย่างยิ่งสําหรับผู้กําลังดําเนิน
จงสร้างความกล้าขึ้นด้วยเหตุด้วยผลที่ควรกล้า
และเป็นนักต่อสู้ในสิ่งที่ควรต่อสู้ มีทุกขเวทนา เป็นต้น
ให้เป็นตามความจริงของมัน อย่าไปกลัว
พระพุทธเจ้าไม่สอนให้กลัว กลัวก็มีค่าเท่ากับความตาย
ถึงวันแล้วต้องแตกต้องสลาย ท่านเรียกว่า
“ความตาย”


แต่อย่างไรก็ตาม นักปฏิบัติต้องให้รู้ก่อนที่สิ่งเหล่านี้จะแปรสภาพลงไปด้วยปัญญา
เอา
“ตาข่าย” คือปัญญากางไว้รอบด้าน
อะไรแสดงออกมาก็ไปติดข่าย คือปัญญานั้น
แล้วจะหวั่นไหวไปไหน จะสะทกสะท้านไปไหน จะเอนเอียงไปไหน
เพราะสิ่งนั้นๆ เป็นไปตามความจริงที่ได้พิจารณาไว้แล้ว
นี่ “นักรบ” ท่านพิจารณากันอย่างนั้น
แม้อยู่ในท่ามกลางแห่งขันธ์ที่เป็นกองไฟทั้งกอง ท่านก็มีความร่มเย็นเป็นสุข
โดยปกติของจิตที่รู้รอบขอบชิดแล้ว ไม่หลงตามอาการอะไรทั้งหมด ชื่อว่า “ผู้รู้รอบ”


อาการต่างๆ ที่ขันธ์แสดงออก เมื่อทนได้ก็ทนไป ปฏิบัติรักษาบํารุงกันไป
พากิน พานอน พาดื่ม รักษากันไป ตามธรรมชาติของมัน
เมื่อทนไม่ไหว อย่างไรก็มีแต่จะไปท่าเดียว ก็ปล่อยไปตามคติธรรมดาเสียเท่านั้น
เพราะเป็นความจริงจะฝืนมันได้อย่างไร ปล่อยตามความจริง
นี่แลชื่อว่า
“ปล่อยด้วยความรู้ ที่เป็นไปตามความจริง”
จิต ก็ไม่หวั่นไหว ไม่อาลัย ไม่เสียดาย
นี่คือหลักของการปฏิบัติของผู้ได้ หรือกําลังจะได้ “ชัยชนะ” ภายในจิตใจ
เพราะจิตเคยแพ้กิเลสตัณหามาตลอดจนกระทั่งปัจจุบันนี้
ไม่เคยชนะมาเลย ตั้งแต่กัปไหนกัลป์ไหน มีแต่อยู่ใต้อํานาจกิเลสท่าเดียว
จนลืมเฉลียวใจว่า “กิเลสเป็นนาย เราเป็นบ๋อยของมัน”


คราวนี้แหละจะพลิกตัวเรา โดยอาศัยหลักธรรมเป็นเครื่องปราบปรามกิเลสอาสวะ
ซึ่งเคยชนะเรามาเป็นเวลานาน หรือเป็นเจ้าใหญ่นายโตแห่ง
“วัฏจักร”
บังคับจิตใจเราให้ไปสู่ที่นั่นที่นี่มานาน
คราวนี้เราจะตั้งหน้าสู้กิเลสเพื่อชัยชนะ
และให้เห็นความจริงทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรปิดบังปัญญาได้เลย
พร้อมกับเอาชนะจากความที่เคยแพ้นั้นมาครองเป็นของตัว
ด้วยอํานาจของ สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร อย่างไม่ลดละ


ผู้ถึงแดนแห่งความประเสริฐเพราะความเพียรแล้ว
ย่อมเป็นผู้สง่างามในท่ามกลางแห่งหมู่ชน พร้อมกับความภูมิใจในความเพียรของตน
ผู้ใดถึงแดนแห่งความเลิศประเสริฐด้วยการชนะตนผู้เดียวเท่านั้น เป็นผู้ประเสริฐภายในตน
ไม่มีการก่อเวรเหมือนการชนะสงครามที่โลกชนะ
และก่อเวรก่อกรรมแก่กันไม่มีทางสิ้นสุดเหมือนลูกโซ่
แต่การชนะตนนี้เป็นเอกในสงคราม
ดังธรรมท่านว่า
อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย การชนะตนแล ประเสริฐสุด”


สิ่งที่เคยก่อกวนจิตใจให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนดังที่เคยเป็นมานั้น
เป็นอันว่า
“ยุติกันโดยสิ้นเชิง”
ที่กล่าวมาทั้งนี้ อย่าลืมว่าความเพียรเป็นสําคัญ
เป็นเครื่องสนับสนุนสติปัญญา
เป็นผู้บุกเบิกเพื่อความก้าวหน้าในงาน
ปัญญาเป็นสําคัญมากที่จะต้องพิจารณาค้นคว้าให้เห็นเหตุเห็นผล
สติเป็นผู้บังคับงานไม่ให้เผลอตัว
เมื่อปัญญาพิจารณาเห็นความจริงของส่วนต่างๆ มีขันธ์ห้าเป็นต้นแล้ว
กิเลสไม่มีที่หลบซ่อน จะไหลเข้าไปสู่ภายในจิตแห่งเดียว ไม่มีทางยึด ไม่มีทางเกาะ
เพราะที่เหล่านั้นถูกทําลายฉิบหายไปด้วยปัญญาเสียแล้ว


จากนั้นก็เข้าตีต้อนในจิตที่ข้าศึกไปรวมตัวอยู่ ให้แตกกระจายออกจากใจไม่มีอะไรเหลือ
นั่น! ท่านว่า
“กิเลสตาย” ตายที่ตรงนั้นแหละ! ตายที่ตรงมันเคยอยู่กับใจนั่นแหละ
มันอาศัยที่นั่น เวลาตายไปก็ตายที่นั่น ด้วยอํานาจของ “มหาสติ มหาปัญญา” ที่ทันสมัย
นั่นท่านเรียกว่า “ชัยชนะอย่างเต็มภูมิ”


ความชนะอันเลิศชนะที่ตรงนี้ ศาสนารวมลงที่จุดนี้
วาระสุดท้ายแห่งการปฏิบัติศาสนา ก็มายุติกันที่ตรงนี้ มาหยุดงานกันที่ตรงนี้
ถึงแดนแห่งความพ้นทุกข์ ก็ถึงที่ตรงนี้ นอกนั้นไม่มี
กาลก็ไม่มี สถานที่ก็ไม่มี อดีตอนาคตไม่มี
ปัจจุบันก็รู้เท่าทันทุกสิ่งทุกอย่างอย่างพร้อมมูล
เป็นผู้หมดเรื่องหมดราว หมดคดีเกี่ยวข้องในโรงในศาล ระหว่างกิเลสกับใจ
มหาสติ มหาปัญญา ออกนั่งบัลลังก์ ตัดสินประหารชีวิตกิเลสทั้งโคตรแซ่ของมัน
ไม่มีเชื้อสายสืบหน่อต่อแขนงแห่งภพชาติอีกต่อไป
กิเลสพร้อมโคตรแซ่จมหายไปในขณะนั้น
นี่ท่านเรียกว่า
“ถึงนิพพาน” เป็นจิตที่เที่ยงแท้ แน่ละ


อาการทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยหลอกลวงจิตนั้นไม่มี เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ
ขันธ์แม้จะปรุงแต่งขึ้นมาตามธรรมชาติของมันที่มีอยู่
เช่น รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์
ก็แสดงตามเรื่องของตน ซึ่งไม่มีความหมายในทางกิเลสแต่อย่างใดเลย
รูป ก็มีการแสดงไปตามเรื่องของรูป
เวทนา
สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ที่ปรากฏในขันธ์ ก็แสดงไปตามเรื่องของเวทนา
สัญญา
ความจําได้หมายรู้ ก็เป็นไปตามเรื่องของตน
สังขาร
ความคิดปรุงต่างๆ ก็เป็นไปตามสภาพของตน
วิญญาณ
ความรับทราบ เมื่อสิ่งภายนอกเข้ามากระทบ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตก็รับทราบ แล้วก็ดับไปๆ ตามธรรมชาติของมัน
โดยไม่สามารถทําให้จิตใจกําเริบเหมือนแต่ก่อน
เพราะสิ่งที่ทําให้กําเริบนั้นได้ถูกทําลายไปหมดแล้วไม่มีอะไรเหลือ
จึงเรียกว่า
“เป็นขันธ์ล้วนๆ”
เป็นผู้ถึงพระนิพพานอยู่ในระหว่างขันธ์ล้วนๆ
คือนิพพานทั้งเป็น ได้แก่จิตที่บริสุทธิ์จากกิเลสนั้นแล



ท่านไม่ถามละทีนี้ว่า “นิพพานอยู่ที่ไหน?” จะถามทําไม นิพพานจริงๆ คืออะไร?
คําว่า “นิพพาน” ก็คือชื่ออันหนึ่ง
“ธรรมชาติ” ที่ถูกเรียกชื่อว่านิพพาน นั้นแล คือตัวจริงแท้
เมื่อถึง “ตัวจริงแท้” แล้ว จะไปถามหาชื่อหาเสียงหาร่องหารอยที่ไหนอีก ไปงมงายที่ไหนอีก
ผู้รู้รู้จริงๆ แล้วไม่งมงาย ไม่อยาก ไม่หิว
เพราะถึง “ความพอ” ทุกสิ่งทุกอย่างแล้วโดยสมบูรณ์


เอาละ การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร
ขอให้ท่านผู้ปฏิบัติทั้งหลายนําไปพินิจพิจารณาให้เห็นความจริงดังที่กล่าวมานี้
เราจะเป็นผู้สมบูรณ์ภายในใจดังคําที่พูดนี้ ไม่สงสัย จึงขอยุติ



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก พระธรรมเทศนา "พิจารณาทุกขเวทนา"
ใน ธรรมชุดเตรียมพร้อม โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP