ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

อนุรุทธสูตร ว่าด้วยพระอนุรุทธะตรึกถึงมหาปุริสวิตก


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๑๒๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ป่าเภสกฬามิคทายวัน
แขวงเมืองสุงสุมารคิยะ แคว้นภัคคะ.


ก็โดยสมัยนั้น ท่านพระอนุรุทธะอยู่ที่วิหารปาจีนวังสทายวัน แคว้นเจตี
ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะไปสู่ที่ลับ หลีกเร้นอยู่ เกิดความปริวิตกทางใจอย่างนี้ว่า
ธรรมนี้เป็นธรรมของบุคคลผู้มีความปรารถนาน้อย
มิใช่ของบุคคลผู้มีความปรารถนามาก
ของบุคคลผู้สันโดษ มิใช่ของบุคคลผู้ไม่สันโดษ
ของบุคคลผู้สงัด มิใช่ของบุคคลผู้ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
ของบุคคลผู้ปรารภความเพียร มิใช่ของบุคคลผู้เกียจคร้าน
ของบุคคลผู้มีสติตั้งมั่น มิใช่ของบุคคลผู้มีสติหลงลืม
ของบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น มิใช่ของบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น
ของบุคคลผู้มีปัญญา มิใช่บุคคลผู้มีปัญญาทราม.


ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความปริวิตกทางใจของท่านพระอนุรุทธะแล้ว
เสด็จจากเภสกฬามิคทายวัน แขวงสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ
ไปปรากฏเฉพาะหน้าท่านอนุรุทธะที่วิหารปาจีนวังสทายวัน แคว้นเจตี
เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่จัดไว้ถวายแล้ว
แม้ท่านพระอนุรุทธะถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะท่านพระอนุรุทธะว่า
ดีแล้ว ๆ อนุรุทธะ ถูกละที่เธอตรึกมหาปุริสวิตกว่า
ธรรมนี้เป็นธรรมของบุคคลผู้มีความปรารถนาน้อย
มิใช่ของบุคคลผู้มีความปรารถนามาก
ของบุคคลผู้สันโดษ มิใช่ของบุคคลผู้ไม่สันโดษ
ของบุคคลผู้สงัด มิใช่ของบุคคลผู้ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
ของบุคคลผู้ปรารภความเพียร มิใช่ของบุคคลผู้เกียจคร้าน
ของบุคคลผู้มีสติตั้งมั่น มิใช่ของบุคคลผู้มีสติหลงลืม
ของบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น มิใช่ของบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น
ของบุคคลผู้มีปัญญา มิใช่บุคคลผู้มีปัญญาทราม
อนุรุทธะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงตรึกมหาปุริสวิตกข้อที่ ๘ นี้ว่า
ธรรมนี้เป็นของบุคคลผู้ชอบใจในธรรมที่ไม่ทำให้เนิ่นช้า
ผู้ยินดีในธรรมที่ไม่ทำให้เนิ่นช้า
มิใช่ของบุคคลผู้ชอบใจในธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า
ผู้ยินดีในธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า


อนุรุทธะ ในกาลใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้
ในกาลนั้น เธอจักหวังได้ทีเดียวว่า จักสงัดจากกาม
สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่
ในกาลใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้
ในกาลนั้น เธอจักหวังได้ทีเดียวว่า จักบรรลุทุติยฌาน
มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบ
ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
ในกาลใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้
ในกาลนั้น เธอจักหวังได้ทีเดียวว่า จักมีอุเบกขา
มีสติสัมปชัญญะอยู่ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติคลายไป
บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า
ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข
ในกาลใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้
ในกาลนั้น เธอจักหวังได้ทีเดียวว่า จักบรรลุจตุตถฌาน
อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ได้
เพราะโสมนัสและโทมนัสดับสนิทในก่อน อันมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่


ในกาลใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้
และจักเป็นผู้มีปกติได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก
ได้โดยไม่ลำบากซึ่งฌาน ๔ นี้อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ในกาลนั้น ผ้าบังสุกุลจีวรจักปรากฏแก่เธอผู้สันโดษ อยู่ด้วยความยินดี
ด้วยความไม่หวาดสะดุ้ง ด้วยความอยู่เป็นสุข ด้วยการก้าวลงสู่นิพพาน
เหมือนหีบใส่ผ้าของคฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดี อันเต็มไปด้วยผ้าสีต่าง ๆ ฉะนั้น


อนุรุทธะ ในกาลใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้
และจักเป็นผู้ได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก
ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ นี้อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ในกาลนั้น โภชนะคือคำข้าวที่ได้มาด้วยปลีแข้งจักปรากฏแก่เธอผู้สันโดษ
อยู่ด้วยความยินดี ด้วยความไม่หวาดสะดุ้ง
ด้วยความอยู่เป็นสุข ด้วยการก้าวลงสู่นิพพาน
เหมือนข้าวสุกแห่งข้าวสาลี คัดเอาเมล็ดดำออกแล้ว
มีแกงและกับหลายอย่างของคฤหบดีและบุตรแห่งคฤหบดีฉะนั้น


อนุรุทธะ ในกาลใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้
และจักเป็นผู้ได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก
ได้โดยไม่ลำบากซึ่งฌาน ๔ นี้อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ในกาลนั้น เสนาสนะคือโคนไม้จักปรากฏแก่เธอผู้สันโดษ อยู่ด้วยความยินดี
ด้วยความไม่หวาดสะดุ้ง ด้วยความอยู่เป็นสุข ด้วยการก้าวลงสู่นิพพาน
เหมือนเรือนยอดของคฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดี
ฉาบทาไว้ดีแล้วทั้งภายในและภายนอก ลมพัดเข้าไม่ได้
มีบานประตูปิดมิดชิด หน้าต่างปิดสนิท ฉะนั้น


ในกาลใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้
และจักเป็นผู้ได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก
ได้โดยไม่ลำบากซึ่งฌาน ๔ นี้อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ในกาลนั้น ที่นอนที่นั่งอันลาดด้วยหญ้าจักปรากฏแก่เธอผู้สันโดษ
อยู่ด้วยความยินดี ด้วยความไม่หวาดสะดุ้ง
ด้วยความอยู่เป็นสุข ด้วยการก้าวลงสู่นิพพาน
เหมือนบัลลังก์ของคฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดี
อันลาดด้วยพรม ลาดด้วยผ้าขนสัตว์ ลาดด้วยผ้าทอเนื้ออ่อน
ลาดด้วยเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีผ้าดาดเพดาน
มีหมอนหนุนที่มีสีแดงทั้ง ๒ ด้าน ฉะนั้น


อนุรุทธะ ในกาลใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้
และจักเป็นผู้ได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก
ได้โดยไม่ลำบากซึ่งฌาน ๔ นี้อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ในกาลนั้น ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่าจักปรากฏแก่เธอผู้สันโดษ อยู่ด้วยความยินดี
ด้วยความไม่หวาดสะดุ้ง ด้วยความอยู่เป็นสุข ด้วยการก้าวลงสู่นิพพาน
เหมือนเภสัชต่าง ๆ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
ของคฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดี ฉะนั้น.


อนุรุทธะ ถ้าอย่างนั้น เธอพึงอยู่จำพรรษาที่วิหารปาจีนวังสทายวัน
แคว้นเจตีนี้แหละต่อไปอีกเถิด


ท่านพระอนุรุทธะทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วว่า ขอรับ พระเจ้าข้า


ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนท่านพระอนุรุทธะด้วยพระโอวาทนี้แล้ว
เสด็จจากวิหารปาจีนวังสทายวัน แคว้นเจตี
ไปปรากฏที่ป่าเภสกฬามิคทายวัน แขวงเมืองสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ
เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่จัดไว้ถวายแล้ว
ครั้นแล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย
เราจักแสดงมหาปุริสวิตก ๘ ประการ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟัง ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย ก็มหาปุริสวิตก ๘ ประการเป็นไฉน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ของบุคคลผู้มีความปรารถนาน้อย
มิใช่ของบุคคลผู้มีความปรารถนามาก ๑
ธรรมนี้ของบุคคลผู้สันโดษ มิใช่ของบุคคลผู้ไม่สันโดษ ๑
ธรรมนี้ของบุคคลผู้สงัด มิใช่ของบุคคลผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ๑
ธรรมนี้ของบุคคลผู้ปรารภความเพียร มิใช่ของบุคคลผู้เกียจคร้าน ๑
ธรรมนี้ของบุคคลผู้มีสติตั้งมั่น มิใช่ของผู้มีสติหลงลืม ๑
ธรรมนี้ของบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น มิใช่ของบุคคลมีจิตไม่ตั้งมั่น ๑
ธรรมนี้ของบุคคลผู้มีปัญญา มิใช่ของบุคคลผู้มีปัญญาทราม ๑
ธรรมนี้ของบุคคลผู้ชอบใจในธรรมที่ไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
มิใช่ของบุคคลผู้ชอบใจในธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ผู้ยินดีในธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ๑.


ภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อที่เรากล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย
ธรรมนี้ของบุคคลผู้มีความปรารถนาน้อย มิใช่ของบุคคลผู้มีความปรารถนามาก
เราอาศัยอะไรกล่าว ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย
ย่อมไม่ปรารถนาว่า ขอชนทั้งหลายพึงรู้เราว่า มีความปรารถนาน้อย เป็นผู้สันโดษ
ย่อมไม่ปรารถนาว่า ขอชนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้สันโดษ เป็นผู้สงัด
ย่อมไม่ปรารถนาว่า ขอชนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้สงัด เป็นผู้ปรารภความเพียร
ย่อมไม่ปรารถนาว่า ขอชนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้ปรารภความเพียร เป็นผู้มีสติตั้งมั่น
ย่อมไม่ปรารถนาว่า ขอชนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้มีสติตั้งมั่น เป็นผู้มีจิตตั้งมั่น
ย่อมไม่ปรารถนาว่า ขอชนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้มีจิตตั้งมั่น เป็นผู้มีปัญญา
ย่อมไม่ปรารถนาว่า ขอชนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้มีปัญญา
เป็นผู้ชอบใจในธรรมที่ไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ย่อมไม่ปรารถนาว่า ขอชนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้ชอบใจในธรรมที่ไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ข้อที่เรากล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ของบุคคลผู้มีความปรารถนาน้อย
มิใช่ของบุคคลผู้มีความปรารถนามาก ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.


ก็ข้อที่เรากล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ของบุคคลผู้สันโดษ
มิใช่ของบุคคลผู้ไม่สันโดษ เราอาศัยอะไรกล่าว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร ตามมีตามได้
ข้อที่เรากล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ของบุคคลผู้สันโดษ
มิใช่ของบุคคลผู้ไม่สันโดษ ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.


ก็ข้อที่เรากล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ของบุคคลผู้สงัด
มิใช่ของบุคคลผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เราอาศัยอะไรกล่าว
ภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา
มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ และสาวกของเดียรถีย์
เข้าไปหาภิกษุผู้สงัดอยู่ ภิกษุมีจิตน้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก
โอนไปในวิเวก ตั้งอยู่ในวิเวก ยินดีในเนกขัมมะ
ย่อมกล่าวกถาอันประกอบด้วยถ้อยคำเกี่ยวกับการส่งกลับในสมาคมนั้นโดยแท้
ข้อที่กล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ของบุคคลผู้สงัด
มิใช่ของบุคคลชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.


ก็ข้อที่เรากล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ของบุคคลผู้ปรารภความเพียร
มิใช่ของบุคคลผู้เกียจคร้าน เราอาศัยอะไรกล่าว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ปรารภความเพียร
เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม มีกำลัง
มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
ข้อที่เรากล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ของบุคคลผู้ปรารภความเพียร
มิใช่ของบุคคลผู้เกียจคร้าน ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.


ก็ข้อที่เรากล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ของบุคคลผู้มีสติตั้งมั่น
มิใช่ของบุคคลผู้มีสติหลงลืม เราอาศัยอะไรกล่าว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีสติ
ประกอบด้วยสติเครื่องรักษาตัวอย่างยิ่ง ระลึกนึกถึงกิจที่ทำ คำที่พูดแม้นานได้
ข้อที่เรากล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ของบุคคลผู้มีสติตั้งมั่น
มิใช่ของบุคคลผู้มีสติหลงลืม ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.


ก็ข้อที่เรากล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ของบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น
มิใช่ของบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น เราอาศัยอะไรกล่าว

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน
ข้อที่เรากล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ของบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น
มิใช่ของบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.


ก็ข้อที่เรากล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ของบุคคลผู้มีปัญญา
มิใช่ของบุคคลผู้มีปัญญาทราม เราอาศัยอะไรกล่าว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา
ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาความเกิดและความดับ
เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
ข้อที่เรากล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ของบุคคลผู้มีปัญญา
มิใช่ของบุคคลผู้มีปัญญาทราม ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.


ก็ข้อที่เรากล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย
ธรรมนี้ของบุคคลผู้ชอบใจ ในธรรมที่ไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
มิใช่ของบุคคลผู้ชอบใจในธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ผู้ยินดีในธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า เราอาศัยอะไรกล่าว
ภิกษุทั้งหลาย จิตของภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมแล่นไป เลื่อมใส
ตั้งมั่นในความดับกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ย่อมหลุดพ้น
ข้อที่เรากล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย
ธรรมนี้ของบุคคลผู้ชอบใจในธรรมที่ไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
มิใช่ของบุคคลผู้ชอบใจในธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ผู้ยินดีในธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.


ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุรุทธะอยู่จำพรรษาที่วิหารปาจีนวังสทายวัน
แคว้นเจตีนั้นนั่นแลต่อไปอีก
ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว
ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว
ไม่นานนักก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม
ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
ก็ท่านพระอนุรุทธะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย
ลำดับนั้น ท่านพระอนุรุทธะบรรลุอรหัตแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ไว้ในเวลานั้นว่า


พระศาสดาผู้เป็นเยี่ยมในโลก ทรงทราบความดำริของเราแล้ว
ได้เข้ามาหาเราด้วยฤทธิ์ทางพระกายอันสำเร็จแต่พระหฤทัย
พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมอันยิ่งกว่าความดำริของเราเท่าที่ดำริไว้
พระพุทธเจ้าผู้ยินดีแล้วในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ได้ทรงแสดงธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
เราได้รู้ทั่วถึงธรรมของพระองค์แล้ว ยินดีในศาสนาอยู่
เราได้บรรลุวิชชา ๓ แล้วโดยลำดับ
คำสอนของพระพุทธเจ้าเรากระทำแล้ว


อนุรุทธสูตร จบ



(อนุรุทธสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๗)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP