ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

อาชัญญสูตร ว่าด้วยคุณสมบัติของม้าอาชาไนย


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๑๐๓] ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวประเสริฐของพระราชา
ประกอบด้วยองคสมบัติ ๘ ประการ สมควรเป็นม้าต้นม้าทรง
ย่อมถึงการนับว่าเป็นราชพาหนะได้ทีเดียว องคสมบัติ ๘ ประการเป็นไฉน
ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวประเสริฐของพระราชาในโลกนี้
ย่อมมีกำเนิดดีทั้ง ๒ ฝ่าย คือฝ่ายมารดาและบิดา
เกิดในทิศที่ม้าอาชาไนยตัวอื่นเกิดกัน ๑
ย่อมบริโภคของกินที่เขาให้สดหรือแห้งก็ตาม เรียบร้อย ไม่เรี่ยราด ๑
ย่อมรังเกียจที่จะนั่งหรือนอนทับอุจจาระปัสสาวะ ๑
เป็นสัตว์สงบเสงี่ยมมีการอยู่ร่วมเป็นสุข ไม่รบกวนม้าเหล่าอื่น ๑
เป็นสัตว์เปิดเผยความโอ้อวดความพยศคดโกงแก่นายสารถีตามเป็นจริง ๑
นายสารถีพยายามปราบความพยศคดโกงเหล่านั้นของมันได้ ๑
เป็นสัตว์ลากเข็นภาระ ย่อมมีความคิดว่าม้าอื่นจะเข็นภาระได้หรือไม่ก็ตาม
สำหรับภาระนี้เราเข็นได้ อนึ่ง เมื่อเดินก็เดินตามทางตรง ๑
เป็นสัตว์มีกำลังวังชา คือ ทรงกำลังไว้อยู่จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ๑
ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวประเสริฐของพระราชา
ประกอบด้วยองค์สมบัติ ๘ ประการนี้แล สมควรเป็นม้าต้นม้าทรง
ย่อมถึงการนับว่าเป็นพระราชพาหนะได้ดีทีเดียว


ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ
ย่อมเป็นผู้ควรแก่ของคำนับ ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ของทำบุญ
ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร
มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ๑
ฉันโภชนะที่เขาถวาย เศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม โดยเคารพ ไม่รังเกียจ ๑
รังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
และรังเกียจการถึงพร้อมด้วยธรรมอันเป็นบาปอกุศล ๑
เป็นผู้สงบเสงี่ยม มีการอยู่ร่วมเป็นสุข ไม่รบกวนภิกษุเหล่าอื่นให้เดือดร้อน ๑
เปิดเผยความโอ้อวดความพยศคดโกงตามเป็นจริง
ในพระศาสดาหรือในเพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้แจ้ง ๑
พระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์ย่อมพยายามช่วยกำจัด
ความโอ้อวดเป็นต้นเหล่านั้นของเธอได้ ๑
อนึ่ง ย่อมเป็นผู้ศึกษา คือ ใฝ่ใจอยู่ว่า
ภิกษุเหล่าอื่นจะศึกษาหรือไม่ก็ตาม ข้อนี้เราจักศึกษา
เมื่อดำเนินไปก็ดำเนินไปตามทางตรงเท่านั้น
ในข้อนั้นพึงทราบทางตรงดังนี้ คือ สัมมาทิฏฐิ
สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ๑
เป็นผู้ปรารภความเพียรอยู่ว่า
เลือดเนื้อในร่างกายของเราจงเหือดแห้งไป
จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที
เรายังไม่ได้บรรลุอิฏฐผลที่จะพึงบรรลุได้ด้วยกำลังของบุรุษ
ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว
จักไม่หยุดความเพียรเป็นอันขาด ๑
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล
ย่อมเป็นผู้ควรแก่ของคำนับ ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ของทำบุญ
ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.


อาชัญญสูตร จบ



(อาชัญญสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๗)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP