จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๖๙ การสวดอิติปิโส



269 talk




การสวดอิติปิโสมีหลายแบบ
แบบที่ท่องบ่นแต่ปาก
แบบที่เอาสมาธิผ่อนคลาย
แบบที่บูชาพระรัตนตรัย
และแบบที่เปิดรับพุทธคุณ


แบบท่องบ่นแต่ปาก
คือ จำได้ว่าบทสวดเป็นอย่างไร
แล้วฝืนใจท่องคำสวดออกมาให้จบๆ
หรือบางทีไม่ถึงกับฝืนใจ
แต่ก็ไม่ได้มีใจอยากสวดเท่าใดนัก
บางคนถูกบังคับให้สวดตามหมู่คณะ
บางคนหวังขอพรหลังสวดจบ
บางคนสวดเพราะคนอื่นบอกว่าได้บุญ ฯลฯ
สรุปคือตั้งต้นสวดด้วยการคิดฟุ้งไป
ผลจึงยังคงฟุ้งต่อ
ไม่ได้ดีอันใดจากการสวดเลย
พอมีใครชักชวนให้สวดอีก
ก็รู้สึกถึงความฝืนอีก ฟุ้งอีก
แถมบางทีคิดไม่ดี
ปรามาสพระรัตนตรัยเอาง่ายๆ


แบบที่เอาสมาธิผ่อนคลาย
คือ จับจุดได้ว่า ถ้ารักษาสายตาตรง
คอตั้งหลังตรงแบบผ่อนคลาย
แล้วเปล่งเสียงเต็มปากเต็มคำไปนานๆ
ใจจะค่อยๆสงบระงับความฟุ้งซ่าน
เนื้อตัวผ่อนคลาย
แล้วติดใจกับความเป็นเช่นนั้น
สวดเช่นนั้นบ่อยๆ
กลายเป็นความเคยชิน
ค่อยๆพัฒนาเป็นความเชี่ยวชาญ
ที่จะอยู่กับสมดุล
แห่งความผ่อนคลายกายใจได้ทุกครั้ง
นับเป็นการได้สมาธิชนิดหนึ่ง
และอาบรดพลังสว่างให้ตัวเองระดับหนึ่ง
เป็นสมาธิอันเกิดจากการท่องมนต์ศักดิ์สิทธิ์


แบบที่บูชาพระรัตนตรัย
คือ ตั้งจิตแรกก่อนสวด
จากการคิดถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา
หรือเอาจิตเป็นแก้วใสถวายพระรัตนตรัย
สวดแบบนี้เกิดศรัทธาปสาทะ
โสมนัสล้นเกล้าล้นกระหม่อมขึ้นมาไม่ยาก
เนื่องจากจิตไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของใคร
เป็นสภาวะกุศลหรืออกุศลธรรมตามเหตุปัจจัย
เมื่อน้อมบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด
ย่อมถูกปรุงแต่งให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นเสียเอง


แบบที่เปิดรับพุทธคุณ
คือ แบบนี้สวดอย่างเดียวไม่พอ
จิตต้องประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ
มีพุทธิปัญญาเป็นพานทองรองรับอยู่ก่อน
อย่างน้อยเข้าใจ และเล็งเห็นว่า
พระพุทธเจ้าสอนอะไรจริงๆ
สอนให้มีสติรู้กายใจแบบไหน
ให้เห็นว่าเที่ยงหรือไม่เที่ยง
ให้เห็นว่ามีตัวตนหรือไม่มีตัวตน
เมื่อมีพุทธิปัญญาเป็นพื้นฐาน
แล้วต่อยอดด้วยการถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา
จิตจะคลี่คลาย แผ่ผายเป็นสมาธิ
รู้สึกถึงความว่างออกมาจากกลางใจ
ขยายใหญ่ออกไปสู่ขอบเขตไม่มีประมาณ
กระทั่งสัมผัสได้ถึงพลังพุทธคุณที่สว่างทั่วฟ้าทั่วแผ่นดิน
รู้สึกได้ถึงจิตทั้งดวงที่รับพลังพุทธคุณเข้ามา
พอสวดเสร็จแล้วนั่งสมาธิหรือเดินจงกรม
ในอาการแห่งการเจริญสติปัฏฐาน ๔
จะเกิดความรู้ทั่วพร้อมง่าย
รู้สึกว่ากายใจเป็นอนัตตาง่าย
เหมือนสมัยพุทธกาล
ที่คนเข้าเฝ้าต่อเบื้องพระพักตร์
แล้วรู้ธรรม บรรลุธรรมตามพระองค์ได้ง่ายนั่นเอง!


ดังตฤณ
พฤศจิกายน ๖๒





review


คอลัมน์ "ธรรมะจากพระสูตร" ฉบับนี้
เป็นเรื่องราวในครั้งที่พระพุทธองค์ประทับ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์
และได้ทรงวิสัชนาธรรมแก่เจ้ามหานาม ผู้เป็นเจ้าชายในศากยวงศ์
รายละเอียดติดตามได้ในตอน "มหานามสูตร ว่าด้วยเจ้ามหานามทูลถามคุณสมบัติอุบาสก"


การพิจารณาอสุภะมีประโยชน์หลายประการ
เช่นช่วยลดการกำเริบของราคะตัณหา
ดังความตามพระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เรื่อง "รู้อสุภะ รู้อย่างไร (ตอนที่ ๒)" ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" ค่ะ (-/\-)


ควรใส่บาตรแด่พระสงฆ์ด้วยความรู้สึกอย่างไร
และอะไรคือจุดประสงค์ที่แท้จริงของการทำทาน
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "อยากใส่บาตรแต่รู้สึกไม่ศรัทธาพระสงฆ์บางรูป ควรทำอย่างไร"



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP