จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ปัญหาเรื่องเสียงดัง


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



264 destination



ปัญหาเรื่องเสียงดังจากข้างบ้านหรือบ้านใกล้เรือนเคียง
เป็นปัญหาที่เราประสบได้เป็นธรรมดานะครับ

ไม่ว่าเราจะอยู่บ้านเดี่ยว ห้องแถว อพาร์ทเม้นท์ หรือคอนโดมิเนียมก็ตาม
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีญาติธรรมสูงอายุท่านหนึ่ง
มาเล่าให้ผมฟังว่าข้างบ้านเขาเลี้ยงสุนัขและไก่
โดยตอนหัวค่ำก็จะมีเสียงสุนัขเห่า
และตอนเช้าตรู่ (ประมาณตีสี่) ก็จะมีเสียงไก่ขัน
ทำให้ญาติธรรมสูงอายุท่านนี้เดือดร้อน


ในคราวนี้ เราก็มาสนทนากันในปัญหาเรื่องเสียงดังครับ
โดยในเวลาที่เราประสบปัญหาเสียงดังจากบ้านใกล้เรือนเคียงนั้น
เราควรพิจารณาผลกระทบให้เข้าใจก่อนว่า
ผลกระทบที่มีต่อตัวเรานั้นเป็นอย่างไร?
กล่าวคือ เสียงดังนั้นส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต
หน้าที่การงาน หรือสุขภาพของเราหรือไม่
หรือเพียงแค่ส่งผลกระทบต่อจิตใจเราเท่านั้น
โดยเราควรจะพิจารณาประเด็นนี้ก่อน
เพื่อที่เราจะหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้เหมาะสม


ยกตัวอย่างเช่น กรณีญาติธรรมสูงอายุท่านที่ได้เล่ามาข้างต้นว่า
ข้างบ้านเขาได้เลี้ยงสุนัขและไก่ โดยตอนหัวค่ำก็จะมีเสียงสุนัขเห่า
และตอนเช้าตรู่ (ประมาณตีสี่) ก็จะมีเสียงไก่ขัน
ปัญหาเสียงนี้ดังไม่ได้กระทบต่อการดำรงชีวิต
หน้าที่การงาน หรือสุขภาพของเขาเลยนะครับ
เพราะว่าญาติธรรมสูงอายุท่านนี้เกษียณอายุแล้ว
ไม่ได้ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพอะไร
ในช่วงตอนค่ำที่มีเสียงสุนัขเห่า ญาติธรรมท่านนี้ก็ยังไม่นอน
โดยเป็นเวลาที่เขายังนั่งชมโทรทัศน์อยู่
และในช่วงเช้าตรู่ที่มีเสียงไก่ขัน ญาติธรรมท่านนี้ก็ตื่นอยู่แล้ว
ดังนั้น เสียงของสุนัขหรือไก่ไม่ได้ทำให้เขาเดือดร้อนในการดำรงชีวิต
หน้าที่การงาน หรือสุขภาพของเขาเลย
แต่ส่งผลกระทบทางจิตใจโดยทำให้เขารู้สึกรำคาญใจเท่านั้น
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงไม่ได้จำเป็นต้องจัดการหรือป้องกันเสียงดังก็ได้


ในทางกลับกัน หากเสียงดังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต
หน้าที่การงาน หรือสุขภาพของเราแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น ปกติเราจะเลิกงานและกลับบ้านดึก
และเราต้องตื่นและออกไปทำงานเวลาสาย เพื่อพักผ่อนให้เพียงพอ
แต่เราเจอเสียงไก่ขันปลุกให้ตื่น หรือทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ
หรือเราเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาต้องอ่านหนังสือตอนหัวค่ำ
แล้วเราเจอเสียงสุนัขเห่ารบกวน ทำให้อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง
หรือว่าเรานำงานที่ทำงานกลับมาทำที่บ้านตอนหัวค่ำ
แล้วเราเจอเสียงสุนัขเห่ารบกวน ทำให้ทำงานไม่ได้
ซึ่งหากเสียงดังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต
หน้าที่การงาน หรือสุขภาพของเราเช่นนี้แล้ว
การแก้ไขปัญหาย่อมจำเป็นต้องจัดการหรือป้องกันเสียงดังนั้นด้วย


ในการแก้ไขปัญหาโดยวิธีการจัดการหรือป้องกันเสียงดังนั้น
เราอาจพิจารณาแนวทางจัดการหรือป้องกันเสียงดัง ดังนี้



๑. ขอร้องเพื่อนบ้านอย่างฉันท์มิตร
ในการใช้วิธีการนี้ เราจะต้องมีความเป็นมิตรกับเพื่อนบ้านเสียก่อน

จึงจะสามารถใช้วิธีการนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถ้าหากเรายังไม่ได้เป็นมิตรกับเพื่อนบ้านแล้ว
เราก็ต้องสร้างความเป็นมิตรขึ้นมาก่อน
เมื่อมีความเป็นมิตรที่ดีต่อกันแล้ว
เมื่อเราขอร้องเขาว่าเราเดือดร้อนและขอให้เขาช่วยเหลือ
โอกาสที่เขาจะช่วยแก้ไขปัญหาหรือช่วยลดผลกระทบก็ย่อมมีมากขึ้น


๒. ขอให้คนอื่นที่สามารถเจรจากับเพื่อนบ้านได้เป็นคนไปเจรจา
ในบางกรณี เราไม่อยู่ในสถานะที่จะสามารถไปเจรจากับเพื่อนบ้านได้

หรือเห็นว่าหากเราไปเจรจาเองน่าจะไม่สำเร็จ
หรือจะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลายและทะเลาะกันมากขึ้น
แต่ว่ามีคนอื่นที่สามารถเจรจาได้แล้ว ก็ควรจะให้คนอื่นนั้นไปเจรจา
เช่น หากเราอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรที่มีนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรดูแล
หรือเราอยู่ในคอนโดมิเนียมที่มีนิติบุคคลอาคารชุดดูแล
เราก็อาจจะขอให้เจ้าหน้าที่ของนิติบุคคลนั้น ๆ ไปเจรจา
ทั้งนี้ ในการที่จะขอให้เจ้าหน้าที่ของนิติบุคคลนั้นไปเจรจา
ไม่ได้จำเป็นว่าเราจะต้องเป็นผู้ร้องเรียนคนเดียว
แต่เราอาจจะไปหารือกับเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน
แล้วก็ร่วมกันร้องเรียนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของนิติบุคคลนั้นไปเจรจาก็ได้


๓. ตักเตือนหรือดำเนินการทางกฎหมาย
ในกรณีที่ไม่สามารถเจรจากันอย่างฉันท์มิตรได้
เราอาจจะตักเตือนว่าจะดำเนินการทางกฎหมาย
หรือเราอาจต้องดำเนินการทางกฎหมายเสียเลย
โดยการไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้มาดำเนินคดี
ซึ่งก็อาจจะทำให้เพื่อนบ้านเกรงใจมากขึ้นหรือช่วยลดปัญหาได้
แต่กรณีนี้ ก็พึงระวังว่าอาจจะทำให้ปัญหายิ่งบานปลาย
และยิ่งทะเลาะกันรุนแรงกับเพื่อนบ้านก็ได้
หรืออาจจะทำให้เพื่อนบ้านมาสร้างปัญหาอื่น ๆ
มากกว่าเพียงแค่เรื่องเสียงดังก็ได้ หรือหาเรื่องเราในเรื่องอื่น ๆ ก็ได้


๔. เปลี่ยนหรือย้ายห้องพัก
ในกรณีที่ไม่สามารถเจรจาได้ และดำเนินการทางกฎหมายไม่ได้

เราอาจจะพิจารณาย้ายห้องพักของเรา
เช่น หากเราอยู่ในห้องเช่าในอพาร์ทเมนท์
เราก็อาจจะขอเปลี่ยนหรือย้ายห้องเช่าไปห้องอื่นที่ว่าง (ถ้ามี)
หรือหากเราอยู่ในบ้านเดี่ยวที่มีหลายห้อง
เราอาจจะแลกห้องกับคนอื่นในบ้านที่เขาสามารถรับเสียงได้มากกว่าเรา
หรือมีตารางเวลาการดำรงชีวิตที่จะรับเสียงนั้นได้มากกว่าเรา


๕. ปรับตารางเวลาการดำรงชีวิต
ถ้าเจรจาไม่ได้ ดำเนินการทางกฎหมายไม่ได้
และไม่สามารถย้ายหรือเปลี่ยนห้องพักได้
เราควรพิจารณาว่าจะสามารถปรับตารางเวลาการดำรงชีวิตได้หรือไม่
โดยเราปรับตารางเวลาเพื่อนำกิจกรรมที่สามารถรับเสียงนั้นได้มาทำ
ในช่วงเวลาที่มีเสียงดัง ยกตัวอย่างเช่น ช่วงเวลาไหนที่มีเสียงดัง
เราก็ใช้ช่วงเวลานั้นเพื่อทำกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้สมาธิมาก
เช่น ซักผ้า ล้างจาน ทำความสะอาดบ้าน ทำอาหาร ทำครัว
หรือหากมีเสียงดังในเวลาเช้าตรู่ เราก็ปรับเวลาให้เข้านอนเร็วขึ้น
และตื่นนอนเร็วขึ้น เป็นต้น


๖. ป้องกันเสียงดัง
ถ้าพิจารณาหลายวิธีการที่กล่าวข้างต้นแล้ว ก็ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้

เราอาจพิจารณาหาวิธีป้องกันเสียงดังในห้องพักของเรา
ซึ่งพึงทราบว่า วิธีการนี้ย่อมจะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายขึ้นนะครับ
เราจึงต้องพิจารณาเรื่องของค่าใช้จ่ายด้วยว่าสูงเกินไปหรือไม่
โดยวิธีการป้องกันเสียงนั้น ย่อมทำได้หลายวิธี
เช่น เราอาจจะหาหูฟังที่ป้องกันหรือลดเสียงดังมาใช้
หรือใช้วิธีการปิดหน้าต่างแล้วเปิดแอร์ เพื่อลดเสียงดัง
หรือใช้วัสดุกันเสียงในห้องที่เราจำเป็นต้องป้องกันเสียงดัง เป็นต้น


อนึ่ง ในวิธีการนี้ เราพึงต้องระวังด้วยว่า หากเราป้องกันเสียงดังไว้แล้ว
แล้วหากมีเหตุภัยอันตรายใด ๆ ภายนอกแล้ว เราอาจจะไม่ได้ยินเสียงเรียกก็ได้

หรือหากเราติดตั้งวัสดุกันเสียงแล้ว วัสดุดังกล่าวเป็นวัสดุที่ติดไฟง่ายหรือไม่
ดังนั้น เราต้องพิจารณาเรื่องของความปลอดภัยกรณีเกิดเหตุอันตรายด้วย


๗. ย้ายบ้าน
ถ้าพิจารณาหลายวิธีการที่กล่าวข้างต้นแล้ว ก็ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้

มาตรการสุดท้ายที่เราอาจพิจารณานำมาใช้ คือการย้ายบ้าน
แต่วิธีการนี้ย่อมไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน
โดยน่าจะนำมาใช้ได้กับท่านที่อยู่หอพัก ห้องเช้า หรือบ้านเช่า
ซึ่งย่อมสามารถจะย้ายไปเช่าที่ใหม่ได้ โดยค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก
แต่หากเป็นบ้านหรือห้องคอนโดมิเนียมที่เราเป็นเจ้าของแล้ว
ย่อมจะไม่สามารถย้ายได้โดยง่าย เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป
นอกจากนี้ กรณีก็ไม่แน่ว่าย้ายไปแล้ว จะไม่ไปประสบปัญหาในที่ใหม่
ทำนองเดียวกับหนีเสือปะจระเข้ หรือหนีเสือปะเสือสองตัว


ในกรณีที่เราพิจารณาแล้ว เห็นว่าเสียงดังนั้นไม่ได้ทำให้เดือดร้อน
ในการดำรงชีวิต หน้าที่การงาน หรือสุขภาพของเรา
แต่ส่งผลกระทบทางจิตใจทำให้รู้สึกรำคาญใจเท่านั้นแล้ว
ในการแก้ไขปัญหานั้น เราอาจจะใช้วิธีการแก้ไขปัญหาที่เสียงดัง
วิธีการใดวิธีการหนึ่งที่ได้แนะนำไปข้างต้นแล้วก็ได้
หรือเราจะไม่ไปจัดการหรือป้องกันเสียงดังก็ได้
โดยเราเลือกมาแก้ไขปัญหาที่ใจเราเอง
เพราะในกรณีนี้ ตัวที่ทำให้เราทุกข์ใจไม่ใช่เสียงดัง
แต่คือความอยากให้เสียงดังหายไป หรือความไม่พอใจต่อเสียงดังนั้น
ซึ่งเราก็สามารถพิจารณาทำได้หลายวิธี เช่น


๑. ทำใจยอมรับสภาพปัญหา โดยอาจพิจารณาว่า
เป็นผลแห่งกรรมเก่าของเราเองที่ทำให้เราต้องมาประสบสภาพเช่นนี้
ซึ่งในอดีตนั้น เราเองก็น่าจะเคยทำให้คนอื่นเขาเดือดร้อนทำนองนี้เช่นกัน
โดยเมื่อมองปัญหาในแง่นี้แล้ว ก็อาจทำให้เรายอมรับสภาพปัญหาได้ดีขึ้น


๒. เจริญเมตตา และแผ่เมตตาให้แก่บุคคลที่ก่อเสียงดังนั้น
ซึ่งเมื่อจิตใจเรามีเมตตาไม่ไปโกรธบุคคลที่ก่อเสียงดังนั้นแล้ว
เราก็ย่อมจะทุกข์ใจน้อยลง และมีความสุขมากขึ้น


๓. ทำสมถะ หรือทำจิตใจให้สงบ
โดยเมื่อใดที่ได้ยินเสียงดัง และมีความไม่พอใจหรือความอยากเกิดขึ้น
เราก็สามารถฝึกทำใจให้สงบ
โดยจะใช้กรรมฐานสมถะในรูปแบบใดก็ได้ที่เราถนัด
ความอยากให้เสียงดังหายไป หรือความไม่พอใจต่อเสียงดัง
ก็ย่อมจะครอบงำใจเราไม่ได้ และเราย่อมจะทุกข์ใจน้อยลง


๔. เจริญวิปัสสนา
เมื่อใดที่ได้ยินเสียงดัง และมีความไม่พอใจหรือความอยากเกิดขึ้น
เราย่อมสามารถฝึกเจริญวิปัสสนา
โดยมีสติระลึกรู้ในความไม่พอใจหรือความอยาก
และเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของความไม่พอใจหรือความอยากนั้น


โดยสรุปแล้ว เมื่อเราได้ประสบปัญหาเสียงดังจากบ้านใกล้เรือนเคียงแล้ว
เราควรพิจารณาผลกระทบให้เข้าใจก่อนว่า
ผลกระทบที่มีต่อตัวเรานั้นเป็นอย่างไร
เพื่อที่เราจะได้พิจารณาเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมได้ครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP