ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ปุญญาภิสันทสูตร ว่าด้วยห้วงบุญห้วงกุศล


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๑๒๙] ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศล ๘ ประการนี้
นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์เลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์
เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข ๘ ประการเป็นไฉน


ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์เลิศ มีสุขเป็นผล
เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขประการที่ ๑.


อีกประการหนึ่ง อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ถึงพระธรรมเป็นสรณะ
นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์เลิศ มีสุขเป็นผล
เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขประการที่ ๒.


อีกประการหนึ่ง อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์เลิศ มีสุขเป็นผล
เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขประการที่ ๓.


ภิกษุทั้งหลาย ทาน ๕ ประการนี้ เป็นมหาทาน
อันบัณฑิตรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสาย เป็นของเก่า ไม่ถูกทอดทิ้งแล้ว
ไม่เคยถูกทอดทิ้งแล้ว อันบัณฑิตไม่ทอดทิ้งอยู่ จักไม่ทอดทิ้ง
อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่คัดค้าน ๕ ประการเป็นไฉน


ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้งดเว้นจากปาณาติบาตแล้ว
ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้
ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้แล้ว
ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนประมาณมิได้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นทานประการที่ ๑ ที่เป็นมหาทาน
อันบัณฑิตรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสาย เป็นของเก่า ไม่ถูกทอดทิ้งแล้ว
ไม่เคยถูกทอดทิ้งแล้ว อันบัณฑิตไม่ทอดทิ้งอยู่ จักไม่ทอดทิ้ง
อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่คัดค้าน
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์เลิศ
มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขประการที่ ๔.


อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้งดเว้นจากอทินนาทานแล้ว
ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้
ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้แล้ว
ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนประมาณมิได้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นทานประการที่ ๒ ที่เป็นมหาทาน
อันบัณฑิตรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสาย เป็นของเก่า ไม่ถูกทอดทิ้งแล้ว
ไม่เคยถูกทอดทิ้งแล้ว อันบัณฑิตไม่ทอดทิ้งอยู่ จักไม่ทอดทิ้ง
อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่คัดค้าน
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์เลิศ
มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขประการที่ ๕.


อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ละกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารแล้ว
ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้
ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้แล้ว
ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนประมาณมิได้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นทานประการที่ ๓ ที่เป็นมหาทาน
อันบัณฑิตรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสาย เป็นของเก่า ไม่ถูกทอดทิ้งแล้ว
ไม่เคยถูกทอดทิ้งแล้ว อันบัณฑิตไม่ทอดทิ้งอยู่ จักไม่ทอดทิ้ง
อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่คัดค้าน
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์เลิศ
มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขประการที่ ๖.


อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ละมุสาวาท งดเว้นจากมุสาวาท
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้งดเว้นจากมุสาวาทแล้ว
ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้
ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้แล้ว
ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนประมาณมิได้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นทานประการที่ ๔ ที่เป็นมหาทาน
อันบัณฑิตรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสาย เป็นของเก่า ไม่ถูกทอดทิ้งแล้ว
ไม่เคยถูกทอดทิ้งแล้ว อันบัณฑิตไม่ทอดทิ้งอยู่ จักไม่ทอดทิ้ง
อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่คัดค้าน
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์เลิศ
มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขประการที่ ๗.


อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ละการดื่มน้ำเมา
คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา
คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทแล้ว
ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้
ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้แล้ว
ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนประมาณมิได้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นทานประการที่ ๕ ที่เป็นมหาทาน
อันบัณฑิตรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสาย เป็นของเก่า ไม่ถูกทอดทิ้งแล้ว
ไม่เคยถูกทอดทิ้งแล้ว อันบัณฑิตไม่ทอดทิ้งอยู่ จักไม่ทอดทิ้ง
อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่คัดค้าน
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์เลิศ
มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขประการที่ ๘.


ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศล ๘ ประการนี้แล นำความสุขมาให้
ให้อารมณ์เลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข.


ปุญญาภิสันทสูตร จบ



(ปุญญาภิสันทสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๗)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP