ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

เวรัญชสูตร ว่าด้วยทรงแก้คำติเตียนของเวรัญชพราหมณ์


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๑๐๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้.
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดา
ที่นเฬรุยักษ์สิงสถิต ใกล้กรุงเวรัญชา
ครั้งนั้น เวรัญชพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า
ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า
พระสมณโคดมไม่ไหว้ ไม่ลุกรับ พวกพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่
ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ
ท่านพระโคดม ข้อนี้เป็นเช่นนั้นจริง
เพราะว่าท่านพระโคดมไม่ไหว้ ไม่ลุกรับ พวกพราหมณ์ ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่
ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ
ข้อนี้ไม่สมควรเลย.


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พราหมณ์ ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์
เราไม่เล็งเห็นบุคคลที่เราควรไหว้ ควรลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ
เพราะว่าตถาคตพึงไหว้ พึงลุกรับ หรือพึงเชื้อเชิญบุคคลใดด้วยอาสนะ
แม้ศีรษะของบุคคลนั้นก็จะพึงขาดตกไป.


ว. ท่านพระโคดม เป็นคนไม่มีรสชาติ (ไม่มีมารยาท).


ภ. พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนไม่มีรสชาติ ดังนี้
ชื่อว่ากล่าวชอบนั้น มีอยู่ เพราะรสในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหล่านั้น
ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน
ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา
นี้แลเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนไม่มีรสชาติ ดังนี้
ชื่อว่ากล่าวชอบ แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งหมายกล่าว.


ว. ท่านพระโคดมเป็นคนไม่มีโภคะ.


ภ. พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนไม่มีโภคะ ดังนี้
ชื่อว่ากล่าวชอบนั้น มีอยู่ เพราะโภคะ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหล่านั้น

ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน
ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา
นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนไม่มีโภคะ ดังนี้
ชื่อว่ากล่าวชอบ แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งหมายกล่าว.


ว. ท่านพระโคดมเป็นคนกล่าวการไม่ทำ.


ภ. พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนกล่าวการไม่ทำ ดังนี้
ชื่อว่ากล่าวชอบนั้น มีอยู่ เพราะเรากล่าวการไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต

เรากล่าวการไม่ทำซึ่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง
นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนกล่าวการไม่ทำ ดังนี้
ชื่อว่ากล่าวชอบ แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งหมายกล่าว.


ว. ท่านพระโคดมเป็นคนกล่าวความขาดสูญ.


ภ. พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนกล่าวความขาดสูญ ดังนี้
ชื่อว่ากล่าวชอบนั้น มีอยู่ เพราะเรากล่าวความขาดสูญแห่งราคะ โทสะ โมหะ

เรากล่าวความขาดสูญแห่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง
นี้แลเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนกล่าวความขาดสูญ ดังนี้
ชื่อว่ากล่าวชอบ แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งหมายกล่าว.


ว. ท่านพระโคดมเป็นคนช่างเกลียด.


ภ. พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนช่างเกลียด ดังนี้
ชื่อว่ากล่าวชอบนั้น มีอยู่ เพราะเรากล่าวการเกลียดกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต

เรากล่าวการเกลียดความถึงพร้อมแห่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง
นี้แลเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนช่างเกลียด ดังนี้
ชื่อว่ากล่าวชอบ แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งหมายกล่าว.


ว. ท่านพระโคดมเป็นคนกำจัด.


ภ. พราหมณ์. เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนกำจัด ดังนี้
ชื่อว่ากล่าวชอบนั้น มีอยู่ เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะ

เราแสดงธรรมเพื่อกำจัดธรรมที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง
นี้แลเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนกำจัด ดังนี้
ชื่อว่ากล่าวชอบ แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งหมายกล่าว.


ว. ท่านพระโคดมเป็นคนเผาผลาญ.


ภ. พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนเผาผลาญ ดังนี้
ชื่อว่ากล่าวชอบนั้น มีอยู่ เพราะเรากล่าวธรรมที่เป็นอกุศล

คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่าเป็นธรรมควรเผาผลาญ
ธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งควรเผาผลาญ อันผู้ใดละได้แล้ว
ตัดรากขาดแล้ว ทำไห้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน
ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นคนเผาผลาญ
พราหมณ์ ธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศลซึ่งเผาผลาญ
ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน
ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา
นี้แลเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนเผาผลาญ ดังนี้
ชื่อว่ากล่าวชอบ แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งหมายกล่าว.


ว. ท่านพระโคดมเป็นคนไม่ผุดเกิด.


ภ. พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนไม่ผุดเกิด ดังนี้
ชื่อว่ากล่าวชอบนั้น มีอยู่ เพราะการนอนในครรภ์ การเกิดภพใหม่

อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน
ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นคนไม่ผุดเกิด
พราหมณ์ การนอนในครรภ์ การเกิดในภพใหม่ ตถาคตละได้แล้ว
ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน
ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา
นี้แลเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนไม่ผุดเกิด ดังนี้
ชื่อว่ากล่าวชอบ แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งหมายกล่าว


พราหมณ์ เปรียบเหมือนฟองไก่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง
ฟองไก่เหล่านั้น แม่ไก่กกดีแล้ว อบดีแล้ว ฟักดีแล้ว
บรรดาลูกไก่เหล่านั้น ลูกไก่ตัวใดทำลายกระเปาะฟอง
ด้วยเล็บเท้าหรือด้วยจะงอยปากออกมาได้โดยสวัสดีก่อนกว่าเขา
ลูกไก่ตัวนั้นควรเรียกว่ากระไร จะเรียกว่าพี่หรือน้อง.


ว. ท่านพระโคดม ควรเรียกว่าพี่ เพราะมันแก่กว่าเขา.


ภ. พราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันแล บรรดาหมู่สัตว์ผู้ตกอยู่ในอำนาจอวิชชา
เกิดในฟอง อันกระเปาะฟองหุ้มห่อแล้ว

เราผู้เดียวเท่านั้นในโลกได้ทำลายกระเปาะฟอง คือ อวิชชา
แล้วได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
เราแลเป็นผู้เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุดของโลก
เพราะว่าเราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ดำรงสติมั่นไม่ฟั่นเฟือน
กายสงบไม่กระสับกระส่าย จิตดำรงมั่นเป็นเอกัคคตา
เรานั้นแล สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เราบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะวิตกวิจารสงบ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
เรามีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ เสวยสุขด้วยนามกาย
เพราะปีติคลายไป บรรลุตติฌานที่พระอริยทั้งหลายสรรเสริญว่า
ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกเขา มีสติ อยู่เป็นสุข
เราบรรลุจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข
เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับสนิทในก่อน
อันมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว
ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น
ไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว จึงโน้มน้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ
เรานั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง
สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง
ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง
ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง
ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง
ว่าในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น
มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น
ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น
มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น
เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น
ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เราย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก
พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้


พราหมณ์ วิชชาที่ ๑ นี้แล เราได้บรรลุแล้วในปฐมยามแห่งราตรี
อวิชชาเรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว
แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท
มีความเพียรเผากิเลส มีจิตใจเด็ดเดี่ยวมั่นคงฉะนั้น
ความชำแรกออกครั้งที่ ๑ ของเรานี้แล
เป็นเหมือนการทำลายออกจากกระเปาะฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น.


เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว
จึงโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณเครื่องรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย
เรานั้นย่อมเล็งหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต
มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก
ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์
ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า
สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ
สัตว์เหล่านั้น เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต
ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ
สัตว์เหล่านั้น เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
เราย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต
มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก
ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์
ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ซึ่งเป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้


พราหมณ์ วิชชาที่ ๒ นี้แล เราได้บรรลุแล้วในมัชฌิมยามแห่งราตรี
อวิชชาเรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว
แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท
มีความเพียรเผากิเลส มีจิตใจเด็ดเดี่ยวมั่นคงฉะนั้น
ความชำแรกออกครั้งที่ ๒ ของเรานี้แล
เป็นเหมือนการทำลายออกจากกระเปาะฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น.


เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว

จึงโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เรานั้นรู้ชัดตามเป็นจริงว่า
นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ
นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเรารู้เห็นอย่างนี้
จิตหลุดพ้นแล้วแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว จึงเกิดญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว
และรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี


พราหมณ์ วิชชาที่ ๓ นี้แล เราได้บรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี
อวิชชาเรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว
แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท
มีความเพียรเผากิเลส ส่งจิตใจเด็ดเดี่ยวมั่นคงฉะนั้น
ความชำแรกออกครั้งที่ ๓ ของเรานี้แล
เป็นเหมือนการทำลายออกจากกระเปาะฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น.


เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว เวรัญชพราหมณ์ได้กราบทูลว่า
ท่านพระโคดมเป็นผู้เจริญที่สุด ท่านพระโคดมเป็นผู้ประเสริฐที่สุด
ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า
คนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงท่านพระโคดม
กับทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสก
ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.


เวรัญชสูตร จบ



(เวรัญชสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๗)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP