สารส่องใจ Enlightenment

พิจารณาทุกขเวทนา (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙



พิจารณาทุกขเวทนา (ตอนที่ ๑) (คลิก)



การปฏิบัติต่อสิ่งอื่นก็ไม่ยากยิ่งกว่าการปฏิบัติต่อจิตใจ
ภาระทั้งโลกก็มารวมอยู่ที่จิตใจ
ขณะที่เราจะแก้ไขสิ่งที่มันฝังจมอยู่ภายในมาเป็นเวลานานนั้น
จึงเป็น
“งาน” ที่ยากอยู่มาก ดีไม่ดีอาจท้อถอยได้
เพราะทำลงไปไม่ค่อยเห็นผลในระยะเริ่มแรก
เนื่องจาก “จิต” ก็เลื่อนลอยในขณะที่ทำ
ไม่ค่อยจดจ่อเอาจริงเอาจังในงานของตนที่ทำลงไป
ผลจึงไม่ค่อยปรากฏเท่าที่ควร และทำให้เกิดความท้อถอยอ่อนแอ
หรือเกิดความท้อแท้ภายในใจแล้วก็ทิ้งไปเสีย
โดยที่เห็นว่า “หยุดเสียดีกว่า” เพราะทำไปก็ไม่เกิดประโยชน์
ทั้งๆ ที่เวลาหยุดไปแล้วก็ไม่ดี
นอกจากจิตจะหาทางสั่งสมความชั่วใส่ตน
หลังจากหยุดการบำเพ็ญทางดีแล้วเท่านั้น


แต่ “ความสำคัญ ที่ว่า ดีกว่า” นั่นแหละ
มันเป็นเรื่องของกิเลสตัวหลอกลวงทั้งมวล

ที่มาหลอกเราให้ท้อถอยอ่อนแอต่างหาก
ความจริงตั้งแต่ในขณะทำอยู่มันยังไม่เห็นได้ดี
ทั้งที่อยากให้ดีแทบใจจะขาด หัวอกจะแตก เพราะความเพียรพยายาม
ยิ่งหยุดไปเสียมันจะดีได้อย่างไร
ถ้าหยุดไปแล้วดีดังที่คิด คนทั้งหลายก็ไม่ต้องดำเนินงานอะไรต่อไป
หยุดไปแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันดีไปเอง! ภายนอกก็ต้องดี ภายในก็ต้องดี
เช่นทำการทำงาน ทำไม่ได้มาก หยุดเสียดีกว่า



“ธรรม” ไม่เหมือน “กิเลส” กิเลสมันว่า “หยุดเสียดีกว่า”
มันดีจริง แต่ดีเพื่อกิเลสไม่ใช่ดีเพื่อธรรม
ส่วน “ธรรม” ต้องอุตส่าห์พยายามทำไปเรื่อยๆ
จนมันดี และดีขึ้นๆ เรื่อยๆ เพราะทำไม่หยุด
งานก็เป็นงานของตนที่ทำขึ้นเพื่อธรรม ไม่ใช่เป็นงานขี้เกียจอันเป็นงานของกิเลส
ผลงานจะพึงปรากฏขึ้นโดยลำดับจากการทำไม่หยุด


งานทาง “จิตตภาวนา” ก็เช่นเดียวกัน ยากก็ทำ ง่ายก็ทำ
เพราะเป็นงานที่ควรทำ เราไม่ทำใครจะทำให้เรา
เวลาความทุกข์ความลำบากมันเผาผลาญภายในใจ
เพราะความคิดปรุงสั่งสม ทำไมไม่บ่นว่ามันยาก
เวลาสั่งสมกิเลสให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนขึ้นมา
ทำไมไม่ถือว่ามันยาก มาบ่นให้ความทุกข์อยู่เฉยๆ ทำไม
นั่นคือความพอใจ ยากหรือง่ายไม่สนใจคิด มันไหลไปเลยราวกับน้ำไหลลงสู่ที่ต่ำ
ยากหรือไม่ยากมันก็ไหลของมันไปอย่างนั้น เลยไม่ทราบว่ามันยากหรือไม่ยาก
แต่เวลาฝืนใจทำความดี มันเหมือนกับไสไม้ขึ้นที่สูงนั่นแล
มันลำบากเพราะทวนกระแส!


การที่จะละความทุกข์น้อยใหญ่ ที่ใจยอมเป็นไปตาม “วัฏวน”
มันก็ต้องยากบ้างเป็นธรรมดา
ใครๆ แม้แต่ท่านผู้สำเร็จมรรคผลนิพพานได้อย่างง่ายดาย
แต่ก่อนท่านก็ยาก ถึงขั้นที่ควรจะง่ายก็ต้องง่าย เราเองถึงขั้นที่ว่ายากก็ต้องยาก
แต่มันไม่ได้ยากอยู่เช่นนี้เรื่อยไป ถึงเวลาเบาบางหรือง่ายก็ง่าย
ยิ่งได้เห็นผลเข้าไปโดยลำดับด้วยแล้วความยากมันหายไปเอง
เพราะมีแต่ “ท่าจะเอา” ท่าเดียว สุขทุกข์ไม่คำนึง
มีแต่จะให้รู้ ให้เห็น ให้เข้าใจ ในสิ่งที่ตนต้องการ


การเรียน ให้เรียนเรื่องธาตุเรื่องขันธ์
ให้ดูเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ ที่เกี่ยวข้องกับตนนี้เป็นหลักสำคัญ
สำหรับนักปฏิบัติทั้งหลายให้ดูอยู่ทุกเวลา เพราะมันแปรอยู่ทุกเวลา
คำว่า
“อนิจฺจํ”เป็น อนิจฺจํ อยู่ตลอดกาล
คำว่า
“ทุกฺขํ” ก็เป็นอยู่ตลอดกาล คำว่า “อนตฺตา” ก็เป็นอยู่ตลอดกาล
ไม่มีการหยุดยั้งผ่อนคลายเลย


การพิจารณา ก็ควรพยายามให้เห็นเรื่องของมันที่เป็นอยู่ในตัวเรา
จนมีความชำนิชำนาญ พิจารณาหลายครั้งหลายหน
จิตก็ค่อยเข้าอกเข้าใจและซึ้งถึงใจ ใจก็ค่อยๆ ปล่อยวางไปเอง
ไม่ใช่จะพิจารณาครั้งหนึ่งครั้งเดียวแล้วก็หยุด แล้วก็คอยแต่จะกอบโกยเอาผล
ทั้งๆ ที่เหตุไม่ทำให้พอประมาณ มันก็ไม่ได้



การบำเพ็ญความดี มีจิตตภาวนา เป็นต้น ต้องฝืนกิเลสทั้งนั้น
ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ๆ ที่ท่านปรากฏชื่อลือนาม
ให้โลกทั้งหลายได้กราบไหว้บูชาเรื่อยมา
ล้วนแต่ท่านรอดตายมาเพราะความเพียรกล้าด้วยกันทั้งนั้น
ถ้าเป็นงานเบาๆ ท่านจะรอดตายได้อย่างไร
ก็ต้องเป็นงานหนักซึ่งต้องทุ่มเทกำลังกันอย่างเต็มที่
ครูบาอาจารย์ผู้เช่นนั้นเวลานี้ก็ร่อยหรอไปมากแล้ว มีน้อยเต็มที!
เราหวังพึ่งท่าน เรื่องธาตุเรื่องขันธ์ของท่านก็เป็นอนิจจัง
พึ่งกันได้ชั่วกาลชั่วเวลา แล้วก็พลัดพรากจากกันดังที่เห็นอยู่แล้ว



ฉะนั้น จงพยายามน้อมโอวาทคำสั่งสอนของท่าน
เข้ามาเป็นครูเป็นอาจารย์สอนตนอยู่เสมอ
ท่านสอนว่าอย่างไร ให้นำโอวาทท่านที่สอนไว้แล้วนั้น เข้ามาปฏิบัติต่อตัวเอง
จะชื่อว่า
“เราอยู่กับครูกับอาจารย์ตลอดเวลา”
เหมือนได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ตลอดกาลสถานที่


การปฏิบัติตนเป็นหลักสำคัญ ที่เป็นความแน่ใจสำหรับเรา
การอาศัยครูอาศัยอาจารย์นั้นเป็นของไม่แน่นอน ย่อมมีความพลัดพรากจากไป
ท่านไม่พลัดพรากเราก็พลัดพราก ท่านไม่จากเราก็จาก
เพราะโลกอนิจจัง มีอยู่ด้วยกันทั้งท่านและเราไม่ผิดกันเลย
สิ่งที่พอจะยึดเอาได้ ก็คือหลักธรรมของท่าน
จงยึดมาประพฤติปฏิบัติสำหรับตัวด้วยความเอาจริงเอาจัง
เพื่อเห็นเหตุเห็นผล เพื่อกำชัยชนะภายในใจ
ชัยชนะนี้เป็นชัยชนะอันเลิศประเสริฐสุดในโลก ไม่มีชัยชนะใดจะเสมอเหมือนเลย
เรายื้อแย่งเอาชนะตน!
คือกิเลสที่ถือว่าเป็น
“ ตน” เป็น “ตัว” เป็นเราเป็นของเรามาตั้งกัปตั้งกัลป์
นี้ เป็นเรื่องใหญ่โตมาก จะทำเล่นเหมือนเด็กเล่นตุ๊กตา เดี๋ยวกิเลสจะขยี้ขยำเอา
เพราะถือมาเป็นเวลานานแล้ว
จงรีบพิจารณาให้รู้แจ้งและปล่อยวาง
จิตใจจะได้ว่างเปล่าจากทุกข์ ไม่ฉุกละหุกกันตลอดไป


การสั่งสมคำว่า “เป็นเรา เป็นของเรา” มานี้ นับกัปนับกัลป์ไม่ได้แล้ว
ถ้ากิเลสเป็นวัตถุ ความสั่งสมมานานถึงขนาดนั้นจะเอาอะไรมาเทียบเล่าในโลกนี้?
ถึงจะใหญ่โตยิ่งกว่าก้อนกิเลสตัณหาอาสวะ ก้อนเราก้อนของเราเหล่านี้
เพราะมีมากต่อมาก จะขนออกมาเทียบไม่หวาดไม่ไหว
ถ้าขนเล่นๆ แบบกินๆ นอนๆ จะถากจะเถือ จะเจาะจะฟัน เพียงหนสองหนให้มันขาดไปนั้น
ย่อมเป็นไปไม่ได้ นอกจากจะพากันคว้าน้ำเหลวไปตามๆ กันเท่านั้น
จำต้องทุ่มเทกำลังลงอย่างหนักหนาทีเดียว ตอนนี้ตอนจะชิงชัยชนะกัน
เราก็เป็นนักปฏิบัติ ไม่ต้องท้อถอยกับการรบกับกิเลสซึ่งมีอยู่ในตัวเราเอง


คำว่า “กิเลส” ก็คือ “ก้อนเรา” นั้นเอง กิเลสเป็น “เรา” เป็น “ของเรา”
อะไรๆ เป็น “เรา” ทั้งนั้น เหล่านี้คือ “กองกิเลสแท้ๆ” ไม่น่าสงสัยเลย
ถ้าจะแยกให้เห็นเป็นชิ้นเป็นอันตามความสัตย์ความจริง ในหลักธรรมชาตินั้นจริง
ต้องแยกด้วยความพากเพียร โดยทางสติปัญญาเป็นเครื่องพิสูจน์ พิจารณากัน


การแยกธาตุ ธาตุก็ธาตุสี่ ธาตุ ๔ ก็รู้กันเต็มโลกเต็มสงสารอยู่แล้ว
แต่ถ้าจะให้รู้ถึงใจ ซาบซึ้งถึงใจจริงๆ นั้นต้องภาคปฏิบัติ
พิจารณาด้วยปัญญาจนเห็นชัดเจนแล้วก็ซึ้งไปเอง
ถ้าลงได้ซึ้งถึงใจแล้ว ไม่ต้องบอกมันปล่อยเอง
เมื่อรู้อย่างถึงใจแล้วก็ปล่อยวางอย่างถึงใจเช่นกัน
การที่จะรู้อย่างถึงใจ ปล่อยวางอย่างถึงใจ
ต้องพิจารณาแล้วพิจารณาเล่า ซ้ำๆ ซากๆ จนเป็นที่เข้าใจ
อย่าไปสำคัญว่า นี่เราพิจารณาแล้ว นั้นเราพิจารณาแล้วในคราวนั้น
ด้วยความคาดหมาย นับอ่านครั้งนั้นครั้งนี้ โดยที่ยังไม่ซึ้งถึงขั้นปล่อยวางมันก็ยังไม่แล้ว
ต้องพิจารณาให้ถึงขั้นแล้วจริงๆ ด้วยความซาบซึ้งและปล่อยวาง
ถ้า
“แล้วจริง” ก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาอีก มันเข้าใจแล้ว ปล่อยวางได้หมด


(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก พระธรรมเทศนา "พิจารณาทุกขเวทนา"
ใน ธรรมชุดเตรียมพร้อม โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP